ไม่พบผลการค้นหา
“วงเสวนา วาระ 8 ปีนายกฯ” ชำแหละ 'ประยุทธ์' เชื่อยังอยากอยู่ในอำนาจ เตือนอยู่ต่อปัญหาเพียบเหมือนน้ำผึ้งหยดเดียว แนะอยากเป็นวีรบุรุษต้องมีสปิริต เชื่อประเทศอยู่ได้ถ้าไม่มี 3ป. 'อ.เจษฎ์' มองไม่เริ่มนับตั้งแต่ปี 57 เป็นเรื่องที่แปลก

วันที่ 14 ส.ค. ที่สมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์ฯ คณะกรรมการญาติพฤษภา 35 และสภาที่ 3 จัดการเสวนาในหัวข้อ "วาระ 8 ปี การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ" โดยมี อดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ,พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อดีตผู้ว่าฯ สตง ,ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ,ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง มหาวิทยาลัยรังสิต ,นิติธร ล้ำเหลือ คณะหลอมรวมประชาชน และ รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก นักกฎหมาย และอดีตที่ปรึกษากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ร่วมวงพูดคุย

อดุลย์ กล่าวว่า เมื่อสัปดาห์ก่อนมีเสียงลือในลักษณะว่าจะโหนสถาบัน คิดว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นในยุคนี้ เพราะตนรังเกียจและถ้าเขาจงรักภักดีจริง เอาสถาบันมาเกี่ยวข้องในฐานะที่เป็นผู้นำประเทศทำไม การธำรงความเป็นสถาบัน ของเมืองไทยของคนในชาติ คือหน้าที่ของทุกคนหน้าที่ของทุกรัฐบาล

ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 กล่าวอีกว่า ตนจะไม่ยอมให้ใครลบหลู่สถาบันเด็ดขาด จากที่ได้คุยกับคนรุ่นใหม่ทุกคน ไม่ได้คิดแบบนั้น แต่อาจจะมีบางคนคิดซึ่งก็น้อยมาก ทั้งนี้สังคมส่วนใหญ่เข้าใจ คือ วาระครบรอบ 8 ปีเป็นในการลงทุน แบ่งกัน แต่ท่านจะแถยังไง แต่ขอให้จำไว้ว่า บุคคลที่ช่วยกันแถต้องรับผิดชอบด้วย ในสิ่งที่เกิดขึ้นวันหน้าทั้งหมด

อดุลย์ กล่าวอีกว่า ตนได้รับการประสานจาก ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่า 8 สถาบัน และ 8 สถานีโทรทัศน์ที่จะร่วมกันโหวต กรณีการดำรงตำแหน่ง 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เหมือนกรณีอภิปรายไม่ไว้วางใจ 11 รัฐมนตรีหรือไม่

​“เมื่อเดือนที่ผ่านมามีข่าวลือว่า มีนายทุนใหญ่พยายามให้สวนกล้วยเพื่อให้การพิจารณาเรื่องดังกล่าวของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่มีมาตรฐาน ซึ่งหลายครั้งการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญขัดกับความรู้สึกประชาชน และมีข่าวลือว่าจะมีการแอบอ้างสถาบัน จึงขอเตือนว่าหาก พล.อ.ประยุทธ์ รักสถาบันจริง ต้องไม่นำสถาบันมาเกี่ยว” นายอดุลย์ กล่าว

ธีระชัย กล่าวว่า วินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ มีความสำคัญต่อบ้านเมือง ทั้งในแง่ของการเมือง เศรษฐกิจ สังคม สำคัญอย่างยิ่ง เพราะจะเป็นการวางกรอบกติกาในรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ จะช่วยสร้างและส่งต่อ ให้กับคนรุ่นหลัง เพราะฉะนั้นตนเชื่อว่าศาลจะสร้างระบบการเมืองและขจัดความขัดแย้ง

​อดีต รมว.คลัง กล่าวว่า ในแง่ที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ในลักษณะการตีความ แต่จะดูเจตนารมย์ของโครงสร้าง ซึ่ง 8 ปี ของพล.อ.ประยุทธ์ ก็สำคัญต่อเศรษฐกิจ และสังคม ทั้งนี้คนที่อยู่ในตำแหน่ง ขับเคลื่อนการใช้อำนาจรัฐ ในภาคธุรกิจในทุกระดับใหญ่ สามารถที่จะเข้ามาชักจูง ให้มีการใช้อำนาจรัฐ เพื่อทำให้เกิดประโยชน์แก่ตนเอง การที่คนใดจะผูกขาดอำนาจรัฐ ในระยะเวลาที่เกินไป จะเข้าไปครอบงำองค์กรอิสระ เพื่อประโยชน์

​“พล.อ.ประยุทธ์ บอกว่า จะให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ใครก็รู้ว่าท่านทำหน้าที่บริหาร และจัดการแผ่นดิน มาตั้งแต่ปัจจุบันเป็นหัวหน้า คสช. บัดนี้เกิน 8 ปีแล้ว ซึ่งท่านต้องการให้ศาลธรรมนูญ สรุปแล้วว่าท่านต้องอยู่ต่อ การกำหนดระยะ 8 ปีเพื่อไม่ให้กำหนดการผูกขาด การดำเนินการของ พล.อ.ประยุทธ์ เกรงว่าจะนำไปสู่วิกฤติทางการเมือง ดังนั้นกระบวนการตรวจสอบ จึงจำเป็นต้องกำหนดระยะเวลาสูงสุด ดังนั้นจึงมีการเรียกร้อง ให้ พล.อ.ประยุทธ์ ใช้วิจารณญาณของตนเอง พิจารณาว่าอะไรเป็นสิ่งที่เหมาะสม เพื่อให้ประชาชนมีความสุข” ธีระชัย กล่าว

ขณะที่ ผศ.วันวิชิต กล่าวว่า จุดยืนที่ตนร่วมลงชื่อไล่นายกรัฐมนตรี เพราะที่ผ่านมาให้โอกาส ในการบริหารบ้านเมือง หลายอย่างแต่ไม่ประสบความสำเร็จ และอยากให้เป็นบรรทัดฐานเป็นตัวอย่างที่ดี ทั้งนี้ในอดีตนายทหารรุ่นพี่ของท่าน ทุกคนมีสปิริต และยางอายรับผิดชอบทางการเมือง เช่น พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่ไม่ไปต่อ , พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ที่เป็นนายกฯ 10เดือน เมื่อเจอวิกฤตต่างๆ ก็รับผิดชอบ และเริ่มรู้ว่าพอ หรือแม้แต่ เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ 

ผศ.วันวิชิต กล่าวว่า ทำให้ถูกตั้งคำถามกรณี พล.อ.ประยุทธ์ว่ามีสปิริต และจริยธรรมผู้นำทางการเมืองหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ตนยังเชื่อว่าทุกภาคส่วน ที่เคยสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ไม่เหลือพื้นที่ไว้วางใจ และส่วนตัวเชื่อว่าประเทศอยู่ได้ ถ้าไม่มี พล.อ.ประยุทธ์ หรือ 3 ป. เพราะยังมีคนเก่งและมีความสามารถ มาทำหน้าที่ได้ ตนมองว่าเป็นเรื่องอันตรายที่มีคำถามจากสังคมว่า ใครจะมาเป็นต่อ

​ผศ.วันวิชิต กล่าวว่า ประเด็น 8 ปีจุดยืนความรู้สึกของผู้ใหญ่ และนักวิชาการหลายคน เราต้องมีหลักการให้เด็กๆเห็นว่า เป็นทางเลือกว่าไปต่อได้หรือไม่ ซึ่ง สังคมไทยเกิดการตั้งคำถาม ว่าเจตจำนงค์ของท่านวางอนาคตทางการเมือง ให้เห็นว่าท่านอยากจะไปต่อจริงๆ ถ้าท่านอยากจะเป็นวีรบุรุษ ต้องเป็นบรรทัดฐานให้สังคมเห็นว่า ตัวอย่างที่ดีต้องมียางอายของตัวเองและมีความรับผิดชอบ มีสปิริตของผู้นำ  

​ผศ.วันวิชิต กล่าวว่า ตนเชื่อว่าบ้านเมืองและประเทศอยู่ได้ โดยที่ไม่มีประยุทธ์และ เครือข่าย 3 ป. พวกท่านทำให้เกิดปิดประตูตายว่า ไม่มีคู่แข่งทางการเมือง ตรงนี้อันตราย ทั้งนี้ในประเทศพัฒนา จะจำกัดอำนาจของผู้บริหารประเทศ หรือรู้จักพอ เช่น ประเทศเกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ ให้ประธานาธิบดีเป็นสมัยเดียว การเมือง 8ปี ที่เคยสัญญากับประชาชน ไม่เคยสำเร็จ โดยเฉพาะเรื่องการปฏิรูปตำรวจ

​ผศ.วันวิชิต กล่าวว่า สังคมตั้งคำถาม ขณะนี้ความรู้สึกประชาชนไปก่อนแล้ว ก่อนที่จะมีการวินิจฉัย คิดออกไปเอง ถือว่าเป็นสิ่งที่อันตราย การเมือง 8 ปีของท่าน จะนับจากเมื่อไหร่ หากนับแบบเด็ก 2565-2557 ก็เท่ากับ 8ปี ไม่รู้ว่าท่านจะวางอนาคตทางการเมืองอย่างไร หลายคนได้ให้โอกาส เวลาในการบริหารประเทศ แต่ได้เห็นแล้วทั้งทักษะ ความชัดเจน ความรอบรู้

“ถ้ามีสักเรื่องที่อยากทำให้เกิด อยากเป็นวีรบุรุษ รัฐบุรุษ ต้องมีบรรทัดฐานที่ดี ไปดูนายทหารรุ่นพี่หลายๆคน ยังมีระยะเวลา มีสปิริต ยางอาย มีความรับผิดชอบทางการเมืองอย่างสูง ในยุค พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประกาศจะอยู่ 15 เดือน ทั้งที่ด้วยอำนาจ ประกาศว่าจะไปต่อก็ได้ ในปี2549 พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ก็อยู่ในเวลาจำกัด เพราะไม่อยากให้มีวิกฤติการเมือง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ท่านก็รู้จักพอ เขาได้ทำสปิริตให้ดู ขอถามต่อมจริยธรรมทางการเมือง ทุกภาคส่วนที่เคยสนับสนุนท่าน มูฟออนไปแล้ว ไม่เหลือพื้นที่ที่จะไว้วางใจ มิตรที่เคยคบหา ลดทอนความเชื่อมั่นประชาชนไปเรื่อยๆ ระบบการตรวจสอบ ทุกอย่างก็ยังเป็นปริศนา ทุกคนใช้มาตรฐานตรงไปตรงมา แต่ฝ่ายตัวเองเป็นข้อยกเว้น ตรงนี้ถือว่า อันตราย” ผศ. วันวิชิต กล่าว 

ผศ.วันวิชิต กล่าวว่า สังคมอาจจะถามหาก พล.อ.ประยุทธ์ ไม่เป็น ใครจะเป็นต่อ เชื่อว่า คนเก่งยังมี แต่อาจติดกลไกลรัฐธรรมนูญ ไม่มีเสียงสว.สนับสนุน เท่ากับปิดประตู ไม่ให้เกิดผู้นำทางการเมือง ส่วนที่ถามใครจะเป็นต่อ ดีกว่าประยุทธ์หรือไม่ แต่ผมมองว่า กลไกลตรวจสอบ นักร้องบ้านเรามีเยอะ ก็ตรวจสอบได้  

ส่วน พิศิษฐ์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 158 หรือ 264 กำหนดชัดเจน เรื่องการนับวาระตั้งแต่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ การที่ตนได้ร่วมลงชื่อเรียกร้องต่อพล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้มีปัญหาส่วนตัว แต่เห็นว่า หากหลังพ้นวันที่24ส.ค. ท่านยังทำหน้าที่ต่อจะมีปัญหามาก ถ้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องเงินแผ่นดิน ไม่สามารถเบิกจ่ายเงินเดือน ผลประโยชน์ที่รัฐให้ในตำแหน่ง นายกฯควรคิดได้ ไม่ใช่มาหาเหตุ ตีความขยายเวลาเพื่อจะอยู่ต่อ หากมีความพยายามยื้อกันต่อไป ไม่รู้ว่าท่านเสียสละจริงหรือไม่ หรือยังยึดติดในอำนาจ อย่าถลำไป จนรับผิดชอบไม่ได้ ความเสียหายจะเกิดกับประชาชน ที่เป็นเจ้าของเงินแผ่นดิน   

​“นายกฯจะอยู่เกิน 8 ปี ตามรัฐธรรมนูญใหม่ไม่ได้ หากไปดำเนินการดำเนินการ เกี่ยวกับการเงิน การคลัง จะทำให้เสียหาย และจะฉวยโอกาสที่มีการตีความเพื่อยื้อต่อไป ผมเป็นห่วงว่าหลังจากวันที่ 23 สิงหาคม ท่านไม่ได้อยู่ในฐานะ นายกรัฐมนตรีเพราะฉะนั้นท่าน ก็ไม่สามารถที่จะเบิกจ่ายเงินเดือน หรือผลประโยชน์ใดๆ ที่รัฐจะให้ในฐานะตำแหน่งนั้น เรื่องอย่างนี้นายกฯน่าจะคิดออกและคิดได้ ด้วยความสำนึกตัวเอง ไม่ควรนำเหตุนี้มาตีความ เพื่อขยายเวลาการดำรงอยู่ของตัวเอง อย่าถลำไปเพราะความเสียหาย จะตกอยู่กับประชาชนและแผ่นดิน”

ด้าน นิติธร กล่าวว่า เป็นเรื่องที่เสียเวลามาก พล.อ.ประยุทธ์ไม่ควรรบกวน เวลาของประชาชนและประเทศชาติ ตนคิดว่าบ้านเมืองพัฒนาไม่ได้จริงๆ ระบบการเมืองยังถูกปิด อยู่กับอำนาจ มันแก้ไม่ได้ ต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงใหญ่อีกครั้งหนึ่ง และคงต้องอาศัยพลังทางสังคม ในการเปลี่ยนแปลง และการเปลี่ยนแปลงครั้งหน้า จะต้องใช้ความร่วมมือที่มากขึ้น ไม่ใช่ประชาชนฝ่ายเดียว แต่ทหารและตำรวจ ก็ต้องมาร่วมกับประชาชน

แกนนำคณะหลอมรวมประชาชน กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีความชัดเจนในตัวมันเอง ไม่จำเป็นต้องเถียงกัน เพราะถ้าจะบอกว่านายกเป็นไปตาม 158 ก็เป็นไปตามนั้นก็จบแล้ว ทั้งนี้วัตถุประสงค์จุดมุ่งหมาย ของรัฐธรรมนูญ ม. 264 และอยู่ในบทเฉพาะกาล มาตรา 272 คุณยอมรับตรงนั้น แต่ไม่ยอมรับมาตรา 264 จะเป็นไปได้อย่างไร

“วันนี้รัฐธรรมนูญมีทางออก แต่ทุจริตบิดเบือนอำนาจ ไม่เคารพกฎเกณฑ์กติกาบ้านเมือง ไม่นำพาต่อกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมายไม่เป็นผล หมายความว่าเราจะตีความมาตราไหนก็แล้วแต่ นับจากนี้เป็นต้นไป ทุกคนต้องไปดูศาลรัฐธรรมนูญ ก็ต้องไปดูที่มาของรัฐธรรมนูญนี้ มีทั้งเหตุและทางแก้ พูดทั้งนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์และสังคมศาสนาก็อยู่ในนี้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชน ก็อยู่ในนี้ในส่วนของพระราชปรารภก่อนที่จะไปเริ่มมาตราใดๆ” แกนนำคณะหลอมรวมประชาชน กล่าว

นิติธร กล่าวว่า การตัดสินจะต้องเป็นประโยชน์ ต่อชาติและความสงบสุขของประชาชน ดังนั้นศาลจะตัดสินในคดีต่างๆ ต้องไปดูที่มาด้วยว่า พอจะเชื่อถือได้หรือไม่ ในแง่ของโครงสร้างอำนาจ มาอย่างไร เหลือสัดส่วนเท่าไหร่ ที่มาจากอำนาจของส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งของคสช.เข้ามา

​“ต้องเปลี่ยนแปลงประเทศกันอีกครั้งหนึ่ง บนพื้นฐานที่อำนาจอธิปไตย เป็นของปวงชนชาวไทย รักษาไว้ซึ่ง ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์และประชาชน ไม่อย่างนั้นเราจะเจอปัญหาแบบนี้ ถึงเวลาจะออกกฎหมายก็เอา ถึงเวลาไม่เอากฎหมาย จะเสกสรรค์ปั้นแต่ง สังคมก็วุ่นวาย และถูกทำให้แตกแยก ถ้าแตกแยกอย่างนี้ขับเคลื่อนประเทศไม่ได้ การบริหารผู้นำประเทศก็เป็นตัวอย่างที่ไม่ดี” นายนิติธร กล่าว

รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าวว่า การตีความกฎหมายวันนี้ เราต้องตีความว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะครบวาระ 8 ปีเมื่อไหร่ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดไว้ว่า ดำรงตำแหน่งไม่เกิน 8 ปีรวมกัน ครม.ที่เป็นก่อนประกาศให้ถือเป็น ครม.ตามรัฐธรรมนูญนี้ด้วย วิธีคำนวณวาระ 8 ปี หากตีความตรงไปตรงมาคือครบวาระวันที่ 24 ส.ค.2565 หากตีความอีกแบบ คือ มาตรา 158 จะบังคับใช้ย้อนหลังไม่ได้ หากนับเช่นนี้จะต้องเริ่มนับเมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 เม.ย.2560 แต่การคิดแบบนี้จะเป็นเรื่องอันตราย เพราะจะเท่ากับว่าการดำรงตำแหน่งนายกฯตั้งแต่ปี 2557-2560 จะถือเป็นการใช้อำนาจอะไร

​รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าวว่า แม้หลายคนจะใช้เรื่อง “อำนาจรัฎฐาธิปัตย์” มาอธิบาย แต่จริงๆถือว่าความเป็น “รัฎฐาธิปัตย์” สิ้นสุดหลังมีการโปรดเกล้าฯ เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติแล้ว ดังนั้นหากอ้างความเป็นรัฎฐาธิปัตย์ ช่วงเวลาหลังจากนั้น ก็จะถือว่าเป็นกบฎ และการตีความอีกแบบคือเอาแค่มาตรา 158 แต่ไม่เอามาตรา 264 โดยอ้างว่าไม่เกี่ยวข้องอะไรเลย เป็นเพียงความต่อเนื่องในการบริหาร ซึ่งการใช้กฎหมายแบบนี้จะไม่สามารถนำมาซึ่งระบบนิติธรรมได้อย่างแท้จริง ทั้งนี้ในทัศนะของตนหากไม่นับวาระตั้งแต่ปี 2557 ก็จะเป็นเรื่องที่แปลก  

​รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าวว่า หากศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่อง แล้วดำเนินการไม่แล้วเสร็จ ภายในเวลา 24.00 น. ของวันที่ 23 ส.ค. แม้วันที่ 24 ส.ค.จะยังสามารถดำรงตำแหน่งได้ตามนิตินัย แต่ในทางพฤตินัยแล้ว จะสามารถทำได้หรือไม่ เพราะในวันที่ 26 ส.ค.ที่จะมีการประชุมกำหนดผู้บัญชาการเหล่าทัพ หากท่านไปนั่งเป็นประธานการประชุมแล้วแต่งตั้งตำแหน่งสำคัญจะทำได้หรือไม่

​“เปรียบเสมือนการสมรสกัน หากตามกฎหมายให้การสมรสเป็นโมฆะ แม้จะสามารถย้อนไปได้ทางนิตินัยว่าเป็นโมฆะ แต่ทางพฤตินัยสามารถย้อนไปได้หรือไม่ เพราะสมรสกันไปแล้ว อยู่กินกันไปแล้ว หรือมีลูกกันไปแล้ว ทั้งนี้หาก พล.อ.ประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ และคืนเงินเดือนในช่วงหลังจากวันที่ 24 ส.ค. จะเป็นการลดความขัดแย้งในบ้านเมืองได้ จะเป็นการช่วยให้ พล.อ.ประยุทธ์ เองในการป้องกันปัญหา และช่วยลดแรงกดดันต่อศาลรัฐธรรมนูญด้วย ผมเชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญ คงจะไม่ยื้อเวลาการพิจารณาออกไปนานอย่างแน่นอน” รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าว

​รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าวว่า หากยุติปฏิบัติหน้าที่ นายกฯจะไปวิ่งเล่น เที่ยว หรือไลฟ์มาบอกว่าไม่ได้ทำงานแล้ว ก็ได้ แต่ในแง่ของครม.จะมีปัญหา2ลักษณะ แม้รัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ได้ต่อ แต่เมื่อรัฐมนตรีเชื่อมกับนายกรัฐมนตรี เมื่อนายกฯพ้นสภาพ รัฐมนตรีก็ต้องพ้นสภาพไปด้วย อาจจะเกิดปัญหา นำมาสู่ซึ่งคำถาม รัฐมนตรียังนั่งอยู่ในตำแหน่งได้หรือ 

​รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าวว่า ขณะที่นายกฯมารักษาการ ก็เป็นประเด็นอีกจะเลือกใคร และรักษาการไปถึงเมื่อไหร่ ในเมื่อมีกลไกล การได้มาซึ่งนายกฯ คนมีรายชื่ออยู่ จะยอมรักษาการยาวเลยหรือ โดยเฉพาะ อนุทิน ถ้ามีการลงมติในสภาฯ เป็นนายกฯได้เลย แล้วจะรักษาการไปทำไม เรื่องนี้ สมมุติฝ่ายค้านยื่น ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 17 ส.ค. ท่านคงไม่รอช้า คงจะส่งศาลรัฐธรรมนูญเลย 

​“เวลานี้ ตำบลกระสุนตกอยู่ทั้งที่ พล.อ.ประยุทธ์ , รัฐมนตรี และสภาฯด้วย โดยสภาฯหากไม่ทำอะไรเลย จะมีคนนำไปยื่น ปปช. ทำให้พ้นตำแหน่งไปได้ เงื่อนงำนี้ ให้จบไปก่อนได้หรือไม่ เมื่อฝ่ายค้านยื่น ก็มีเวลาให้วินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญต้องใช้เวลาให้เป็นประโยชน์” รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าว

​รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าวว่า ทั้งนี้มองได้ 2 แบบ หากพิจารณาโดยรูปธรรมคือ รอเมื่อเกิดเหตุก่อน แล้วไปยื่น แต่มีอีกแบบ พิจารณาเชิงนามธรรม คือ มีโอกาสเกิดเหตุเป็นรูปธรรม ที่เมื่อเกิดแล้วจะเกิดความเสียหาย เยียวยาไม่ได้ ก่อนหน้า ศาลเคยรับเรื่องที่ยังไม่เคยเกิดมาแล้ว ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่มีคนแก้จะเอา สว.สรรหาทั้งหมด ตอนนั้นมีคนไปยื่นและศาล ทำไมรับ และพิจารณา ทั้งที่ปัญหายังไม่เกิด 

​รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าวว่า ทั้งนี้หากพ้นวันที่ 24 ส.ค.ไปแล้ว มีคนไปแจ้งความได้หรือไม่นั้น ตนคิดว่าแจ้งได้ แต่ตำรวจจะรับหรือไม่ เมื่อไม่รับ ก็จะมีคนไปแจ้งเอาผิดตำรวจอีก จะพันเป็นลูกโซ่ แต่ที่น่าห่วง เรื่องนี้จะกระทบทั้งทางเศรษฐกิจ ทางสังคม จะมีคนชุมนุม เรื่องนี้เป็นน้ำผึ้งหยดเดียว และอาจเป็นฟางเส้นสุดท้ายด้วย  

รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าวว่า ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ ยังมีอีกตำแหน่งเป็น รมว.กลาโหม ยังคงทำหน้าที่ได้หรือไม่นั้น รมว.รักษาการ จะเสนอชื่อ ผบ.เหล่าทัพได้หรือไม่ ยังเป็นประเด็น คนถึงบอก ให้จบ ณ วันนั้น หรือ จบก่อนวันนั้น ดีกว่า ไม่อย่างนั้นจะเป็นเหมือนลิงแก้แห ไปหมด  

​“การชุมนุมไล่พล.อ.ประยุทธ์ ชุมนุมไปเลย แต่อย่าลุกลามไปเรื่องอื่น เพราะพลังจะถูกลดทอน เมื่อรู้ว่าเป้า 3 เป้า ถ้าทำลายเป้ากลางได้ ค่อยไปคุยอีก 2 เป้า ทำไมไปแยกพลัง ไปอีก 2 ส่วน เลยเหลือพลังเพียง 1 ส่วน ที่พูดไปอาจขัดใจใคร แต่ตนมองว่า ไม่ต้องแก้รัฐธรรมนูญ ปฏิรูปสถาบัน ตอนนี้ให้ไล่ ประยุทธ์อย่างเดียว เชื่อว่าจะเกิดผลเหมือนยุคไล่ พล.อ.สุจินดา” รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าว