ไม่พบผลการค้นหา
'จาตุรนต์' ย้ำกฎหมาย-เจตนารมณ์ กรธ.ชี้ชัด 'ประยุทธ์' หลุดเก้าอี้นายกฯแล้ว เตือนยิ่งเป็นยิ่งเสียหาย แนะผู้มีอำนาจ-พรรคร่วมดันต่อเท่ากับฆ่าตัวตาย - ลั่น 3ป.คือต้นเหตุปัญหา

วันที่ 15 ก.ย. จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี แกนนำพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์กับ 'วอยซ์' ประเมินถึงโอกาสการกลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รวมถึงเส้นทางการเมือง 3ป.และทางออกของประเทศ ว่าหากพิจารณาตามหลักกฎหมายต้องพ้นไปตั้งแต่ 24 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งฝ่ายที่บอกให้นับตั้งแต่เป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ (รธน.) ฉบับนี้นั้นถ้าพิจารณาจากมาตรา 264 ที่ระบุไว้ว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เป็นอยู่ก่อน ให้เป็น ครม.ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ตรงนี้จึงเป็นจุดที่เถียงไม่ได้ เพราะเป็น ครม.มาตั้งแต่ปี 57 ดังนั้นนายกรัฐมนตรีก็ต้องนับตั้งแต่ปี 57 

ประกอบกับหากไปดูกับเจตนารมณ์ของผู้ร่าง รธน. ก็มีบันทึกรายงานการประชุมที่รับรองโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญก็มีการรับรองมาแล้ว ก็ถือว่าเจตนารมณ์ของผู้ร่างต้องการให้อายุการเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ มาตั้งแต่ปี 57 ส่วนการอ้างกฤษฎีกานั้นให้ฟังไม่ขึ้น เพราะกฤษฎีกาเป็นที่ปรึกษาของ ครม.ซึ่งเป็นฝ่ายบริหาร และอาจจะมีส่วนได้เสียกับการร่าง รธน. แต่กลับไม่ยอมรับบันทึกการประชุมที่มีการรับรองแล้วก็ไม่น่าเชื่อถือ พร้อมย้ำว่าต้องนับตั้งแต่ปี 57 แต่ถึงอย่างไรเรื่องนี้เป็นข้อกฎหมายซึ่งศาล รธน.จะวินิจฉัยออกมาอย่างไรก็ยังไม่ทราบ 

จาตุรนต์ ระบุอีกว่า ไม่ว่าคำสั่งศาลจะออกมาอย่างไร ปัญหาการเมืองเลยขั้นนั้นไปแล้ว เพราะความรู้สึกของประชาชน พล.อ.ประยุทธ์ หมดความชอบธรรมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี และจะไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย และจะทำงานไปโดยที่ไม่มีทางได้ผลสำเร็จใดๆ ความเสียหายต่างๆก็จะมากขึ้น ฉะนั้น 

"คำวินิจฉัยจะออกมาอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปไม่ได้ ยิ่งเป็นจะยิ่งเสียหาย"

ส่วนเอกสารคำชี้แจงที่อ้าง พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ หลัง รธน.ปี 60 ประกาศใช้นั้น จาตุรนต์ ระบุว่า เอกสารที่หลุดออกมาก็จบตรงรายงานการประชุมที่มีการรับรองแล้ว ซึ่งแสดงถึงเจตนารมณ์ของผู้ร่างฯเองว่าในปี 57 และหลายฝ่ายก็เห็นไปในทางเดียวกันคือปี 57 "ยิ่งเป็นนายกฯต่อ ก็ยิ่งเสียหาย"


ประชาชนอยากเปลี่ยนรัฐบาล

จาตุรนต์ กล่าวอีกว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์ พ้นไป มันก็เป็นการเมืองอีกแบบมา คือต้องหานายกรัฐมนตรีกันใหม่ ซึ่งจะเป็นช่วงเวลาไม่นาน ก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง แต่เรื่องที่สำคัญตอนนี้ คือผู้ที่มีอำนาจที่เคยร่วมกับ พล.อ.ประยุทธ์ จะต้องคิดว่าจะจัดการและรักษาอำนาจของตัวเองอย่างไร เมื่อขาด พล.อ.ประยุทธ์ ทันทีหลังอ่านคำวินิจฉัยหรือเมื่อเดินเข้าสู่การเลือกตั้งก็ตาม ผู้ที่มีอำนาจทั้งหลายต้องคิดเพื่อเป็นโจทย์ใหญ่ เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้ที่รวมเครือข่ายต่างๆมาตั้งแต่สมัยเป็น ผบ.ทบ. จึงมีฐานทางทหาร องค์กรอิสระ และ ส.ว. เพื่อครองอำนาจต่อไป ซึ่งเรื่องนี้ผู้มีอำนาจหลายจะต้องคิดและมันจะยากกว่าเดิม 

"ประชาชนอยากเปลี่ยนรัฐบาล อยากได้รัฐบาลที่ดีขึ้น อยากให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย จะต้องทำอะไรในขณะที่ผู้มีอำนาจทั้งหลายกำลังจะขาด พล.อ.ประยุทธ์ และกำลังจะเสื่อมความนิยมอ่อนแอลงกว่าที่ผ่านมา"

จาตุรนต์ กล่าวอีกว่า หากต้องการแก้กติกา แก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย ก็ถือว่าตลอด 8 ปีที่ผ่านมา ช่วงนี้และต่อไปมีความเป็นไปได้มากที่สุด

เมื่อถามว่า สถานการณ์ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ ได้อยู่ต่อนั้น จาตุรนต์ มั่นใจว่า พล.อ.ประยุทธ์ ข้ามการเลือกตั้งครั้งหน้าไปไม่ได้ และผู้มีอำนาจทั้งหลายหรือ หรือพรรคร่วมรัฐบาลเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นแคนดิเดตนายกฯต่อไปก็เท่ากับฆ่าตัวตาย เพราะพล.อ.ประยุทธ์ ล้มละลายไปแล้วในแง่ของความนิยม และหากเป็นนายกฯต่อไปบ้านเมืองเสียหายแน่นอน 

"การเป็น พล.อ.ประยุทธ์ หมายถึงประเทศไม่สามารถสร้างความน่าเชื่อถือกับนานาชาติ ไม่มีทางร่วมมือกับประเทศต่างๆได้ดี พล.อ.ประยุทธ์ จะทำให้คนไม่เชื่อว่าหลักนิติรัฐนิติธรรมกลับคืนมาสู่ประเทศนี้ และถ้า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ อยู่ จะไม่มีคนเชื่อว่า ประชาชนจะมีสิทธิเสรีภาพ และประเทศถูกแก้ปัญหาได้ด้วยคนที่มีประสบการณ์อย่างทันสมัยแต่จะใช้แนวความคิดสายความมั่นคงแบบเก่า ซึ่งหลายปัญหาที่ไม่มีทางแก้ ซึ่งประเทศจะเสียหายยับเยิน และจะทำให้เราเดินไปสู่หายนะของประเทศหนักยิ่งกว่า 8 ปีที่ผ่านมา"

พร้อมย้ำว่า ถ้าเครือข่าย 3ป. ยังอยู่ก็ยังแก้ปัญหาไม่ได้ ซึ่งรัฐบาลคราวหน้าไม่ควรจะเป็นรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจ แต่ควรเป็นรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยเปิดรับฝ่ายต่างๆ และสามารถร่วมมือกับประชาคมโลกและประเทศต่างๆให้มาร่วมมือแก้ปัญหาของประเทศได้ โดย ขั้นแรกต้องเปลี่ยนรัฐบาลก่อนเพื่อไม่ให้ 3ป.มามีอิทธิพล และต่อไปก็คือเปลี่ยนกติกาให้เป็นประชาธิปไตย 

"การแก้ปัญหาประเทศต้องไม่ให้ 3ป. มีอำนาจ ในประเทศนี้ต่อไป 3ป. คือต้นเหตุของปัญหาทั้งหลาย"