ไม่พบผลการค้นหา
ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เผยเอกสารคดียุบ 'ก้าวไกล' ถึงมือศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ส่วนยุบ 'เพื่อไทย-ภูมิใจไทย' เป็นไปตามกระบวนการ ยืนยันไม่ได้ช่วยเหลือพรรคใดพรรคหนึ่ง มอง 'ทักษิณ' เข้าเพื่อไทยไม่ครอบงำพรรค ชี้ 'ครอบครัว-ครอบงำ' ค.ควายเหมือนกันแต่ไม่ใกล้เคียงกัน

วันที่ 27 มี.ค. อิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกรณีที่ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางเข้าพรรคเพื่อไทยเพื่อพบปะกับ สส. ในระหว่างได้รับการพักโทษ ซึ่งสังคมมองว่า อาจเป็นการครอบงำพรรคการเมือง และรัฐบาล 

โดย อิทธิพร กล่าวว่า กกต.ได้ติดตามอยู่ตลอด เพราะมีหน้าที่ดูว่าพรรคการเมืองพรรคใดยินยอมให้บุคคลใดครอบงำหรือไม่ และดูว่า บุคคลใดครอบงำพรรคการเมืองหรือไม่ เพราะพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง ม.28 และม.29 ห้ามพรรคการเมืองยินยอมให้ผู้ใดมาจูงใจหรือครอบงำ การกระทำใดๆ ที่เข้าข่ายฝ่าฝืนทั้งสองมาตรา เป็นเรื่องที่ กกต. สามารถดำเนินการได้ 

อิทธิพร มองว่า การปรากฏตัวของ ทักษิณ ที่พรรคเพื่อไทย ถือว่า ไม่เป็นการครอบงำพรรค หากมีข้อเท็จจริงที่ชัดเจนว่าเป็นการครอบงำจะถึงเวลาที่ กกต.ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ย้ำว่า จะต้องดูข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ข้อสันนิษฐานเอามาพิจารณาไม่ได้ ทั้งนี้เมื่อเกิดความเคลื่อนไหวทางการเมือง กกต.จะติดตามเรื่อง และรวบรวมข้อเท็จจริง 

หากมีประเด็นเพียงพอจะเสนอให้เลขาธิการ กกต. ในฐานะนายทะเบียนพิจารณาว่า สมควรตั้งคณะกรรมการรวบรวมข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานหรือไม่ หากสมควรก็จะตั้งคณะกรรมการขึ้น และสืบพยานหลักฐานให้ครบถ้วน ก่อนที่จะพิจารณาว่า ฝ่าฝืนกฎหมายหรือไม่

ส่วนกรณีที่หลังจากนี้ ทักษิณ จะเดินสายไปพบปะพี่น้องประชาชนในต่างจังหวัดนั้น สามารถทำได้หรือไม่ อิทธิพร ชี้แจงว่า การกระทำใดที่ไม่เข้าข่ายครอบงำก็ไม่สามารถห้ามได้ การครอบงำต้องมีข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ของผู้ครอบงำ ไม่สามารถตัดสินข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่เฉย ๆ 

ทั้งนี้ เมื่อถามว่า สามารถมองเป็นเรื่องครอบครัวได้หรือไม่ อิทธิพร กล่าวว่า ครอบครัว กับครอบงำ ไม่ใกล้เคียงกัน พร้อมกับหัวเราะ และกล่าวต่อว่า “ค.ควายเหมือนกันแต่ไม่ใกล้กัน” 


เอกสารคดียุบ ‘ก้าวไกล‘ ถึงมือศาลรัฐธรรมนูญแล้ว

อิทธิพร กล่าวถึงการส่งเอกสารเพิ่มเติมในคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคก้าวไกลว่า ได้ส่งเอกสารไปเมื่อวันที่ 25 มี.ค. ที่ผ่านมาแล้ว โดยเป็นเอกสารประกอบฉบับหนึ่งที่อยู่ในคำร้องของเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ซึ่งมีความไม่ชัดเจนอ่านลำบาก ศาลรัฐธรรมนูญจึงขอให้ กกต. ไปขอรับสำเนาเอกสารที่ชัดเจนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำส่งให้เรียบร้อย 

ขณะที่เรื่องการยุบพรรคเพื่อไทย และพรรคภูมิใจไทยนั้น อยู่ระหว่างขั้นตอนการดำเนินการของนายทะเบียนตาม ม.93 ซึ่วเป็นการรวบรวมข้อเท็จจริง จึงต้องดูข้อเท็จจริง และรวบรวมพยานหลักฐานให้เยอะที่สุดเพื่อเสนอให้นายทะเบียนพิจารณาว่า สมควรเสนอให้ กกต. พิจารณาหรือไม่ 

โดยมีกรอบระยะเวลาในการพิจารณาตามระเบียบ 30 วันแต่ขอขยายได้ เพราะเกี่ยวข้องกับกลุ่มบุคคล จึงจำเป็นต้องขอเอกสารจากหน่วยงาน และขอความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นเรื่องที่ต้องใช้ระยะเวลา 

ส่วนที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า คำร้องของพรรคภูมิใจไทยนั้นล่าช้ากว่าของพรรคก้าวไกล อิทธิพร ระบุว่าเป็นคนละกรณีกัน พรรคภูมิใจไทยเป็นเรื่องเงิน พรรคก้าวไกลก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง การให้อำนาจหน้าที่ของ กกต. เป็นคนละมาตรากัน พรรคภูมิใจไทยเป็นการยื่นคำร้องตาม ม.93 เป็นกระบวนการที่ต้องผ่านการพิจารณาของนายทะเบียน 

ส่วนพรรคก้าวไกลใช้ ม.92 ที่ระบุว่า เมื่อ กกต. เห็นว่า มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ ให้ กกต. ส่งศาลรัฐธรรมนูญ กระบวนการพิจารณาเลยไม่ช้า ยืนยันว่า ทำตามกระบวนการไม่ได้ช่วยเหลือพรรคใดพรรคหนึ่ง หากดูตามระเบียบ กกต. ก็ทำตามกระบวนการทั้งนั้น ไม่ได้เร่งเรื่องใด