วันที่ 26 ก.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงนโยบายกัญชาเพื่อการแพทย์ว่า ตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศนโยบาย Quick Win คือภาพรวมของเศรษฐกิจสุขภาพ หมายถึงการนำสุขภาพไปสร้างเศรษฐกิจ ซึ่งมันมีหลายองค์ประกอบทาง Medical Hub และกัญชาอาจจะอยู่ในเรื่องของ Service Hub และ Wellness Hub คือเรื่องการให้บริการทางการแพทย์
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ได้มีการตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาเรื่องกัญชาในมิติที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงสาธารณสุข เรารับนโยบายกัญชาเพื่อการแพทย์และสุขภาพ มาจากนายกรัฐมนตรี ดังนั้นเราจะจัดทำกฎหมายให้เร็วที่สุด ซึ่งต้องมีการปรึกษาหารือกับพรรคภูมิใจไทย เพราะเราเป็นรัฐบาลร่วมกัน ส่วนการอนุญาตให้ปลูกกัญชาได้ 15 ต้นนั้น มันอยู่ในกฎหมายเดิม จึงต้องมีการพิจารณาว่า การปลูกเพื่อการแพทย์ต้องปลูกอย่างไรเพื่อให้ได้มาตรฐาน
นพ.ชลน่าน เน้นย้ำเรื่องกัญชาทางการแพทย์ต้องดูแลควบคุมอย่างไร เพื่อไม่ให้กระทบสุขภาพ โดยกัญชามันมีสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท นับว่าเป็นยาเสพติดประเภทหนึ่ง แต่กฎหมายใหม่กำหนดว่า ต้องเป็นสารสกัดกัญชาที่มีค่า THC มากกว่า 0.2 ขึ้นไปถึงจะเป็นสารเสพติด ดังนั้นต้องไปดูบทบัญญัติว่า จะมีการควบคุมให้กัญชาอยู่ในการแพทย์อย่างไร
ส่วนจะทำให้ร้านกัญชาที่เปิดกันอย่างเสรีตอนนี้ต้องยุติกิจการหรือไม่นั้น นพ.ชลน่าน ให้ความเห็นว่า มันมี 2 มิติที่ต้องดู ถ้ากิจการที่เขาทำไม่กระทบต่อสุขภาพ หรือไม่มีผลต่อสภาวะสุขภาพโดยรวม และมิติสุขภาพทางสังคม ก็ควรที่จะมีกฎหมายเข้าไปควบคุม
โดยจะมีการปูพรมตรวจค้นหรือไม่ มันอยู่ที่ตัวกฎหมายว่าให้อำนาจไว้อย่างไร อย่าไปคิดว่า เป็นการปูพรม หรือไม่ปูพรม เพราะเราต้องทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับทุกฝ่าย และต้องได้ประโยชน์ในพื้นฐานที่ไม่ทำลายสุขภาพ และไม่กระทบกับทุกคนในสังคม
นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า การพิจารณากฎหมายกัญชาสามารถทำควบคู่กันได้ทั้ง พ.ร.บ. และประกาศกระทรวง แต่ พ.ร.บ.นั้นต้องยกร่างผ่านสภาฯ แต่ประกาศกระทรวงจะอ้างอิงตามกฎหมายยาเสพติดที่ให้อำนาจไว้ ภายใต้การเห็นชอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.)
อีกทั้งกระทรวงสาธารณสุขต้องเห็นพ้องต้องกันว่า อะไรจะเป็นยาเสพติดสำหรับออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ไม่ใช่แค่กัญชาเพียงอย่างเดียว ซึ่งยังไม่ได้มีการคุยว่า จะคืนส่วนไหนเป็นยาเสพติด โดยจะนัดหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือ เพื่อที่จะประกาศไปแล้วไม่กระทบ หรือทำให้คนสูญเสียโอกาส แต่ยืนยันว่า ตนยึดหลักเพื่อการแพทย์เป็นหลัก
ส่วนการใช้กัญชาผ่านการสูบจะทำให้เกิดอันตรายหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า สารเสพติดเมื่อเข้าสู่ร่างกายมากกว่ากำหนด ยกตัวอย่าง บุหรี่ ที่อนุญาตให้จำหน่ายได้ แม้จะเป็นสารเสพติด แต่ก็มีการกำหนดไว้ว่า ปริมาณสารในบุหรี่ต้องจำนวนเท่าไหร่ถึงจะไม่กระทบต่อสุขภาพ
ทั้งนี้ นพ.ชลน่าน ย้ำว่า การปรับปรุงกฎหมายกัญชาทั้ง พ.ร.บ.กัญชาฯ และประกาศกระทรวง ไม่ได้อยู่ในนโยบาย Quick Win เพราะทำไม่ได้ ต้องใช้เวลา เนื่องจากนโยบาย Quick Win เป็นแผนเร่งรัดปฏิบัติการให้บรรลุผลสำเร็จ
เช่น การฉีดมะเร็งปากมดลูก 1 ล้านโดส ใน 100 วัน เราทำได้ แต่เรื่องกัญชามีเรื่องต้องพิจารณาเยอะในส่วนของผลกระทบที่เกิดขึ้น เพราะหากประกาศไปบนพื้นฐานที่ไม่รอบคอบ มันจะส่งผลเสียมากกว่าผลดี