ถ้ารัฐคิดจะป้องกันการคอร์รัปชัน แค่เปิดเผยข้อมูลก็ป้องกันก็ได้แล้ว กลยุทธ์ต้านโกงที่ดีที่สุดโดยที่ไม่ใช้เงิน คือ ให้รัฐเปิดเผยข้อมูลมาให้มากที่สุด
ไทยนับเป็นประเทศที่ 2 ในเอเชียตะวันออกที่มี “พระราชบัญญติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540” รองจากเกาหลีใต้เพียงหนึ่งปี ในขณะที่ประเทศอื่นอย่างญี่ปุ่น อินเดีย จีน และอินโดนีเซีย มีกฎหมายนี้ใช้ในภายหลัง และในภูมิภาคอาเซียนมีเพียงไทยและอินโดนีเซียเท่านั้น
“พระราชบัญญติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540” เกิดจากการปฏิรูปการเมืองในช่วงปี พ.ศ. 2535-2540 เริ่มจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ระหว่างวันที่ 17-20 พฤษภาคม 2535 เกิดการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจทหารกับประชาชน ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก ในขณะเดียวกันรัฐบาลกลับออกแถลงการณ์ผ่านสื่อว่าไม่มีการเสียชีวิตของประชาชนเลย พร้อมทั้งแพร่ภาพผู้ประท้วงขณะทำลายทรัพย์สินราชการเท่านั้น มีเพียงสำนักข่าวบีบีซีและซีเอ็นเอ็นเท่านั้นที่ถ่ายทอดภาพที่ทหารใช้ความรุนแรงปราบปรามประชาชน
จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มีการเรียกร้องประชาธิปไตย แสวงหาความจริง พร้อมทั้งตั้งคำถามถึงความโปร่งใสของการบริหารประเทศของรัฐบาล จึงเกิดพระราชบัญญัตินี้ขึ้น
อุปสรรคของ Open Data ในประเทศไทย
สฤนี อาชวนันทกุล ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ไทยพลับลิก้า ผู้มีเรี่ยวแรงสำคัญที่สุดคนหนึ่งของขบวนการ Open Data ในเมืองไทย เคยให้ความเห็นว่า อุปสรรคของโอเพ่นดาต้าของไทย คือ โลกทัศน์
โลกทัศน์ที่อาจจะเป็นปัญหาเหมือนกันก็คือโลกทัศน์ของสังคมไทย ต้องยอมรับว่าวัฒนธรรมไทยเราไม่ใช่สังคมของข้อมูลข่าวสาร ตอนนี้อาจจะมีทิศทางแบบนั้นเพราะเรามีโซเซียลมีเดีย เรามีการแชร์ข้อมูลต่างๆ นานา เรามีนักสืบพันทิป ซึ่งจะเห็นว่าหลายกรณีที่เกิดเป็นกระแสสังคมขึ้นมาก็เป็นเพราะว่ามีการทำงานของประชาชนธรรมดา ที่พยายามจะเอาข้อมูลออกมาแลกเปลี่ยนและตีความ คุยกัน แต่กระนั้นก็ตาม โดยรวมเรายังไม่ใช่สังคมที่เวลาเกิดประเด็นอะไรแล้วจะมองหาข้อมูล เราเป็นสังคมที่ยังยึดติดกับแนวคิดของผู้เชี่ยวชาญของผู้รู้ เวลาเกิดเรื่องอะไร เราจะบอกว่าใครรู้เรื่องนี้บ้าง ไปคุยกับคนที่รู้เรื่องนี้ แทนที่จะคิดว่าข้อมูลนี้อยู่ตรงไหน แทนที่จะวิ่งไปหาแหล่งว่า ต้นทางปฐมภูมิมันอยู่ตรงไหนบ้าง เพราะฉะนั้น คิดว่าตัวสังคมเราเองก็ยังไม่ใช่สังคมแห่งข้อมูลข่าวสาร
ดังนั้น การที่จะมีหลายๆ ฝ่ายร่วมกันผลักดัน ไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือเอกชนหรือประชาชน ถ้าผลักดันโครงการต่างๆ ที่ดันไปสู่แนวคิดของ open data นี่ คิดว่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนเกิดการตื่นตัวมากขึ้น แล้วก็ถ้าเกิดการตื่นตัวมากขึ้น ก็อาจจะเรียกร้องหาผู้เชี่ยวชาญน้อยลง
ข้อเรียกร้องจากนักวิชาการที่มีต่อรัฐในเรื่องโอเพ่นดาต้า
"ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์" ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เสนอว่า
สิ่งที่รัฐต้องดำเนินการมี 3 เรื่อง
1. นโยบายการสร้างข้อมูล ต้องมีข้อมูลที่ดี แม่นยำ ทันเหตุการณ์ เชื่อถือได้ ได้มาตรฐาน สร้างมาตรฐานให้กับหน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศ โดยสำนักงานสถิติฯ
2. นโยบายการใช้ข้อมูล ต้องเชื่อมโยงกัน โดยสภาพัฒน์ลดค่าใช้จ่ายที่สูญเปล่าและเพิ่มงบประมาณให้หน่วยงานที่จำเป็นในการเชื่อมโยงข้อมูล และรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
3. นโยบายในการใช้ข้อมูลในการกำหนดนโยบาย โดยต้องปรับปรุงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 และประกาศเป็นโอเพ่น กัฟเวิร์นเมนต์ดาต้า ต้องมีกฎหมายคุ้มครองส่วนบุคคล
"ถ้าจะป้องกันการคอร์รัปชั่น รัฐแค่เปิดเผยข้อมูลก็ป้องกันคอร์รัปชั่นได้แล้ว เพราะเชื่อว่ามาตรการหรือกลยุทธ์ที่ดีที่สุดโดยที่ไม่ใช้เงิน คือ ให้รัฐเปิดเผยข้อมูลมาให้มากที่ สุด ดังนั้น ในงานวิจัยก็พยายามยกตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรมถึงพลังของข้อมูล ถ้ารัฐเปิดเผยข้อมูลแล้วจะใช้ข้อมูลมาป้องกันการคอร์รัปชั่นได้อย่างไร"
Source:
http://thaipublica.org/events/thaipublica-naum-21-9-2558-5/
https://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1490259422
https://worldjusticeproject.org/