ไม่พบผลการค้นหา
‘ยุทธพงศ์' ชำแหละมหากาพย์ขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้บีทีเอส 40 ปี จวกออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ต้นเหตุทำค่าโดยสารแพง ขู่เอาผิดชงศาล รธน.สอย 'ประยุทธ์' ด้านนายกฯ แจงปัดออกคำสั่ง ม.44 ขยายสัมปทานเอื้อเอกชน 40 ปี ส่วน มท.1 ย้ำให้เอกชนมาแบ่งเบาไม่ใช่เรื่องเลวร้าย ค่าโดยสารบีทีเอสสายสีเขียวแพงสุด 104 บาท

เวลา 19.15 น. วันที่ 17 ก.พ. 2564 ที่รัฐสภา การประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเรื่องด่วนญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล จำนวน 10 คนเป็นวันที่สอง ได้ดำเนินมาถึงช่วงค่ำ โดย ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย อภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ในหัวข้อ มหากาพย์การโกง ข้ามศตวรรษ ถึงปี 2602 จากบ้านหลวง สู่ ม.44 ยกสัปทานรถไฟฟ้าหลวงให้เจ้าสัว โดยเขากล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.อนุพงษ์ รู้เห็นเป็นใจ แบ่งแยกหน้าที่กระทำความผิด โดยยกขยายสัปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้กับรถไฟฟ้าบีทีเอส (BTS) โดยไม่ผ่านการประมูลใหม่ ถึงปี 2602 เป็นเวลา 40 ปี ขัดกับ พ.ร.บ.ร่วมทุน และขัดต่อรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ยังขัดกับมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ด้วย 

ยุทธพงศ์ กล่าวว่า มติ ครม.เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2561 ที่เห็นชอบกรณีเกี่ยวกับการดำเนินการสัปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยให้ กทม.จัดการรายได้และตั้งงบประมาณให้เพียงพอต่อการชำระหนี้ที่รับมาจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) โดยให้ กทม.กู้เงินจากกระทรวงการคลัง มาชำระหนี้ พร้อมดูแลค่าโดยสารอย่างเหมาะสม พร้อมเปิดประมูลเมื่อจบสัญญา

ชี้ 'ประยุทธ์' ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.เอื้อประโยชน์บีทีเอส ทำค่าโดยสารแพงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ปรากฎว่า เมื่อวันที่ 1 ส.ค.2559 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.ในสมัยนั้น ได้ลงนามจ้าง BTS วิธีการพิเศษ วิ่งรถส่วนต่อขยายสายสีเขียว ช่วงเหนือ-ใต้ จากปี 2572-2585 ทั้งที่ส่วนต่อขยายดังกล่าว เป็นของ รฟม. ต่อมา มติ ครม.เมื่อวันที่ 26 พ.ย.2561 ให้ กทม.กู้เงินเพื่อชำระหนี้ รฟม.และให้กำหนดค่าโดยสารที่เป็นธรรม พร้อมให้บริหารสัญญาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้มีระยะสิ้นสุดพร้อมกันทุกช่วง เพื่อให้มีการประมูลแข่งขัน แต่เมื่อวันที่ 11 เม.ย.2562 พล.อ.ประยุทธ์ ได้ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2562 เรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยเป็นการตัดตอน ผูกขาด หนีการแข่งขัน เอื้อประโยชน์ให้ BTS ต่อไปอีก สร้างความเสียหายให้กับประเทศอย่างมหาศาล

ยุทธพงศ์ กล่าวว่า ผลจากการออกมาตรา 44 ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ค่าโดยสารแพง ดังที่ก่อนหน้านี้ จะมีการเก็บเก็บค่าโดยสาร 104 บาทตลอดสาย ถือเป็นการจับประชาชนเป็นตัวประกัน 

ยุทธพงศ์ อภิปรายไม่ไว้วางใจ สภา 12154787610795112_n.jpg

ขู่ชงศาล รธน.สอยนายกฯ พ้นเก้าอี้

ยุทธพงศ์ กล่าวว่า การกระทำของ พล.อ.ประยุทธ์ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 56 ที่บัญญัติว่า รัฐต้องจัดหรือดำเนินการให้มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนอย่างทั่วถึงตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน รัฐต้องดูแลมิให้มีการจัดเก็บค่าบริการจนเป็นภาระแก่ประชาชนเกินสมควร ทั้งนี้ สาธารณูปโภคไปให้เอกชนดำเนินการ รัฐต้องได้รับผลประโยชน์ต่อแทนอย่างเป็นธรรม โดยคำนึงถึงการลงทุนของรัฐ ประโยชน์ที่รัฐและเอกชนจะได้รับ และค่าบริการที่จะเรียกเก็บจากประชาชนประกอบกัน ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จึงเตรียมพร้อมขึ้นศาลรัฐธรรมนูญได้เลย

ประวิตร ประยุทธ์ อภิปรายไม่ไว้วางใจ สภา5540337528_n.jpg

'ประยุทธ์' โต้ 'ยุทธพงศ์' อย่าจินตนาการ ย้ำคำสั่ง คสช.ปัดขยายสัมปทานเอกชน 40 ปี

ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ลุกขึ้นชี้แจงข้อกล่าวหาของ ยุทธพงศ์ เกี่ยวกับการขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ว่า ตนพยายามรับฟังตลอดทั้งในและนอกห้อง แต่กิริยาไม่ได้แตกต่างกัน พอเข้ามาแล้วก็เจอคำขู่ คำไล่ ซึ่งไม่ควรใช้คำเหล่านี้ เพราะเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งการจะอยู่หรือจะไปขึ้นอยู่กับการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ไม่ใช่มาไล่อย่างนี้ หากจะพูดให้ไปไปข้างนอก และพูดให้มันไพเราะกว่านี้หน่อย ตนเองก็ยังปรับปรุงตัวเยอะมากแล้ว

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวซึ่งมีการทำงานถึงสามช่วงสายหลักสายสุขุมวิทและสายสีลมเป็นช่วงที่ทำสัญญาสัมปทานให้กับเอกชนไว้ตั้งแต่ปี 2535 ระยะเวลา 30 ปีจะสร้างเสร็จในปี 2572 ช่วงต่อไปเป็นส่วนต่อขยายที่สองเดิมการรถไฟ หรือ รฟม.เป็นผู้ก่อสร้าง ต่อมาปี 2561 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้โอนช่วงดังกล่าวให้ กทม.รับมาบริหารแทน และรับภาระหนี้ต่างๆมาจากการการรถไฟด้วย 

โดยโครงการนี้มีสัญญาดำเนินงานแตกต่างกันในแต่ละช่วง อาจจะทำให้เกิดปัญหาการบูรณาการ,การบริหารจัดการโครงการ และการบริหารจัดการสัญญาที่ไม่มีความเป็นเอกภาพ หากต้องดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายร่วมทุนภาครัฐและเอกชน หากแก้ไขปัญหาดังกล่าวอาจจะทำให้การดำเนินงานล่าช้าออกไปอีก 2-3 ปี ซึ่งรัฐบาลไม่อยากให้เกิดปัญหา การเดินรถที่อาจจะไม่เกิดความต่อเนื่องเช่นบางคงการในอดีตที่ใช้มาตรา 44 แก้ไข ช่วงฟันหลอ 1 กิโลเมตร

ดังนั้นจึงมีการหารือซึ่งกันและกัน จึงออกคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. โดยตนเองลงนามเพื่อให้เกิดการบูรณาการการบริหารจัดการโครงสร้างของโครงการและสัญญาที่เกี่ยวข้องในโครงการนี้ทั้งสามช่วงให้เกิดเอกภาพสามารถเดินรถแบบต่อ เนื่องเป็นโครงข่ายเดียวกันอำนวยความสะดวกความสบายของประชาชนและให้กำหนดอัตราค่าโดยสารให้เหมาะสมและไม่เป็นภาระของประชาชน ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้มีการดำเนินการใดใดในเรื่องของราคาอย่างที่บอกซึ่งอยู่ในขั้นตอนการหารือซึ่งขณะนี้ได้มีการฉลองไปตามที่ กทม.ได้แจ้ง 

นายกรัฐมนตรี ระบุว่า การดำเนินการจากมาตรา 44 และมีการตั้งคณะกรรมการมาดูเรื่องนี้และมีองค์ประกอบของคณะกรรมการแนวเดียวกับองค์ประกอบคณะกรรมการตามกฏหมายร่วมลงทุนภาครัฐและเอกชนซึ่งจะทำหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์การแบ่งปันผลประโยชน์จากค่าโดยสาร รวมถึงหลักเกณฑ์อื่นเพื่อประโยชน์ในการรวมกันของรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่หนึ่ง และส่วนต่อขยายที่สองโดยให้ดำเนินการเจรจากับผู้รับสัมปทานกับผู้รับสัมปทาน เพื่อให้เกิดการเดินรถแบบต่อเนื่องเป็นโครงข่ายเดียวกัน และอำนวยความสะดวกของประชาชนผู้โดยสารและมีอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสมไม่เป็นภาระหากมีผลการเจรจาจนได้ข้อยุติ และได้ร่างสัญญาร่วมลงทุนฉบับแก้ไขก็ให้ถือว่าเป็นการดำเนินการตามกฏหมาย พ.ร.บ.การร่วมลงทุนภาครัฐและเอกชนในส่วนของการแก้ไขสัญญาแล้วในขั้นตอนอื่นๆหลังจากนี้ขอให้หน่วยงานได้ดำเนินการพิจารณาตามกฏหมายร่วมลงทุนภาครัฐและเอกชน 

นอกจากนี้ในคำสั่ง คสช.ไม่ได้ระบุหรือบังคับให้มีการขยายสัมปทานกับเอกชนรายเดิมออกไปถึง 40 ปีอย่างที่กล่าวหาและการที่กล่าวหาว่ารัฐเอกชนรายเดิมหรือทำใหม่เจรจากับเอกชนรายเดิมในข้อเท็จจริงนั้นในสัญญาสัมปทานเดิมของการจ่ายหลักที่ทำไว้ปี 2535 กำหนดว่าหาก กทม.จะให้มีการดำเนินการ ในสายทางเพิ่มเติมในระหว่างอายุสัญญาขยายเส้นทางของระบบบริษัทมีสิทธิ์เป็นรายแรกที่จะเจรจาก่อนดังนั้นหากไม่เจรจากับเอกชนรายเดิมอาจจะนำไปสู่การฟ้องร้องภายหลังได้เพราะไม่มีการปฏิบัติตามเงื่อนไขของสัญญา

อนุพงษ์  อภิปรายไม่ไว้วางใจ สภา 74_5208911476558769732_n.jpgประวิตร อภิปรายไม่ไว้วางใจ สภา _7319061395004789624_n.jpgประยุทธ์ ประวิตร นายกรัฐมนตรี รัฐสภา สภา อภิปรายไม่ไว้วางใจ 81434118758_n.jpg

อย่างไรก็ตาม จะให้เกิดความโปร่งใสมากยิ่งขึ้นใน คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ประกาศความร่วมมือป้องกันการทุจริต แนวทางและวิธีการในการดำเนินโครงการความร่วมมือป้องกันการทุจริตรในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐแบบข้อตกลงคุณธรรมการคัดเลือกผู้สังเกตการณ์มาใช้กับการดำเนินงานตามคำสั่งรวมถึงค่าโดยสารตามกฏหมายที่อยู่อำนาจของผู้ว่ากรุงเทพคำสั่งคสช. ที่กล่าวถึงมีสารสำคัญเพียงเท่านี้ส่วนผลการดำเนินการตามคำสั่ง ให้รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ชี้แจง ทั้งในส่วนของค่าโดยสารและประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน แต่ตนเองยืนยันว่าเรื่องของการพิจารณาดังกล่าวยังไม่ได้นำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีซึ่งเป็นขั้นตอนการเจรจากันอยู่

"อย่าพูดเลยเถิดหรือเกินเลย ว่าให้ไปแล้วและขึ้นราคาเท่านั้นเท่านี้อย่าพึ่งจินตนาการไปขนาดนั้นและกฎหมายที่อ้างว่าผิดรัฐธรรมนูญ ผมไม่ใช่ศาล แต่ผมได้ปรึกษาฝ่ายกฎหมายแล้วในเรื่องของการขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 56 ซึ่งเรื่องนี้ก็แล้วแต่ศาลหากเข้าสู่กระบวนการ เพราะคำสั่งนั้นบอกให้กำหนดค่าโดยสารในอัตราที่เหมาะสม และระบุไว้ว่าให้รักษาวินัยการเงินการคลังให้มีคณะกรรมการมาสังเกตการณ์ตามข้อตกลงของคุณน่ะทำแบบไม่ผูกขาดสัญญาเดิมให้เจรจากับร้านเดิม" นายกฯ ระบุ

อนุพงษ์ อภิปรายไม่ไว้วางใจ สภา 768301953675_n.jpg

'อนุพงษ์' แจงให้เอกชนมาช่วยแบ่งเบารถไฟฟ้าสายสีเขียว

ด้าน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ชี้แจงย้ำถึงกลไกการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นว่า เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่เพื่อประโยชน์สาธารณะ และกทม.เหมือนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และมีอำนาจหน้าที่กำกับนโยบาย กทม.ได้ แต่การดำเนินการโครงการใดๆ ขึ้นอยู่กับสภา กทม.ไม่สามารถใช้อำนาจไปก้าวล่วงได้ 

พล.อ.อนุพงษ์ เปิดรายละเอียดโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวหลักตามสัญญาสัมปทาน ปี 2542 ถึง 2572 พร้อมชี้ในประเด็นการเดินรถขาดทุน และย้ำว่ารัฐบาลพยายามหาแนวทางแก้ปัญหาให้ กทม.ในแนวทางต่างๆ ซึ่งการกู้เงินทำไม่ได้แน่นอน หรือหากจะการออกตราสารหนี้ก็เป็นเรื่องยากที่จะได้ผลกำไร 

จึงได้ข้อสรุปที่การร่วมทุนซึ่งการให้เอกชนร่วมทุนไม่ใช่เรื่องเลวร้าย แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานที่ประชาชนได้ประโยชน์ เนื่องปัญหาทางโครงสร้างบิดเบี้ยวมาตั้งแต่ต้น เพราะควรจะเป็น กทม.ดำเนินการ แต่หากจะฟ้องเอกชนก็ต้องเสียค่าโง่ซึ่งไม่คุ้ม ดังนั้นจึงต้องหาทางออกที่เหมาะสมที่สุด ด้วยการให้เอกชนมาช่วยแบ่งเบา แม้จะไม่ได้เห็นด้วย แต่เพราะปัญหามาเช่นนี้ก็ต้องแก้ไขกันไป โดยอาศัยการใช้อำนาจหัวหน้า คสช.ตามมาตรา 44 หาทางเจรจาผ่านคณะกรรมการที่ระบุตำแหน่งชัดเจน มุ่งให้ประชาชนได้ประโยชน์ ประเทศชาติไม่เสียหายและเป็นธรรมกับเอกชน 

ย้ำค่าโดยสารสายสีเขียวสูงสุด 104 บาท

ส่วนประเด็นอัตราค่าโดยสารขึ้นอยู่กับระยะทาง และสะท้อนจากการลงทุน ซึ่งอัตราค่าโดยสารสายสีเขียวที่กำหนดไว้สูงสุด 104 บาท แม้ว่าทาง รฟม. ทำการศึกษาไว้ 158 บาท และหากเปรียบเทียบกับรถเมล์ปรับอากาศราคาสูงสุด 70 บาท พร้อมย้ำว่า ขอให้ประชาชนเข้าใจการแก้ปัญหาของรัฐบาลเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด

อนุพงษ์  อภิปรายไม่ไว้วางใจ สภา 65936_1094357835576567684_n.jpgสุรเชษฐ์ ก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจ สภา 90_1502596080116397631_n.jpg

‘สุรเชษฐ์’ แฉ ‘3 ป.’ ทำ ‘รถไฟฟ้าแพง’

ต่อมา สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ กรณีมีส่วนทำให้เกิดปัญหาค่ารถไฟฟ้าแพง โดยระบุว่า ตนเห็นด้วยกับการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ แต่ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่รัฐบาลกำลังทำ คือการหากินกับการสร้างรถไฟฟ้าและทิ้งปัญหาไว้มากมายให้กับประชาชน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือปัญหาค่ารถไฟฟ้าแพง และมีทีท่าว่าจะแพงขึ้นไปอีกเรื่อย ๆ เพราะรัฐบาลนี้สร้างรถไฟฟ้าแบบไม่คิด แบ่งเป็นสายๆ แบบไร้มาตรฐาน ผิดจากต่างประเทศ ทั้งนี้ การก่อสร้างรถไฟฟ้าแต่ละสายในประเทศไทยใช้เงินลงทุนเยอะมาก แต่สุดท้ายเนื่องจากการวางแผนบริหารจัดการที่ล้มเหลวทำให้คนมาใช้น้อย ไม่คุ้มค่า สุดท้ายภาระจึงต้องตกมาอยู่ที่ประชาชน ส่วนคนอนุมัติและผู้รับสัมปทานรวยเอาๆ

สุรเชษฐ์ กล่าวว่า ปัญหาค่ารถไฟฟ้าแพงที่ประชาชนต้องแบบรับนี้ สามารถสรุปได้ด้วยกระบวนที่เรียกว่า 3 ป. คือ ป. ปั้นตัวเลข, ป. ปั่นโครงการ และ ป.ปันผลประโยชน์ โดย ป.แรก ปั้นตัวเลขเกิดจากการที่ พล.อ.ประยุทธ์ สั่งการอย่างมีธง โดยที่ไม่ได้ศึกษาอย่างจริงจังและเป็นกลาง มีการปั้นตัวเลขให้ดูคุ้มค่าทางเศรษฐกิจเพื่อที่จะได้สร้าง ปั้นตัวเลขให้ดูกำไรน้อยหรือขาดทุนเพื่อที่จะได้ใช้เงินรัฐไปช่วยอุดหนุนเอกชนให้มาก ๆ ผ่านกระบวนการ PPP ยิ่งถ้าเป็นในช่วงรัฐประหารที่ระบบตรวจสอบล้มเหลว คงไม่มีใครกล้าขวางธงจากนายกรัฐมนตรี

ป.ต่อมาคือ ปั่นโครงการ เป็นการดำเนินการอย่างเร่งรีบ อยากแต่จะสร้างเพื่อหวังหัวคิวใช่หรือไม่ และโครงการเหล่านี้ก็กระจุกตัวอยู่แค่ในกรุงเทพฯ ไม่ให้ความสำคัญกับหัวเมืองอื่น ทั้งที่ประเทศไทยไม่ได้มีแค่กรุงเทพ ส่วนตัวอยากบอก พล.อ.ประยุทธ์ว่า การสร้างรถไฟฟ้าเยอะ ๆ ไม่ได้แปลว่าท่านเก่ง เพราะท่านไม่ใช่เป็นคนลงมือสร้างแต่เป็นคนจัดสรรผลประโยชน์ การสั่งการไปเรื่อย อนุมัติโครงการใหญ่ ๆ เอื้อต่อการหักหัวคิวหรือไม่ 

สุรเชษฐ์ ระบุว่า ป.สุดท้ายคือ ปันผลประโยชน์ ซึ่งที่ชัดเจนก็คือเมกกะดีล รถไฟฟ้าสายสีเขียว และรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่เกิดปัญหาฟ้องร้องกันจนทุกวันนี้ กล่าวโดยสรุป นี่คือเป็นโครงการที่ คนอนุมัติรวย นายทุนยิ้ม ขณะที่ประชาชนต้องเป็นผู้จ่ายทั้งภาษีและค่าโดยสารที่แพงมาก ๆ และเมื่อ ทั้ง 3 ป. มาเจอกัน นั่นคือ ป.การปั้นตัวเลข บวก ป. การปั่นโครงการ บวก ป.การปันผลประโยชน์ ผลลัพธ์ก็คือบ้านเมืองบรรลัย ด้วยเหตุนี้ ตนจึงไม่อาจไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ดำรงตำแหน่งทำหน้าที่บริหารประเทศอีกต่อไป

การอภิปรายดำเนินมาถึงเวลา 00.35 น. วันที่ 18 ก.พ. สุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่1 ทำหน้าที่ประธานการประชุมได้สั่งพักการประชุมและนัดประชุมต่อในเวลา 09.00 น. วันที่ 18 ก.พ.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง