กลุ่มนักท่องเที่ยวจีนเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมในการจับจ่ายใช้สอยระหว่างท่องเที่ยว โดยเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ชาวจีนเดินทางมายังไทยเพิ่มขึ้น โดยรวมถึงการเข้ารับบริการทางการแพทย์ ช่วยให้ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนของไทยกระเตื้องขึ้นด้วย
เว็บไซต์บลูมเบิร์ก สื่อวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจของอังกฤษ เผยแพร่บทความเกี่ยวกับภาพรวมด้านการท่องเที่ยวเชิงแพทย์ในประเทศไทยช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา พบว่าสถิตินักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาเข้ารับการรักษาพยาบาลในระหว่างพำนักอยู่ในไทยช่วงเดือนสิงหาคม มีจำนวนมากกว่า 9 แสน 8 หมื่นคน ซึ่งเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 10.30 เมื่อเทียบกับสถิตินักท่องเที่ยวจีนกว่า 8 แสน 9 หมื่นคนที่เดินทางมายังไทยในช่วงเดียวกันนี้เมื่อปีที่แล้ว ทำให้รายได้รวมที่ไทยได้รับจากนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.71 หรือคิดเป็นเงินกว่า 5 หมื่น 2 พัน 6 ร้อยล้านบาท
บลูมเบิร์กระบุว่าสถิตินักท่องเที่ยวจีนที่เพิ่มขึ้นช่วยให้ผลประกอบการสนามบินและโรงแรมกระเตื้องขึ้น แต่สิ่งที่น่าจับตามองก็คือรายได้ของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในไทยก็กระเตื้องขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ซึ่งมีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 16 เมื่อเทียบกับผลประกอบการที่สำรวจได้เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา
นักท่องเที่ยวชาวจีนเป็นกลุ่มลูกค้าโรงพยาบาลที่เริ่มจะขยายตัวเป็นกลุ่มใหญ่ขึ้น ซึ่งกระแสดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย แต่ยังรวมถึงประเทศอื่นๆ ในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งทั้งสามประเทศพยายามส่งเสริมกระแสการท่องเที่ยวเชิงแพทย์เพิ่มขึ้น โดยตั้งเป้าว่าจะดึงดูดกลุ่มลูกค้าจากประเทศแถบตะวันออกกลางและจีน
ลอรา เนลสัน คาร์นีย์ นักวิเคราะห์จากบริษัทเบิร์นสตีน เปิดเผยกับบลูมเบิร์กว่าญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ยังเป็น 2 ประเทศหลักที่มีจุดขายที่แข็งแกร่งด้านการท่องเที่ยวเชิงแพทย์ในเอเชีย โดยบริการที่ได้รับความนิยมมากที่สุดเกี่ยวข้องกับเวชสำอางและการเสริมความงาม โดยเฉพาะบริการชะลอวัยที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสเต็มเซลล์ แต่นักท่องเที่ยวชาวจีนจำนวนมากมองว่าประเทศไทยเป็นทางเลือกใหม่ที่น่าสนใจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีการส่งเสริมธุรกิจในด้านนี้อย่างเป็นระบบจากทั้งภาครัฐและเอกชน
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงแพทย์มีแนวโน้มว่าจะเผชิญกับการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะรัฐบาลอินโดนีเซียได้ประกาศว่าจะสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจด้านนี้เช่นกัน โดยหนังสือพิมพ์จาการ์ตาโพสต์ สื่อของอินโดนีเซีย รายงานว่านับตั้งแต่ปี 2006 เป็นต้นมา ชาวอินโดนีเซียประมาณ 3 แสน 5 หมื่นคนเดินทางออกนอกประเทศเพื่อไปรับการรักษาพยาบาล และใช้จ่ายเงินทั้งหมดกว่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1 หมื่น 7 พันล้านบาท จึงจำเป็นต้องพัฒนาระบบการแพทย์และบริการเหล่านี้ให้รองรับได้ทั้งชาวอินโดนีเซียและชาวต่างชาติ
รัฐบาลอินโดนีเซียเตรียมพิจารณาผลักดันให้เกาะบาหลีเป็นพื้นที่นำร่องด้านการวางระบบและพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของประเทศ เพราะเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติอยู่ก่อนแล้ว แต่ที่ผ่านมีเฉพาะบริการด้านสปาเท่านั้นที่ได้รับความนิยม ส่วนการพัฒนาธุรกิจท่องเที่ยวเชิงแพทย์ในอินโดนีเซียอื่นๆ อาจต้องเริ่มต้นตั้งแต่การวางหลักสูตรเพื่อผลิตและพัฒนาบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงการประสานงานกับหน่วยงานท้องถิ่นและเอกชนที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของธุรกิจนี้ในอนาคต