การก่ออาชญากรรมในโลกไซเบอร์ที่เกี่ยวข้องกับเกาหลีเหนือที่ผ่านมา เหมือนจะถี่ขึ้นและอันตรายมากขึ้น แม้ยังไม่สามารถระบุได้ว่าใครเป็นผู้ก่อเหตุที่แท้จริง แต่หลายคนก็เริ่มตั้งข้อสงสัยว่า ประเทศเผด็จการและยากจนอย่างเกาหลีเหนืออาจมีกองทัพไซเบอร์อยู่ในมือก็เป็นได้
เกาหลีเหนือ ประเทศที่ล้าหลังด้านเทคโนโลยีมากที่สุดประเทศหนึ่งของโลก ประชาชนส่วนใหญ่ ไม่ได้รับโอกาสให้ใช้งาน worldwide web และแม้ว่าจะมีระบบอินเทอร์เน็ตเป็นของตัวเอง แต่ก็ต้องใช้งานผ่านผู้ให้บริการในประเทศจีน อย่าง China Netcom อยู่ดี ทำให้ระบบอินเทอร์เน็ตของประเทศนี้ ไร้เสถียรภาพพอสมควร
ปัจจุบัน เกาหลีเหนือมีเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเพียง 4 เครือข่ายเท่านั้นที่สามารถเชื่อมต่อกับระบบอินเทอร์เน็ตทั่วโลกได้ แตกต่างจากสหรัฐฯอย่างลิบลับ เพราะสหรัฐฯมีมากถึง 150,000 เครือข่าย
แม้จะมีระบบอินเทอร์เน็ต ที่ไร้เสถียรภาพขนาดนี้ แต่เกาหลีเหนือก็มีกองทัพไซเบอร์ cyberarmy นับพันคน ที่ทำหน้าที่ในการเจาะฐานข้อมูลสำคัญๆ ตามคำสั่งของผู้นำระดับสูงของเกาหลีเหนือ
โดยเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ New York Post รายงานโดยอ้างอิงจากคำให้สัมภาษณ์ของอดีตหัวหน้าสายลับของเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นชาวเกาหลีเหนือผู้แปรพักตร์ ระบุว่า เกาหลีเหนือมีแฮ็กเกอร์มืออาชีพ มากถึง 1,000 - 3,000 คน ซึ่งตัวเลขดังกล่าว ตรงกับข้อมูลของหน่วยสืบราชการลับของเกาหลีใต้ ที่มีการเผยแพร่ออกมาเมื่อ 4 ปีก่อน อีกทั้ง ยังเป็นข้อมูลลับของเกาหลีเหนือ ที่รั่วออกมาในปี 2552 อีกด้วย
ซึ่งแม้ข้อมูลดังกล่าวจะเป็นข้อมูลเก่าเมื่อหลายปีมาแล้ว แต่ก็เป็นการยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า สิ่งที่เรียกว่า cyberarmy ในเกาหลีเหนือนั้น อาจจะมีอยู่จริง อีกทั้ง หน่วยโจมตีทางไซเบอร์เหล่านี้ ยังถูกฝึกมา เพื่อการแฮ็กข้อมูลสำคัญๆ ซึ่งเกาหลีใต้และสหรัฐฯมักตกเป็นเหยื่อเสมอ
คิมฮึงกวัง ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีของเกาหลีเหนือ ซึ่งปัจจุบันแปรพักตร์มาอยู่ฝ่ายเกาหลีใต้เมื่อ 10 ปีก่อน เปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมว่า เขาเคยได้รับมอบหมายให้ฝึกอบรมนักศึกษา ที่มหาวิทยาลัยอุตสาหกรรมของเกาหลีเหนือในเมืองฮัมฮึง นานกว่า 20 ปี ก่อนที่จะตัดสินใจหลบหนีออกมาในปี 2546 โดยการฝึกอบรมดังกล่าว มีจุดหมายเพื่อการเป็นแฮ็กเกอร์โดยเฉพาะ
โดยเมื่อประมาณ 5 ปีก่อน นายคิมจองอิล ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือในยุคนั้น ได้สั่งให้เพิ่มจำนวน cyberarmy เป็น 3,000 คน ซึ่งนายคิมฮึงกวังเชื่อว่า หลังจากนั้นเป็นต้นมา คงมีการเฟ้นหาคนที่จะมาเป็นแฮ็กเกอร์มากขึ้นเรื่อยๆ โดยบางคนถูกส่งไปเรียนเพิ่มเติมที่จีนหรือรัสเซียอีกด้วย
ความเคลื่อนไหวดังกล่าว ที่เกิดขึ้นในเกาหลีเหนือนั้น เกาหลีใต้รับรู้เป็นอย่างดี และได้เฝ้าระวังเรื่องนี้มานานแล้ว โดยมีหน่วยติดตามการแฮ็กข้อมูลของเกาหลีเหนือโดยเฉพาะ นอกจากนี้ ยังมีการเตรียมความพร้อม เพื่อรับมือกับการโจมตีในโลกไซเบอร์อยู่บ่อยครั้ง ดังนั้น จึงไม่ต้องแปลกใจว่าเมื่อเกิดกรณีที่โซนี่ พิคเจอร์สถูกแฮ็ก เกาหลีใต้ จึงพุ่งเป้าไปที่เกาหลีเหนือก่อนเป็นอันดับแรก ในฐานะของประเทศที่เคยรับมือกับการถูกแฮ็กในลักษณะเช่นนี้มาก่อนนั่นเอง