รายการ Talking Thailand ประจำวันที่ 6 สิงหาคม 2563
“คำผกา” เสียงสั่นและสะเทือนใจ หลังเห็นภาพคนตกงานอีกแล้ว แถมบางคนยังไม่ได้รับเงินชดเชย และไร้การเหลียวแล ซัดรัฐบาล “ประยุทธ์” ไร้ความสามารถในการบริหารประเทศ ไม่มีฝีมือ ไม่มีศักยภาพ และไม่มีแม้แต่ความพยายามที่จะทำให้เห็น ...งานนี้ต่อให้ไม่นับ “ทักษิณ” รัฐบาลอื่น ๆ ก็ดีกว่านี้
“อ.วิโรจน์” ชี้หลายโรงงานที่ปิด ไม่ใช่เจ๊ง แต่เขาย้ายฐานการผลิตไปที่อื่น ที่รัฐบาลไม่มีแนวนโยบายไม่เพียงพอที่จะรั้งให้ต่างชาติอยู่เพื่อจ้างงานคนไทยต่อ
งานที่รอนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการ และนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงแรงงาน ก็คือการปิดกิจการและการเลิกจ้างจากผลกระทบโควิด และจากภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่ อย่างกรณีแฟนเพจ อมตะซิตี้วันนี้ โพสต์ภาพพนักงานโรงงานผู้ผลิต “สิ่งอำนวยความสะดวกในตัวตึกและอาคาร” ที่ตั้งในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี ยื่นใบสมัครใจลาออกเกือบ 900 คน จากยอดที่บริษัทต้องการปลดแค่ 428 คน หลังเห็นข้อเสนอบริษัทที่ให้ค่าตอบแทนค่อนข้างสูง อาทิ คนที่ทำงาน 20 ปี จะได้ชดเชยตามกฎหมาย 400 วันแล้ว บริษัทจะจ่ายชดเชยพิเศษอีก หากอายุต่ำกว่า 53 ปี จะเพิ่มอีก 24 เดือน หากอายุ 54 ปี (เข้าเกณฑ์เกษียณอายุ) จะได้ชดเชยเพิ่มอีก 19 เดือน หรือทำงานมากกว่า 1 ปี แต่ไม่ถึง 3 ปี จะได้ชดเชยตามกฎหมาย 90 วัน (3 เดือน) และได้เงินพิเศษอีก 13-18 เดือน เป็นต้น
ก่อนหน้านี้ ในเพจเดียวกัน ได้แชร์ข่าวเมื่อ 23 ก.ค. 63 พบผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ในนิคมฯ ทยอยเรียกพนักงานที่ถูกเลิกจ้างงานเข้าเซ็นหนังสือรับทราบ หลายคนยังไม่เห็นหนทางไปต่อ เพราะอยู่มานาน
และเมื่อวันที่ 31 ก.ค. ยังมีกรณีโรงงานชุดชั้นใน-ชุดว่ายน้ำใน อ.เมืองนครสวรรค์ ประกาศเลิกจ้างพนักงานกว่า 800 ชีวิต หลายคนตกงานอย่างไม่ทันเตรียมใจ แม้ก่อนหน้านี้ โรงงาน ได้ปลดคนงานกว่า 2,000 คน หลังประสบกับปัญหาขาดทุนอย่างหนัก จนกระทั่งเกิดปัญหาโควิด-19 จึงปิดตัวชั่วคราวนานกว่า 3 เดือน และเมื่อถึงกำหนด ให้พนักงานกลับเข้าทำงาน ก็มาติดรายชื่อพนักงานกว่า 800 ชีวิต ที่ถูกเลิกจ้างงานกะทันหัน และปิดโรงงานชั่วคราวแบบไม่มีกำหนด ทำให้พนักงานทั้งหมด วิตกกังวลว่า เงินเดือนที่โรงงานเคยค้างจ่ายก่อนหน้านี้ จะได้รับเงินส่วนค้างที่เหลือนี้หรือไม่
อีกรายตกงานมานานกว่า 4 เดือน แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับเงินชดเชยจากนายจ้าง โดยผู้สื่อข่าวจังหวัดมุกดาหาร ได้รับการร้องเรียนจากหญิงวัย 38 ปี อาศัยอยู่ ใน อ.เมืองมุกดาหาร ว่าเคยทำงานที่โรงงานทอผ้า ใน จ.สมุทรปราการ กว่า 9 ปี ต่อมาในเดือน เม.ย. ที่เกิดการระบาดโควิด-19 บริษัทได้คัดคนงานออก 8 คน รวมทั้งหญิงรายนี้ ที่ขณะนั้นตั้งครรภ์ และใกล้คลอด
ตอนนี้เธอยังไม่ได้รับเงินชดเชยแม้แต่บาทเดียว ตั้งแต่ออกจากงานร่วม 4 เดือน โดยต้องการให้เจ้าของโรงงานรับผิดชอบ เพราะค่าใช้จ่ายมีมาก โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายของลูกที่เพิ่งคลอด ขณะที่ พี่สาวที่ตนมาอาศัยอยู่ด้วย ก็ไม่แข็งแรง มีปัญหาตาทั้ง 2 ข้าง
ก่อนหน้านี้ มีเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงาน โทรศัพท์แจ้งว่า เธอจะได้รับเงินก่อน 24,000 บาท แต่เธอต่อรองที่ 50,000 บาท เพื่อหวังมาใช้เป็นทุนค้าขาย อีกทั้งรอเงินชดเชยมานาน ตั้งแต่คลอดลูก และทราบว่าโรงงานยังเปิดปกติ มีออเดอร์ตลอด