ไม่พบผลการค้นหา
‘พิธา’ ยื่นประกัน ‘ทานตะวัน’ กลุ่มทะลุวัง หวังได้ประกันตัวตามสิทธิ ด้าน ทนายเผยมีอาการหน้ามืดวันละหลายครั้ง เพราะอดอาหารต่อเนื่อง ลั่น ให้คดีนี้พิสูจน์ระบบยุติธรรมไทย

ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย ปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองฯ สภาผู้แทนราษฎร และทนายกฤษฎางค์ นุตจรัส เดินทางมายื่นขอประกันตัว ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ นักกิจกรรมกลุ่มทะลุวัง ผู้ต้องหาคดี ม.112 จากกรณีโพสต์เฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 5 มี.ค. ซึ่งขณะนี้ได้อดอาหารอยู่ภายในเรือนจำมาเป็นเวลา 27 วันแล้ว ตั้งแต่วันที่ 20 เม.ย. ที่ผ่านมา

พิธา กล่าวว่า นอกจากความกังวลในเรื่องสุขภาพของทานตะวันแล้ว วันนี้ยังมาเพื่อยืนยันหลักการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ในคดี ภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ( ICCPR) เป็นสิ่งที่รัฐไทยได้ให้สัตยาบันไว้ และบัญญัติเอาไว้ในรัฐธรรมนูญไทย มาตรา 29 (2) ว่าสิทธิในการประกันตัวเป็นสิทธิของพลเมืองด้วย

โดยจากการพูดคุยกับทนายความ ตามกฎหมายอาญา ม.108/1 ว่าด้วยการสั่งไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราว จะมีเหตุเฉพาะแต่ทานตะวันไม่เข้าข่ายความผิดใดๆทั้งหมดนี้ สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของมาตรา 112 เรื่องขอบเขตการบังคับใช้ที่กว้างเกินไป อัตราโทษที่สูงเกินไป รวมถึงการแจ้งความโดยบุคคลใดก็ได้โดยไม่มีหลักเกณฑ์ ซึ่ง กมธ.พัฒนาการเมือง ได้ทำการประชุมหารือร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและพนักงานอัยการถึงปัญหาการใช้กฎหมาย 112 แล้ว พร้อมกับตั้งอนุกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาและพิจารณาเรื่องดังกล่าวต่อไป 

พิธา กล่าวย้ำว่า การบังคับใช้กฎหมาย ม.112 ในลักษณะนี้ นอกจากจะไม่เป็นผลดีต่อผู้ต้องหาแล้วยังไม่เป็นผลดีต่อกระบวนการยุติธรรมไทย ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศ รวมถึงสถาบันฯ ด้วย โดยวันนี้ ตนคาดหวังว่า ทานตะวัน จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว แต่หากศาลไต่สวนคำร้องแล้วไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ก็ขอเรียกร้องไปยังสถาบันตุลาการว่าต้องยึดมั่นในหลักนิติรัฐนิติธรรมให้มาก ส่วนตัวขอยืนยันจะทำทุกอย่างให้ดีที่สุด

ด้านทนายกฤษฎางค์ เปิดเผยถึงสุขภาพของทานตะวันล่าสุดว่ามีอาการหน้ามืดวันละ 3-4 ครั้งเป็นผลจากการอดอาหารอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ทนายความคงไม่สามารถเปลี่ยนความคิดผู้ต้องหาในการใช้วิธีนี้ได้ แต่จะพยายามทำให้ศาลยึดมั่นในหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยในคดีเป็นผู้บริสุทธิ์ จึงไม่มีเหตุจะต้องนำเยาวชนอายุ 20 ปีไปคุมขังไว้เช่นนี้ คดีนี้จึงถือเป็นบทพิสูจน์ว่าระบบยุติธรรมไทยใช้ได้จริงหรือไม่ 

นอกจากนี้ ทานตะวัน เองก็ไม่ได้พูดคุยกับตนถึงการเรียกร้องสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราว เพราะคิดว่าคงไม่ได้รับความเป็นธรรม ทั้งๆที่ในคดีนี้ พนักงานอัยการยังไม่ได้สั่งฟ้องผู้ต้องหาในคดีแต่อย่างใด โดยในวันนี้ ขณะที่เราได้มายื่นขอประกันตัว จะมีการไต่สวนคำร้องขอฝากขังด้วย ซึ่งหากศาลไม่รับฝากขัง ก็ต้องปล่อยตัว ทานตะวัน โดยไม่มีเงื่อนไขอยู่แล้ว