บริษัทกูเกิลถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักกรณีหวนกลับไปลงทุนในตลาดจีน พร้อมมอบอำนาจให้รัฐบาลเข้ามามีบทบาทในการควบคุมการเข้าถึงข้อมูลของประชาชนในโปรเจกต์ลับที่ชื่อว่า "ดรากอนฟลาย"
ในยุคที่ข้อมูลสื่อสารสามารถถูกแพร่กระจายไปทั่วโลกได้ในเวลาเพียงชั่วพริบตา การที่บริษัทเอกชนมอบสิทธิ์ให้รัฐบาลเข้ามาแทรกแซงความเป็นส่วนตัวของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลถือเป็นเรื่องรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีที่สื่อ The Intercept ออกมาเปิดเผยว่า บริษัทกูเกิลกำลังซุ่มพัฒนาแพลตฟอร์มเซิร์ชเอนจินที่มีชื่อเรียกว่า "ดรากอนฟลาย" ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่เอื้อให้รัฐบาลจีนสามารถเข้ามาควบคุมการเข้าถึงข้อมูลบนโลกอินเทอร์เน็ตมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
เว็บไซต์ The Intercept ยังระบุไว้ก่อนหน้านี้ด้วยว่า โครงการพัฒนา "ดรากอนฟลาย" ได้ดำเนินการมาระยะเวลาหนึ่งแล้ว และอาจพร้อมให้บริการกับชาวจีนช่วงต้นปีหน้าเป็นต้นไป ซึ่งส่งผลให้นักสิทธิมนุษยชนออกมาวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนัก ว่าการที่กูเกิลเปิดโอกาสให้รัฐบาลจีนเข้ามาแทรกแซงสิทธิ์การเข้าถึงข้อมูลได้นั้น ถือเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องและควรถูกแก้ไขโดยเร็ว เพราะการกระทำแบบนี้คือการแสดงความจำนนต่อรัฐบาล และเปิดให้รัฐบาลเข้ามามีอำนาจในทางมิชอบ
ล่าสุด สมาชิกวุฒิสภาของสหรัฐฯ จำนวน 6 คน ได้ส่งจดหมายไปยังนายซันดรา พิชัย ซีอีโอของบริษัทกูเกิล สั่งการให้ทางกูเกิลอธิบายอย่างละเอียดถึงจุดประสงค์ในการดำเนินโครงการดรากอนฟลายที่กำลังสร้างปัญหาอยู่ในขณะนี้ นอกจากนั้น ยังมีสมาคมนักเขียนอเมริกาที่ได้ส่งจดหมายร้องเรียนไปยังผู้บริหารของกูเกิลเพื่อชี้ชัดว่า การกระทำดังกล่าวขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งไม่เพียงบุคคลภายนอกที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของกูเกิลเท่านั้น แต่พนักงานของกูเกิลเอง ก็ไม่เห็นด้วยเช่นกัน โดยมีพนักงานอย่างน้อย 1,400 คน ลงชื่อต่อต้านการกระทำของบริษัท เนื่องจากเห็นว่าเป็นเรื่องที่ขัดต่อหลักศีลธรรมและจริยธรรมอย่างยิ่ง