นักวิจัยในสวิตเซอร์แลนด์ค้นพบว่าในอนาคต กาแฟ หรือ สารคาเฟอีนในกาแฟ อาจเป็นกลไกสำคัญในการรักษาผู้ป่วยเบาหวาน แทนการฉีดอินซูลีน
ทีมนักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งสวิสพัฒนาสารแทนอินซูลินที่สามารถกระตุ้นให้ออกฤทธิ์ได้โดยคาเฟอีนในกาแฟ ซึ่งอาจนำไปต่อยอดเป็นวิธีควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ที่สะดวกสบายกว่าการฉีดยาทุกมื้ออาหารเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
มาร์ติน ฟุสเซนเอกเกอร์ นักเทคโนโลยีชีวภาพผู้นำทีมวิจัย ระบุว่าการศึกษานี้มีขึ้นเพื่อหาทางทำให้ผู้ป่วยเบาหวานใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น โดยเริ่มทดลองปลูกถ่ายเนื้อเยื่อจากเซลล์ไตมนุษย์ ปรับโครงสร้าง เพื่อให้ผลิตอินซูลิน และฝังตัวรับตรวจจับคาเฟอีน เพื่อปล่อยสารอินซูลินในเวลาที่ต้องการ จากนั้นนำเนื้อเยื่อดังกล่าวไปฝังไว้ใต้ผิวหนังของหนูทดลอง 10 ตัว ที่เป็นโรคเบาหวาน พบว่าสามารถตรวจจับคาเฟอีนที่ผสมอยู่ในอาหาร และปล่อยอินซูลินได้จริง
อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีนี้ยังคงไม่พร้อมที่จะนำไปใช้กับมนุษย์ในอนาคตอันใกล้นี้ และยังต้องพัฒนาอีกอย่างน้อย 10 ปี เพื่อให้มีความปลอดภัยสูงสุด โดยองค์การอนามัยโลกระบุว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยเบาหวานทั่วโลกราว 400 ล้านคน และการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง ซึ่งมีอัตราผู้ป่วยใหม่เพิ่มขึ้นสูงอย่างต่อเนื่อง