แค่เรื่องพลาสติกอุดลำไส้ 'มาเรียม' จนตายตัวอย่างเดียว ก็เห็นได้แล้วว่ามนุษย์เป็นต้นเหตุ 100 เปอร์เซ็นต์ ในสาเหตุการตายของสัตว์ป่า ซึ่งเอาเข้าจริงแล้ว กิจกรรมแทบทุกอย่างของเรายังเป็นตัวการสำคัญในการลดจำนวนของสัตว์ป่าอย่างต่อเนื่อง แม้แต่เรื่อง 'รสนิยมการกิน'
คอลัมน์ประวัติศาสตร์ปากว่างวันนี้ จึงขอเล่าเรื่องรสนิยมการกินที่มีแต่โบร่ำโบราณ ว่าเบียดเบียนสัตว์ป่าขนาดไหน ซึ่งรสนิยมเหล่านี้อาจไม่ซีเรียสมากในยุคสมัยหนึ่ง ด้วยทรัพยากรที่ยังไม่โดนมนุษย์ผลาญเท่าไหร่ แต่บางอย่างกลับยังเป็นค่านิยมที่ตกทอดมาถึงปัจจุบัน อันนี้สิน่ากลัว....
ใช่! คุณอ่านไม่ผิดหรอก ในอดีตเรากินแรดกันจริงๆ เพราะแม้แรดเป็นสัตว์ดุร้ายและอันตรายมาก ขนาดในวรรณคดีต่างๆ เวลากล่าวถึงแรดก็มักจะมีคำว่า 'ร้าย' เป็นคำสร้อยต่อท้ายเสมอ แต่ถึงจะน่ากลัว ก็ห้ามปากห้ามท้องมนุษย์ผู้หิวโหยไม่ได้ ในตำรากับข้าวของหม่อมส้มจีน ภรรยาของพระยาราชานุประพันธ์ (สุดใจ บุนนาค) บอกว่าในเมนูแกงคั่วส้มเนื้อหมูกับปลิงทะเล สามารถใส่ 'หนังแรด' เคี่ยวให้เปื่อยแทนปลิง "มีรสแปลกไปได้อีกรสหนึ่ง"
รสแปลกที่ว่าคืออย่างไรไม่ทราบแน่ แต่ 'ฌัง-บัปติสต์ ปาลเลกัวซ์' (Jean-Baptiste Pallegoix) สังฆนายกคณะมิซซังโรมันคาทอลิกประจำประเทศสยาม สมัย ร.4 เป็นคนหนึ่งที่เคยได้ลิ้มรสแรดหลายครั้งหลายหน เขาบันทึกถึงความเชื่อในบ้านเราว่า นอและหนังแรดเป็นอาหารอย่างวิเศษและเป็นยาบำรุงสำหรับคนไม่ค่อยแข็งแรง วิธีปรุงแรดก็คือ
"ปิ้งหนังนั้นเสียก่อน ครั้นขูดรอยไหม้เกรียมออก แล้วก็หั่นเป็นชิ้นๆ และต้มเข้ากับเครื่องเทศให้นานหน่อย จนกระทั่งเปื่อยเป็นยางเหนียวและใส"
อารมณ์ประมาณซุปแรด หรือกินกาวหนังสัตว์ ซึ่งไม่น่าให้คุณค่าอะไรไปมากกว่าคอลลาเจนแบบเดียวกับที่มีในต้มซุปเปอร์ตีนไก่
แต่ความเชื่อว่าแรดเป็นของดีที่แพร่หลายในเอเชีย ก็ทำให้ "นอ-หนังแรด" กลายเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของสยามในยุคนั้น เทียบชั้นได้กับหนังช้าง หนังควาย หรือขี้ผึ้ง ด้วยเหตุนี้จึงมีอาชีพนักล่าสัตว์ร้ายในสยาม รวมถึงการ "ล่าแรด" ที่ต้องอาศัยความบ้าบิ่นและความชำนาญเป็นพิเศษ
ปาลเลกัวซ์ บันทึกว่าชาวเมืองจันทบุรีมีวิธีการล่าแรดที่น่าดูมาก (ทำไมชอบดูการฆ่าสัตว์ล่ะพ่อคุณ) โดยจะออกล่าด้วยลำไม้ไผ่เสี้ยมปลายแหลมลนไฟจนแข็ง เมื่อแกะรอยแรดจนเจอตัว ก็จะโห่ร้องปรบมือยั่วให้แรดโกรธวิ่งสวนออกมา จังหวะนี้นักล่าแรดจะแทงไม้ไผ่เข้าไปในปากแรดแล้วแยกย้ายกันหลบหนี ทิ้งให้แรดเลือดออกจนหมดแรงแล้วค่อยออกมาสำเร็จโทษ โหดสัสรัสเซียมากๆ
การกินแรดหรือการล่าแรดในสยาม เป็นเรื่องผิดเมื่อมีการออกพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 คุ้มครองสัตว์ป่าเลี้ยงลูกด้วยนมจำนวน 9 ชนิด รวมถึง 'แรด' ด้วย แต่ในเชิงข้อเท็จจริง ไทยเรามีแรดอยู่ 2 สายพันธุ์ คือ แรดชวา และแรดสุมาตรา หรือกระซู่ ปัจจุบันแทบจะเรียกได้ว่าสูญพันธุ์ พบไม่ได้ในป่าธรรมชาติ และไทยยังเป็นศูนย์กลางค้านอแรดแอฟริกาพอๆ กับการค้างาช้าง
โดยทุกวันนี้นอแรดเป็นที่เสาะหาสะสมกันในแง่เครื่องรางราคาแพงร้องจ๊าก แต่ความเชื่อในสรรพคุณทางยาก็ยังมีอยู่ เมื่อหลายปีก่อนนักอนุรักษ์ในแอฟริกาเลยปิ๊งไอเดียฉีดสารที่ไม่อันตรายต่อแรด แต่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ลงไปในนอแรดแบบตัวเป็นๆ
สารที่ฉีดเข้าไปจะย้อมนอเป็นสีแดงให้รู้กันในวงการพรานว่า 'นอนี้มีสารพิษเจือปน' จะได้หมดแรงจูงใจฆ่าแรดเพื่อเอานอ เพราะเอาไปก็กินไม่ได้อยู่ดี เป็นไอเดียที่น่าสนใจ แต่ไม่รู้แรดบ้านเราเหลือพอให้ทดลองฉีดดูรึเปล่า
ปาลเลกัวซ์ เจ้าเดิมบอกว่าสยามยุค ร.4 "มีกวางมากเป็นฝูงๆ" เมื่อน้ำท่วมป่ามันก็อพยพขึ้นเนินและหน้าน้ำนี่เองที่เป็นฤดูกาลล่ากวางอย่างเมามันส์
"พวกมันถูกล่าอย่างไม่ปราณี ผู้ชายแข็งแรงหลายคนลงเรือพายเข้าไปในท้องทุ่งที่น้ำท่วม พวกกวางเมื่ออยู่ในน้ำก็วิ่งไม่ได้เร็วขลุกขลักอยู่ในพงหญ้า จึงเข้าถึงตัวได้ง่ายและลงมือบ้อม (บ้อม แปลว่า ทำร้ายด้วยการทุบตี) เสียด้วยตะบองใหญ่ๆ หรือไม่ก็ยิงในระยะเผาขน ...พวกพรานจะแล่เนื้อกวางขนาดงามๆ มาขายให้แก่ท่านเพียงชิ้นละ 4 ฟรังก์เท่านั้น"
กวางมักถูกปรุงอย่างง่ายๆ ด้วยวิธี 'ย่าง' เช่น ในขุนช้างขุนแผนบอกว่า "พริกกะเกลือเนื้อกวางเอาย่างไว้" ขณะที่สุนทรภู่ เขียนไว้ในนิราศเมืองแกลงว่า "ได้กะต่ายตะกวดกวางมาย่างแกง" แต่การล่าเพื่อกินอาจไม่ใช่สาเหตุหลักที่ทำให้สัตว์ตระกูลกวางในบ้านเราลดลงอย่างฮวบฮาบ จนบางชนิด เช่น สมัน ติดบัญชีสัตว์สูญพันธุ์
'จอห์น ครอว์เฟิร์ด' (John Crawfurd) ทูตอังกฤษที่เข้ามาในสยามสมัย ร.2 รายงานว่าสินค้าหนังสัตว์ที่สำคัญของสยาม คือ 'หนังกวาง' พวกฮอลันดาเคยขนจากสยามไปขายญี่ปุ่นถึงปีละ 150,000 แผ่น
ในสมัยอยุธยา ญี่ปุ่นรับซื้อหนังกวางจำนวนมหาศาลเพื่อทำชุดซามูไร โดยการส่งออกหนังกวางของสยามยังฟู่ฟ่าแม้จนถึงสมัย ร.4 โดย "พระสยามธุรานุรักษ์" (แอ็ม อา เดอ เกรอัง - M.A. de Gre'han) ราชทูตฝรั่งเศสที่ภายหลังได้รับการแต่งตั้งเป็นกงสุลสยามประจำกรุงปารีส บันทึกว่าหนังกวางบ้านเราหาง่ายมาก ราคาแค่ 3-5 บาทต่อหาบ ส่วนเขากวางก็เยอะไม่ยิ่งหย่อนกัน หาซื้อได้ในราคา 3-7 บาทต่อหาบ
ในวิชานาฏศิลป์ตอนเด็กๆ ตอนฝึกร้องฝึกรำเพลงเต้นกำรำเคียว มันจะมีท่อนนึงที่ร้องว่า "ไม่ว่าเนื้อเสือ เนื้อช้าง ย่างไปฝากเมียเอย" ฟังแล้วงงนิดๆ ว่าเสือมันน่ากินตรงไหน
ปรากฏว่าเมื่อลองไปค้นๆ หนังสือดู ปาลเลกัวซ์ก็เล่าไว้เหมือนกันนั่นแหละว่าบ้านเรากินเสือจริงๆ โดยในหนังสือ "เล่าเรื่องกรุงสยาม" บอกว่าพรานไทยบางคนยิงเสือได้ปีละ 20 ตัว โดยใช้วิธีไปดักซุ่มบนต้นไม้ใกล้หนองน้ำที่เสือและกวางซึ่งเป็นอาหารของเสือลงไปดื่ม โดยหนังสัตว์นั้นขายให้คนจีน เนื้อเอาไปตากแห้ง ที่สำคัญคือ ปาลเลกัวซ์บอกว่าในระยะเวลาปีหนึ่งที่อยู่ในบ้านเรา เขาเห็นการส่งออก 'กระดูกเสือ' ไปต่างประเทศถึง 70 หาบ คิดเล่นๆ ตามมาตราวัดไทย 1 หาบเท่ากับ 60 กิโลกรัม เท่ากับว่าส่งออกกระดูกเสือ ถึง 4.2 ตัน
การตายของเสือแต่ละครั้งสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ เป็นสินค้าขายดีที่ต้องแย่งกันซื้อ ขนาดสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เคยเล่าไว้ใน 'นิทานโบราณคดี' ว่าอยากจะได้หนังและกระโหลกของเสือใหญ่กินคนเมืองชุมพรที่ถูกล้อมปราบจนสิ้นชื่อ ก็ยังซื้อไม่ทันคนจีนที่เอาไปทำยา ขณะที่คนไทยก็ไม่น้อยหน้า ใช้เขี้ยวเสือ กระดูกเสือ น้ำมันเสือ เป็นส่วนประกอบสูตรยาต่างๆ มากมาย ทั้งแก้รากสาด แก้ปวดข้อ บำรุงกระดูก แก้ผมหงอกก่อนวัย ฯลฯ
เอาเข้าจริงแล้วชิ้นส่วนเสือก็คงไม่ต่างจากสัตว์อื่นๆ หรอก ที่ประกอบไปด้วยโปรตีน เผลอๆ กินไก่ยังจะได้รับโปรตีนมากกว่า แต่สมัยนี้ก็ยังมีคนเชื่อเรื่อง 'ตัวเดียวอันเดียวเสือ' 'ยาดองกระดูกเสือ' ฯลฯ ว่าป็นยาโด๊ปชั้นดี ทำให้การลักลอบค้าเสือเพื่อรสนิยมการกินแปลกๆ ยังมีอยู่
และถ้าความเชื่อไม่เปลี่ยนสักที อีกหน่อยคงเหลือแต่มนุษย์กับแมลงสาบที่จะมีชีวิตอยู่บนโลก