ไม่พบผลการค้นหา
‘สนธิญา’ ร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่งศาลรธน.วินิจฉัยนโยบายหาเสียงพท. กระเป๋าเงินดิจิทัล- ถมทะเล ขัด รธน. เชื่อไม่ได้ศึกษาผลกระทบ ความคุ้มค่า ทำเข้าข่ายพรรคมีสิทธิ์ถูกยุบพรรค เตรียมจี้ ป.ป.ช.วินิจฉัย 171 ส.ส.โดดล่มประชุมปี 64-65 หวั่นได้รับเลือกตั้งกลับเข้าสภาทำปชช.เสียหาย

วันที่ 28 เม.ย. สนธิญา สวัสดี ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ผ่าน อาจณรงค์ พุ่มงาม ผู้อำนวยการส่วนตรวจสอบเรื่องร้องเรียนกลาง สำนักตรวจสอบเรื่องร้องเรียน ผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้พิจารณาและมีความเห็นส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า นโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทย ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 258 ก. (2)(3) หรือไม่ 

สนธิญา กล่าวว่า เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2565 แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย ได้ประกาศนโยบายหาเสียง 10 ข้อ ในจำนวนนั้น มีการประกาศนโยบายเรื่องการถมทะเลจากกรุงเทพมหานคร ไปยังจังหวัดสมุทรปราการ และสมุทรสาคร ซึ่งตนเป็นคณะอนุกรรมการพิจารณาเรื่องการถมทะเลของสมุทรสาคร พบว่าเรื่องดังกล่าวยังไม่มีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ความเสี่ยงในการดำเนินโครงการต่างๆ จึงเชื่อว่า การที่พรรคเพื่อไทยประกาศนโยบายนี้ ยังไม่ได้มีการศึกษาเรื่องความคุ้มค่าในการดำเนินโยบาย ผลกระทบและความเสี่ยงที่จะเกิดจากการดำเนินนโยบาย 

ขณะเดียวกัน ยังได้ประกาศนโยบายแจกเงินดิจิทัล 100,000 บาทให้คนไทย 55 ล้าน โดยระบุใช้งบประมาณ 5.6 แสนล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 20% ของจำนวนงบประมาณแผ่นดิน ขณะเดียวกันก็พบว่า เมื่อปี 2554 สมัยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรเป็นรัฐบาล ได้ดำเนินนโยบายรับจำนำข้าวและเกิดความเสียหาย เป็นเงินกว่า 8.84 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบัน การจัดทำงบประมาณของรัฐบาล ต้องมีการกันเงินราวๆ 3.5 หมื่นล้านบาทไปจ่ายให้กับธนาคารเพื่อชดใช้ความเสียหายในโครงการดังกล่าว ซึ่งต้องจ่ายต่อเนื่องไปถึงปี 2577 จึงเห็นว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะดำเนินโรงการกระเป๋าเงินดิจิทัล และเกรงว่าจะทำให้เกิดความเสียหายซ้ำรอยโครงการจำนำข้าว 

“ผมไม่เชื่อมั่น การทำงานของกกต. เพราะกกต.ก็ไม่ได้ออกมาเปิดเผยว่า นโยบายเหล่านี้ของพรรคการเมือง มีการจัดทำเรื่องความคุ้มค่า ความเสี่ยง ที่มาของงบฯ เป็นอย่างไร ขณะที่พรรคการเมืองเอง เมื่อประกาศนโยบายแล้วก็ไม่มีการให้รายละเอียดเรื่องนี้ต่อประชาชนอย่างชัดเจน จึงเป็นเรื่องที่ขัดต่อหลักในการปฏิรูปประเทศตามรัฐธรรมนูญมาตรา 258 ก. (2) ที่กำหนดให้การดำเนินการของพรรคการเมืองต้องเปิดเผย ตรวจสอบได้ และต้องมีกลไกที่กำหนดความรับผิดชอบของพรรคการเมืองในการประกาสนโยบายที่ได้มีการวิเคราะห์ ผลกระทบ ความคุ้มค่า และความเสี่ยงอย่างรอบด้าน จึงควรที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย” สนธิญา กล่าว 

สนธิญา กล่าวว่า หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญ ก็จะไปเข้าลักษณะตามมาตรา 21 มาตรา 22 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 ที่กำหนดให้กรรมการบริหารพรรคมีหน้าที่ควบคุม ดูแลรับผิดชอบการดำเนินกิจกรรมและการดำเนินนโยบายของพรรคให้เป็นไปตามกฎหมายกำหนด เมื่อกรรมการบริหารพรรคไม่ดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดก็จะถือว่าเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองโดยวิธีการที่มิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐบาลเป็นเหตุให้เสนอศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคได้ตามมาตรา 92 ของกฎหมายเดียวกัน 

สนธิญา ยังกล่าวด้วยว่า ในสัปดาห์หน้าจะไปทวงถามต่อป.ป.ช. กรณีที่ตนเคยยื่นขอให้มีการตรวจสอบ ส.ส.ที่ไม่เข้าประชุมสภาช่วงปี 2564 -2565 จำนวน 17 ครั้ง จนเป็นเหตุให้สภาล่ม เนื่องจากขณะนี้ทางสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรที่ไม่เข้าร่วมประชุมในช่วงเวลาดังกล่าว มาให้ตนตามที่ยื่นหนังสือขอไว้ พบว่ามีถึง 171 คน ซึ่งตนเห็นว่า การไม่เข้าร่วมประชุมถือว่า เข้าข่ายเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เป็นความผิดที่ป.ป.ช.ควรเร่งดำเนินการสอบสวนและชี้มูลเอาผิดเพราะทั้ง 171 คนยังลงสมัคร ส.ส. หากป.ป.ช.ล่าช้า ตนจะไปร้องต่อศาลปกครอง เพราะถ้าคนเหล่านี้ได้กลับเข้ามาเป็นส.ส. ก็จะส่งผลเสียต่อการมาทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน