“เรื่องยาเสพติด พรรคภูมิใจไทยมองว่าเป็นปัญหาใหญ่ เราต้องแก้ไขด้วยการแก้กฎหมาย จากนี้ใครครอบครองยาบ้า 1 เม็ด เท่ากับเป็นผู้เสพ และ 2 เม็ดขึ้นไป เป็นผู้จำหน่าย โทษหนักเลย เตรียมลงนามเร็วๆ นี้ เตรียมลงนามเร็วๆ นี้ อะไรที่เป็นความสุขของประชาชน เราพร้อมทำ อะไรที่เป็นความทุกข์ของประชาชน เราพร้อมแก้ไข ที่ผ่านมา ภูมิใจไทย ทำงานไม่เกรงใจใคร เราเกรงใจอยู่คนเดียวคือ ประชาชน”
ถ้อยคำอันดุดันเด็ดขาดของ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย บนเวทีหาเสียงในเขตพญาไท เมื่อ 29 มกราคม ที่ผ่านมา เป็นการประกาศนโยบายหลายเรื่องด้วยกัน หนึ่งในนั้นคือ นโยบายปราบยาเสพติด โดยการเพิ่มโทษให้รุนแรงขึ้น จากเดิมที่การครอบครองยาบ้าไม่เกิน 15 เม็ด ถือเป็น ‘ผู้เสพ หรือ ผู้ป่วย’ เพิ่มโทษเป็น ผู้ใดครอบครองยาบ้ามากกว่า 1 เม็ด ให้ถือเป็นผู้ค้าทันที
การประกาศนโยบายของอนุทินครั้งนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะการใช้มาตรการและกฎหมายที่รุนแรงเข้มงวดในอดีตที่ผ่านมายืนยันแล้วว่า ไม่ได้ทำให้การระบาดของปัญหายาเสพติดน้อยลงจากสังคม ในทางกลับกัน กฎหมายที่รุนแรงยังนำมาซึ่งปัญหาหลายประการ ทั้งการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักโทษในคดียาเสพติด ผู้ต้องขังล้นเรือนจำ รวมถึงภาระด้านงบประมาณและต้นทุนในกระบวนการยุติธรรมที่พุ่งขึ้นสูงทุกปี
Voice ชวนสำรวจนโยบายการแก้ปัญหายาเสพติดของไทย เทียบเคียงกับตัวเลขทางสถิติหลายชุด และกรณีศึกษาจากประเทศโปตุเกส เพื่อสะท้อนให้เห็นว่า การแก้ปัญหาด้วยบทลงโทษอันรุนแรง แก้ปัญหาการระบาดของยาเสพติดได้หรือไม่ อย่างไร
ข้อมูลจากกรมราชทัณฑ์ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2566 ระบุว่า มีจำนวนผู้ต้องขังคดียาเสพติดมากถึง 206,361 ราย คิดเป็น 78.67 % ของผู้ต้องขังทั้งประเทศ โดยในจำนวนนี้เป็นนักโทษเด็ดขาด (บุคคลซึ่งถูกขังไว้ตามหมายจำคุกภายหลังคำพิพากษาถึงที่สุด ) จำนวน 170,860 ราย
เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลในเดือนสิงหาคม 2551 พบว่า ในขณะนั้นมีผู้ต้องขังคดียาเสพติด 100,015 ราย คิดเป็น 54.94% ของผู้ต้องขังทั้งประเทศ ในจำนวนนี้มีนักโทษเด็ดขาดเพียง 72,963 ราย
จะเห็นได้ว่า ผ่านมา 15 ปี มีนักโทษคดียาเสพติดเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัว
สิ่งที่ตามมาคือ ต้นทุนในการดูแลผู้ต้องขังในเรือนจำ ข้อมูลจากสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) หรือ TIJ ระบุถึงว่า งบประมาณของกรมราชทัณฑ์ ที่ใช้ในการดูแลผู้ต้องขังในปี 2564 อยู่ที่ 14,196 ล้านบาท ในขณะที่เมื่อเทียบกับงบประมาณของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ในปี 2564 อยู่ที่ 3,128 ล้านบาท
สะท้อนการจัดสรรงบประมาณที่ไม่เหมาะสม เพราะ ควรให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปราม ซึ่งเป็น ‘ต้นน้ำ’ ของกระบวนการแก้ปัญหา มากกว่านำงบประมาณไปลงทุนกับ ‘ปลายน้ำ’ เมื่อมีผู้กระทำความผิดมากขึ้นเรื่อยๆ
ด้านสำนักข่าวอิศรา ได้เปิดตัวเลขค่าใช้จ่ายของภาครัฐในฐานะผู้ให้บริการในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในปี 2560 มีต้นทุนรวมเฉลี่ย 125,656 บาท ต่อผู้ถูกกล่าวหา 1 คน ตั้งแต่เริ่มเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจนกระทั่งถึงขั้นสุดท้าย เมื่อนำค่าใช้จ่ายข้างต้นมาคำนวณตามอัตราเงินเฟ้อเพื่อหามูลค่าโดยประมาณในปัจจุบันจะได้ต้นทุนรวมเฉลี่ยในปี 2565 จำนวน 168,156 บาท ดังนั้นต้นทุนคือ ค่าใช้จ่ายของภาครัฐในฐานะผู้ให้บริการในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในปี 2565 ประมาณ 43,911,753,372 บาท
นอกจากนั้น ข้อมูลการดูแลนักโทษในปี 2563 โดยกรมราชทัณฑ์ ระบุค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการดูแลผู้ต้องขัง ดังนี้
รวมต้นทุนต่อหน่วยที่กรมราชทัณฑ์ใช้กับผู้ต้องขังหนึ่งคน คือ 44,511 และ 46,771 บาทสำหรับผู้ต้องขังคดียาเสพติด
สำหรับสถานการณ์ยาเสพติดในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่า ในปี 2564 มีการจับกุมเมทแอมเฟตามีนอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงในสัดส่วนถึงร้อยละ 88 ของการจับกุมในภูมิภาคฯ โดยประเทศไทยมีสถิติการจับยึดเมทแอมเฟตามีนได้มากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก
8 พฤศจิกายน 2564 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่กฎหมายเกี่ยวกับคดียาเสพติดใหม่ออกมาจำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 และพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 มีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไปในวันที่ 9 ธันวาคม และ 8 ธันวาคม 2564 ตามลำดับ
การเกิดขึ้นของกฎหมายยาเสพติดใหม่ มีสาระสำคัญว่าด้วยการ ‘มองผู้เสพเป็นผู้ป่วย’ เน้นนำวิธีทางสาธารณสุขเข้ามาแก้ปัญหาผู้เสพยา โดยใช้กระบวนการบำบัดรักษาฟื้นฟู โดยมีแนวทางคือ
กระบวนการแก้ไขปัญหาเสพติดของกฎหมายฉบับใหม่นี้ มีแนวคิดที่เน้นการใช้กระบวนการบำบัดรักษาและฟื้นฟู ในสัดส่วนที่มากกว่าการลงโทษทางอาญา หากผู้กระทำผิดเป็นผู้เสพยา กฎหมายกำหนดแนวทางให้ศาลพิจารณาคดีโดยคำนึงถึงการสงเคราะห์ให้ผู้เสพเลิกเสพด้วยการนำเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา มีการกำหนดแนวปฏิบัติของกระบวนการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้เสพอย่างชัดเจน มีศูนย์คัดกรองที่ทำหน้าที่ประเมินความรุนแรงของการติดยาและภาวะความเสี่ยงทางสุขภาพ รวมทั้งมีกระบวนการส่งต่อผู้เสพไปเข้ารับการบำบัดรักษายังสถานพยาบาลยาเสพติดและสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด และเมื่อกระบวนการบำบัดรักษาและฟื้นฟูเสร็จสิ้นแล้ว ยังมีมาตรการติดตามผู้ผ่านการบำบัดอยู่เป็นระยะอีกด้วย
จากการสำรวจพบว่า ในหลายประเทศยังคงใช้ไม้แข็งในการปราบปรามยาเสพติด แต่อีกหลายประเทศในยุโรป เลือกที่จะปรับเปลี่ยนแนวทาง โดยการทำให้คดียาเสพติดไม่ใช่ความผิดทางอาญา กระทั่งว่าบางประเทศก็ทำให้ถูกกฎหมายไปเลย โดยนำมาตรการทางสาธารณสุขหรือกฏหมายทางปกครองมาช่วย
ยกตัวอย่างในโปรตุเกส ประเทศที่เคยประสบปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดเป็นอย่างมากเช่นเดียวกับประเทศ ไทย จนกระทั่งในปี 2544 รัฐบาลโปรตุเกสได้มีแนวคิดในการปฏิรูปกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดอย่างน่าสนใจ โดยออกบทบัญญัติให้การเสพและครอบครองยาเสพติดทุกชนิดไม่เป็นความผิดอาญา หากเป็น การใช้ส่วนตัวและไม่เกินปริมาณที่รัฐกำหนด แต่ถือว่ายังผิดกฎหมายทางปกครอง ซึ่งแนวคิดนี้สวนทางกับความรู้สึกของนักกำหนดนโยบายยาเสพติดบางกลุ่มที่เห็นว่ากฎหมายดังกล่าวน่าจะทำให้ปัญหายาเสพติดในประเทศโปรตุเกส ขยายตัวมากขึ้น
แต่จากรายงานหลายฉบับพบว่า หลังจากใช้กฎหมายฉบับนี้จำนวนผู้ติดยาลดลง รวมทั้งยังมี ผลพลอยได้จากอัตราการลดลงของการใช้ยาเกินขนาด การติดเชื้อเอชไอวี เชื้อเอดส์และไวรัสบีจากการใช้เข็ม ฉีดยาร่วมกัน ซึ่งกรณีศึกษากฎหมายยาเสพติดของประเทศโปรตุเกสเป็นบทเรียนที่น่าสนใจสำหรับประเทศไทยเป็นอย่างไรมาก
โดยมาตรการกำหนดความผิดและการลงโทษของกฎหมายยาเสพติดในประเทศโปตุเกส บัญญัติว่า “การบริโภค การได้มา และการครอบครองเพื่อการบริโภคพืช สารส่วนบุคคลหรือการเตรียมต่าง ๆ ตามรายการในตารางที่ ได้มีการอ้างอิงในมาตราข้างต้นถือเป็นการละเมิดทางปกครอง”
ถึงอย่างนั้น ผู้ใช้ยาเสพติดยังคงต้องรายงานตัวกับคณะผู้เชี่ยวชาญที่สามารถสั่งการให้ส่งตัวไปบำบัดได้ แต่ไม่มีใครที่ต้องติดคุกเพราะการมียาเสพติดอยู่ในความครอบครอง อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าปริมาณการใช้ยาในประเทศโปรตุเกสได้เพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา แต่ก็ไม่มีสิ่งบอกเหตุที่ชัดเจนว่าการเพิ่มขึ้นนั้นเป็นเพราะการ เปลี่ยนแปลงทางกฎหมาย เพราะประเทศโปรตุเกสยังคงมีปัญหายาเสพติดที่ผิดกฎหมายอยู่ในระดับปานกลาง เมื่อเทียบกับประเทศที่เหลือในทวีปยุโรปส่วนใหญ่และประเทศสหรัฐอเมริกา แต่สถิติที่น่าสนใจคือ ตัวเลขผู้ติดยาเสพติดอายุระหว่าง 15-24 ปีมีจำนวนลดลง การใช้ยาเสพติดที่เป็นปัญหาก็ลดลง เช่น การใช้ยาเสพติดเกิน ขนาดหรือการติดเชื้อจากใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน และอัตราการเสพยาเสพติดแบบต่อเนื่อง (ระยะยาว) ลดลงเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม นโยบายของประเทศโปรตุเกส ไม่ใช่การทำให้ยาเสพติดเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย (drug legalization) การค้ายาเสพติดยังทำให้ผู้ค้าติดคุกได้เช่นเดิม ดังนั้นผู้เสพยาหรือผู้ที่จะเริ่มเสพยาเสพติดยังคงต้องพบเจอกับยาราคาแพงในตลาดมืด การปลอมปน และการ เสาะหาผู้ค้า เพราะผู้ค้าเองต้องพยายามหลบซ่อนตำรวจ การไม่ดำเนินคดีอาญากับผู้ครอบครองยาเสพติด (decriminalization) ต่างกับนโยบายที่กำหนดให้เฮโรอีนเป็นสินค้าที่ขายได้ทั่วไปเช่นเดียวกับเครื่องดื่ม แอลกอฮอล
ซึ่งในกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ของไทยนี้ มีมาตรการว่าด้วยการบำบัดฟื้นฟู สอดคล้องกับโปรตุเกสโมเดล ที่เน้นการจับและคัดกรองก่อน โดยตั้งคณะกรรมการยับยั้งการใช้สารเสพติด มีการตั้งศูนย์คัดกรอง การเข้าโปรแกรมบำบัด การพบแพทย์ การรับยาหรือสารทดแทน การทำกิจกรรมชุมชน การพบนักจิตวิทยา รวมไปถึงมีมาตรการทางสาธารณสุขที่อาศัยมาตรการทางชุมชนเข้ามาช่วยในการคุมประพฤติ มาตรการทางปกครองเกี่ยวกับการรายงานตัว การจำกัดการติดต่อกับบุคคลที่กำหนด การจำกัดการเดินทางที่เสี่ยงต่อการใช้สารเสพติดมากขึ้น การยึดใบขับขี่หรือใบประกอบวิชาชีพ เป็นต้น กระบวนการติดตามผลที่เป็นสิ่งสำคัญ การตั้งตัวชี้วัดที่ถูกต้อง ซึ่งจะอยู่ในประมวลกฎหมายยาเสพติดใหม่ของไทย
ในเรื่องของบทกำหนดโทษ ได้มีการยกเลิกโทษขั้นต่ำโดยไม่ลงโทษผู้เสพที่สมัครใจบำบัด ยกเลิกการรับโทษหนักขึ้นจากการพิจารณาที่แง่ปริมาณ เป็นการพิจารณาจากเหตุแห่งพฤติการณ์ร้ายแรงประกอบแทน
อุกฤษฏ์ ศรพรหม ผู้จัดการโครงการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ได้แสดงความเห็นต่อกรณีนี้ ในวงเสวนาวิชาการเมื่อปี 2564 ว่า มาตรการดังกล่าว มีประโยชน์ต่อประชาชนใน 2 ระดับ กล่าวคือ ในระดับปัจเจกชน ทำให้มีโอกาสสมัครใจบำบัด ไม่มีประวัติอาชญากร ไม่มีโทษขั้นต่ำ การกลับสู่สังคมได้ง่ายขึ้น และในระดับสังคมคือ จำนวนผู้ต้องขังลดลง งบประมาณของกรมราชทัณฑ์ที่ใช้ในการดูแลผู้ต้องขัง ก็จะลดลง และจะถูกใช้ในประโยชน์สาธารณะทางด้านอื่นๆ มากขึ้น
อ้างอิง