สัปปายะสภาสถาน – รัฐสภาแห่งศีลธรรม?
เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2552 มีการตัดสินผลการประกวดออกแบบอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ซึ่งจะทำการก่อสร้างขึ้นในย่านเกียกกาย แบบอาคารที่ชนะการประกวด คือ “สัปปายะสภาสถาน” ของกลุ่มของนายธีรพล นิยม ที่สถาปนิกเปิดเผยว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่ได้แรงบันดาลใจในการออกแบบมาจากแบบแผนของ “ไตรภูมิ” ตามคติพุทธ
เป้าประสงค์หลังของทีมออกแบบต้องการให้รัฐสภาแห่งใหม่นี้ มีสถานะเป็นเหมือนเขาพระสุเมรุในยุคสมัยใหม่ เพื่อช่วยฟื้นฟูวิกฤตทางศีลธรรมของสังคมไทยในปัจจุบัน
(ในเอกสารเผยแพร่ระบุว่า ทางผู้ออกแบบต้องการ “สถาปนา ‘เขาพระสุเมรุ’ ครั้งใหม่ในยุครัตนโกสินทร์...เพื่อนำสังคมไทยสู่ภาวะ ‘บังอบายเบิกฟ้า ฝึกฟื้นใจเมือง’ ”)
แนวคิดในการแก้วิกฤตด้านการเมืองด้วยธรรมะ และคติในพุทธศาสนา กลายเป็นจุดหมายปลายฝันที่หลายฝ่ายหยิบยกขึ้นมา โดยต่างก็ชูธงให้ความศรัทธาในพุทธศาสนาเป็นพิมพ์เขียวในการปฎิบัติ เพื่อความหลุดพ้นในวังวนด้านการเมือง ซึ่งถ้าฟังเผินๆ ก็อาจจะเห็นว่าเป็นทางที่เหมาะที่ควร แต่แท้ที่จริงแล้ว หลายฝ่ายอาจจะหลงลืมไปว่า เรื่องของ “ประชาธิปไตย” ไม่มีความหมายครอบคลุมเพียงเขตพัทธสีมา แต่ในโลกประชาธิปไตยของไทย ยังมีบุคคลอีกหลายชาติ หลายศาสนาอาศัยอยู่
ดังนั้น หากจะมีออกแบบสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เพื่อเป็นตัวแทนของประชาธิปไตยที่แท้จริง ก็ควรเคารพหลักความเสมอภาค เท่ากันทุกศาสนา มิใช่หรือ..
คำถามที่เกิดขึ้นมากมาย เกี่ยวกับความไม่ชอบมาพากล ในการออกแบบรัฐสภาแห่งใหม่ของไทยนี้เอง เป็นที่มาของรายการคิดเล่นเห็นต่างกับคำผกา ที่จะมาชวนคุณผู้ชม คิด คิด และคิด เรื่องรัฐสภา ซึ่งทีมงานรับรองว่า เทปนี้นอกจากจะมีสาระที่หนักหน่วงเหมาะกับธีมรายการในวันอาทิตย์ เนื้อหาที่เราชวนมาคิด ยังเสริมสร้างสติปัญญา และยังเป็นการพัฒนาความคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตยให้คุณผู้ชมอีกด้วย
(บทความที่เกี่ยวข้อง)
- ประชาธิปไตยที่ตีนเขา [พระสุเมรุ]ว่าด้วยอำนาจของภาษาสถาปัตยกรรมในอาคารรัฐสภาใหม่ โดย ชาตรี ประกิตนนทการ,
- สัมภาษณ์ ชาตรี ประกิตนนทการ: แบบรัฐสภาใหม่ ความหมายเดิมๆ เว็บไซต์ประชาไท
- อภิสิทธัตถะ-สัปปายะสภาสถาน: ศิลปะวัตถุแห่งราชาชาตินิยม พ.ศ.2553/Archiculture Cross Section)
- แนะนำหนังสือ ศิลปะสถาปัตยกรรมคณะราษฏร์ โดยสำนักพิมพ์ศิลปวัฒนธรรม
Produced by VoiceTV