ไม่พบผลการค้นหา
ศาลพิพากษายกฟ้องคดี 112 กรณี สมอลล์ บัณฑิต นักเขียนอาวุโส พูดแสดงความเห็นในเวทีเสวนาว่า “คุณค่าแห่งความเป็นคนและศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของคนไทยทั้งแผ่นดิน จะต้องอยู่สูงกว่าฝุ่นละอองใต้เท้าใครบางคน” โดยศาลชี้ว่า เป็นคำพูดที่ตีความได้หลากหลาย จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย

ศาลอาญา มีนัดอ่านคำพิพากษาคดีหมิ่นกษัตริย์ กรณีที่ บัณฑิต อานียา หรือ สมอลล์ บัณฑิต แสดงความคิดเห็นในงานเสวนา “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช?” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ซึ่งจัดขึ้นโดยกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2558 ซึ่งบัณฑิตได้ร่วมแสดงความคิดเห็น โดยกล่าวถึงข้อเสนอ 5 ข้อ ที่เคยเสนอในการร่างรัฐธรรมนูญปี 40 ซึ่งเน้นให้ความสำคัญกับคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันของประชาชนไทย 

โดยหลังจากเวทีเสวนาวันนั้นจบลง บัณฑิต ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวไปยังสถานีตำรวจเพื่อทำการตักเตือน ก่อนจะปล่อยเขาออกมาโดยไม่มีการตั้งข้อกล่าวหา แต่เขาถูกออกหมายจับในปีถัดมา ในเดือน พ.ย. 2559

ศูนย์ทนายความ ได้เปิดเผยคำร้อง ซึ่งมีเนื้อหาโดยสรุปว่า จำเลยได้กล่าวถ้อยคำต่อผู้เข้าร่วมเสวนาว่า “คุณค่าแห่งความเป็นคนและศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของคนไทยทั้งแผ่นดิน จะต้องอยู่สูงกว่าฝุ่นละอองใต้เท้าใครบางคน” ซึ่งมาจากคําราชาศัพท์ว่า “ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม” ที่ใช้เฉพาะพระมหากษัตริย์เท่านั้น ทําให้ผู้ที่ได้ยินได้ฟังข้อความดังกล่าวเข้าใจโดยทันทีว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของปวงชนชาวไทย ด้อยค่าหรือต่ำต้อยกว่าพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 อันเป็นการดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท โดยจำเลยเจตนาจะทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะรัชกาลที่ 9

โดยคดีนี้ ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คำพูดของจำเลยจำเป็นต้องอาศัยการตีความ ซึ่งวิญญูชนอาจจะตีความแตกต่างกันออกไปได้ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย พิพากษายกฟ้อง

สำหรับบัณฑิต ในปีนี้เขามีอายุครบ 80 ปี หากนับในรอบการชุมนุมที่ผ่านมา ผู้คนอาจพบเห็นเขาในงานชุมนุมทางการเมืองบ่อยครั้งในมุมของชายชราที่เดินทางมาพร้อมกับหนังสือ เสื้อยืด กระเป๋าผ้า ที่มักสกรีนข้อความตัวใหญ่ๆ ว่า “ความเป็นธรรมย่อมอยู่เหนือทุกสถาบันฯ” แต่ในอีกด้านหนึ่งซึ่งน้อยคนที่จะรู้ ชายชราคนนี้นิยามตัวเองว่าเป็น นักคิด นักเขียน และนักแปล 

บ่อยครั้ง บัณฑิต มักนำงานแปลของเขาเองซึ่งมีทั้งงานพิมพ์ที่เข้าเล่มมาอย่างดี และงานแปลที่ใช้ทุนน้อยโดยการถ่ายเอกสารออกมาเย็บเล่ม มาวางขายตามสถานศึกษาซึ่งมีการจัดเวทีเสวนาทางวิชาการ หากใครได้มีโอกาสเข้าร่วมงานเสวนาบ่อย ก็คงได้พบกับบัณฑิต มายืนรอเพื่อขอไมค์อภิปราย พร้อมทั้งตั้งคำถาม หลังจากบรรดาวิทยากรหลักอภิปรายหัวข้อต่างๆ เสร็จ และก็ไม่วายที่บัณฑิตจะขอใช้เวลาประมาณหนึ่งนาทีเพื่อโฆษณาสินค้าที่เขานำมาจำหน่ายในวันนั้นด้วย 

ในวัย 80 ปี ชายชราคนนี้ผ่านโลก เผชิญโชคมาไม่น้อย เขาเคยเข้ารับการผ่าตัดกระเพาะปัสสาวะ และไตออกข้างหนึ่ง เนื่องจากป่วยเป็นโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ เขาใช้ชีวิตโดยมีถุงปัสสาวะเทียมติดอยู่กับตัวมานานกว่าสิบปี

ส่วนเรื่องในทางคดี การฟังคำพิพากษาของเขาในคดี 112 นี้ หากใช่ครั้งแรกไม่ ในปี 2546 เขาเดินทางไปร่วมฟังงานเสวนาเกี่ยวกับกฎหมายพรรคการเมือง เช่นเดิมหลังวิทยากรทั้งหมดบนเวทีพูดเสร็จเขาขอไมค์จากพูดดำเนินรายการเพื่อแสดงความคิดเห็นของตัวเอง และนำหนังสือที่เขาเขียน และแปลไปขาย แต่สุดท้ายเขาถูกพล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ ประธาน กกต.ในขณะนั้น เข้าแจ้งความฐานกระทำความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 112 จากถ้อยคำที่บัณฑิตแสดงความเห็นและเขียนในหนังสือ สองเล่ม คือ 1.สรรนิพนธ์เพื่อชาติ (ฉบับตัวอย่าง) 2.วรสุนทรพจน์ (ฉบับร่าง) เนื่องในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร ทั้งนี้ในระหว่างพิจารณาคดีบัณฑิตถูกคุมขังรวม 98 วัน ก่อนจะได้รับการประกันตัว สุดท้ายคดีนี้สู้กันถึงศาลฎีกา และศาลฎีกามีคำสั่งลงโทษจำคุก 4 ปี แต่ให้รอลงอาญา 3 ปี เนื่องจากศาลเห็นว่า ขณะกระทำผิดจำเลยป่วยเป็นโรคจิตเภท ทั้งมีอายุมากแล้ว ไม่เคยรับโทษจำคุกมาก่อน

ต่อมาหลังการรัฐประหาร 2557 บัณฑิตถูกดำเนินคดีอีกครั้ง ภายใต้เหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกับครั้งก่อน โดยเขาได้เดินทางไปร่วมเวทีเสวนาวิชาการระดมความเห็นเพื่อการปฏิรูป ซึ่งจัดโดยพรรคนวัตกรรม พร้อมนำหนังสือไปขาย เช่นเดิม เขาขอแสดงความคิดเห็นในเวทีเสวนา แต่ยังไม่ทันจะพูดจบ เขาก็ถูกตำรวจเข้ามารวบตัวเสียก่อน เพียงเพราะในประโยคที่เขาพูดอยู่นั้นมีคำว่า ระบอบกษัตริย์ อยู่ด้วย 

กรณีนี้ สำนักข่าวประชาไท ได้รายงานถึงคำฟ้องความผิดฐานหมิ่นหมิ่นกษัตริย์ของบัณฑิตไว้ว่า คำฟ้องระบุคำพูดของจำเลย 2 ประโยค ประโยคแรกกล่าวถึงความแตกแยกของสังคมไทยและสถานะของสถาบันพระกษัตริย์กับกฎหมาย ประโยคที่สองกล่าวถึงระบอบการปกครองว่าจะเลือกแบบใด

โดยคดีนี้ ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้วเห็นว่า ในวันเกิดเหตุจำเลยได้พูดจบเพียงประโยคที่หนึ่ง และกำลังจะเริ่มพูดประโยคที่สอง แต่ยังไม่ทันได้พูด ก็ถูกควบคุมตัวและหยุดพูด ข้อความตามคำฟ้องเป็นเพียงประโยคและวลีที่ยังไม่จบ พฤติการณ์ดังกลาวยังไม่ชัดแจ้งเพียงพอว่าการกระทำของจำเลยเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ อีกทั้งพยานโจทก์ที่เป็นพยานผู้จับกุมซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ เบิกความประกอบภาพเคลื่อนไหวบันทึกเหตุการณ์ว่า สาเหตุที่จับกุมจำเลยเนื่องจากปรึกษากันเองเห็นว่า ถ้อยคำที่จำเลยพูดน่าจะเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ รวมไปถึงพยานโจทก์ที่มาเบิกความแสดงความคิดเห็นว่าจำเลยกระทำความผิดก็เป็นการตีความและเป็นวิเคราะห์เองของพยานโจทก์เท่านั้น จึงถือว่าพยานโจทก์มีความน่าสงสัยตามสมควร จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย พิพากษาให้ยกฟ้องจำเลย

รวมแล้วบัณฑิต ผ่านการฟังคำพิพากษาคดี 112 ในฐานะที่เขาตกเป็นจำเลยทั้งหมด 3 ครั้ง นอกจากนี้ ในเดือนตุลาคม 2559 หลังการสวรรคตของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 บัณฑิตเคยโพสต์เฟซบุ๊กว่า  ถูก ‘ล่าแม่มด’ โดยถูกด่าทอและคุกคามเอาชีวิตในโลกโซเชียลมีเดีย จากนั้นไม่กี่วันตำรวจและทหารได้คุมตัวเขาจากห้องพักไปยัง สน.หนองค้างพลู โดยระบุว่า เขาโพสต์แสดงความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ อย่างไม่เหมาะสมกับห้วงเวลาแห่งความเศร้าโศกของประชาชนทั้งประเทศ อย่างไรก็ตาม ในครั้งนี้เป็นเพียงการตักเตือนและทำข้อตกลงกับนายบัณฑิตว่าจะไม่ทำพฤติกรรมเช่นนี้อีกและบัณฑิตได้รับปากเจ้าหน้าที่โดยดี นายทหารที่ดูแลพื้นที่ระบุว่าหากเขายังมีพฤติกรรมการโพสต์เช่นเดิมจะดำเนินการดำเนินคดีตามมาตรา 112 ให้ถึงที่สุด


ข้อมูลอ้างอิง 

บัณฑิต: แสดงความเห็นที่งานเสวนาของพรรคนวัตกรรม

บัณฑิต: แสดงความเห็นที่งานสัมนาของกกต.

บัณฑิต : แสดงความเห็นงานเสวนารัฐธรรมนูญ

ทบทวนก่อนพิพากษา: คดี ‘112’ คดีที่ 3 ของ “ลุงบัณฑิต” เสนอให้ รธน.เน้นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ถูกกล่าวหาพาดพิงกษัตริย์