ไม่พบผลการค้นหา
กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จับมือภาคีเครือข่ายจัดเสวนาหัวข้อ “สื่อข่าวเด็กอย่างไร? ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ละเมิดสิทธิ”

กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และ ภาคีเครือข่าย ร่วมจัดงานเสวนาภายใต้หัวข้อ “สื่อข่าวเด็กอย่างไร? ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ละเมิดสิทธิ” เนื่องจากเห็นว่า ในปัจจุบันสื่อมวลชนมีการนำเสนอข่าวในรูปแบบที่เข้าข่ายละเมิดสิทธิเด็กและเยาวชน มีการเปิดเผยใบหน้าและ สัมภาษณ์เด็กซึ่งตกเป็นผู้เสียหาย

นายอนุกูล ปีดแก้ว รองอธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน เปิดเผยว่า การกำกับดูแลเนื้อหาความเหมาะสม และ อายุขั้นต่ำของแหล่งข่าวที่ปรากฏในสื่อสังคมออนไลน์นั้น ยังเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ที่ผ่านมาได้จัดให้มีคณะอนุกรรมการส่งเสริมการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ โดยได้เสนอร่างยุทธศาสตร์ส่งเสริม และ ปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ พ.ศ. ‭2560 – 2564‬ ต่อคณะรัฐมนตรี จนมีมติเห็นชอบและบังคับใช้ ด้วยการให้สื่อตระหนักถึงความสำคัญของการกระทำรุนแรงระหว่างเด็กด้วยกันเอง และ เผยแพร่วิธีการแก้ไขปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน 

ตลอดจนมาตรการสร้างกลไกการติดตามสื่อเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ด้านการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ให้แก่ผู้ผลิตสื่อและประชาชนทั่วไป จึงขอฝากเรื่องการนำเสนอข่าวที่เกี่ยวกับเด็กและเยาวชนว่า จำเป็นต้องยึดหลักกฎหมายเป็นสำคัญ ไม่ละเลยต่อการปกป้องคุ้มครองเด็กตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก สูงสุด 3 รูปแบบ คือ การทารุณกรรมต่อจิตใจเด็ก การไม่คำนึงถึงประโยชน์ของเด็ก และการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็กที่ทำให้เสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียง สิทธิประโยชน์

ด้าน นพ.รณชัย คงสกนธ์ นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันข่าวสารได้ถูกเผยแพร่หลายช่องทาง มักจะมีการนำเสนอข่าวละเมิดสิทธิเด็กและเยาวชนอยู่บ่อยครั้ง อาทิ การสัมภาษณ์เหยื่อให้เล่าถึงเหตุการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้น การนำเสนอภาพผู้เสียหายที่เป็นเด็ก ซึ่งถือเป็นการทำร้ายจิตใจ และ ซ้ำเติมเด็กเป็นอย่างมาก ถึงแม้ว่าจะมีการปิดบังใบหน้า แต่คนใกล้ชิดก็ยังจำลักษณะท่าทาง และ เสียงพูดได้อยู่ดี 

ซึ่งพฤติการณ์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของเด็ก และ ทำให้เด็กมีปัญหาด้านการควบคุมอารมณ์ และ ร้ายแรงที่สุดคือ อาจเกิดการฆ่าตัวตายได้ จึงอยากให้สื่อมวลชนพิจารณาการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับเด็กที่ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรม ว่า ควรนำเสนอข่าวในลักษณะใดที่ไม่กระทบต่อเด็ก และ ไม่เป็นการทำร้ายจิตใจเด็ก เช่น ประเทศที่เจริญแล้ว จะใช้วิธีสร้างกราฟฟิกเป็นตัวการ์ตูนขึ้นมาแทนการนำเสนอภาพเด็กแบบตรง ๆ 

ขณะที่ นายเตชาติ์ มีชัย ผู้ประสานงานเครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน เปิดเผยว่า ปัจจุบันการรายงานข่าวเด็ก ทางเว็บไซต์ หรือ โซเชียลมีเดียของสื่อมวลชนหลายสำนัก มีการละเมิดสิทธิเด็ก ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งการนำเสนอข้อมูลของเด็ก หรือ ผู้ปกครอง ทำให้โอกาสกลับคืนสู่สังคมของเด็กลดน้อยลง เช่น เด็กที่มีคดีร้ายแรงอุกฉกรรจ์ต้องตกอยู่ในอันตราย แม้จะมีความพยายามปิดบังอำพรางใบหน้า แต่ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ทำให้ข้อมูลเด็กและครอบครัวถูกเปิดเผย การที่เส้นเสียงของเด็กในขณะถูกสัมภาษณ์ถูกเผยแพร่ออกไป ย่อมมีโอกาสที่เด็กจะถูกจดจำ ดังนั้น สื่อมวลชนจึงควรใช้ความระมัดระวังในการนำเสนอข่าว เพื่อไม่ให้เป็นการขัดกับเจตนาของกฎหมายในการคุ้มครองสิทธิเด็ก