กระทรวงสาธารณสุข เผย กลุ่มผู้ใหญ่เสียชีวิตด้วยไข้เลือดออกมากขึ้น เพราะเข้าใจผิดคิดว่าเป็นไข้หวัดและเข้ารับการรักษาช้า ส่วนพื้นที่กรุงเทพมหานคร เขตหนองจอก พบผู้ป่วยมากที่สุดพร้อมประกาศเป็นพื้นที่ระบาด
ช่วงที่ผ่านมามีฝนตกชุกต่อเนื่องในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จนทำให้เกิดน้ำขัง และทำให้เกิดโรคไข้เลือดออกแพร่ระบาด หลายเขตจึงได้ประกาศเป็นพื้นที่ระบาด โดยในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา พบผู้ป่วยไข้เลือดออกมากที่สุดในพื้นที่เขตหนองจอก ตามด้วยเขตห้วยขวาง เขตบางกะปิ และเขตคลองสามวา
กรุงเทพมหานครจึงกำชับทุกหน่วยงานให้หาวิธีลดสาเหตุการเกิดโรคไข้เลือดออก หลังพบผู้เสียชีวิตด้วยโรคนี้ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-13 กันยายนที่ผ่านมา พบผู้ป่วยในพื้นที่กรุงเทพฯ จำนวน 5,733 คน และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 5 ราย ซึ่งผู้เสียชีวิตทั้งหมดอยู่ในวัยทำงาน และเข้าพบแพทย์ช้าเกินกว่าจะได้รับการรักษา ซึ่งจากการลงพื้นที่สำรวจพบว่า พื้นที่เกิดโรคเป็นชุมชน หมู่บ้านจัดสรรขนาดใหญ่ บ้านเรือน ร้านค้าที่มีความอับชื้น และพบแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย
ด้านกระทรวงสาธารณสุข เผยภาพรวมสถานการณ์ไข้เลือดออกดีขึ้น ยอดผู้ป่วยตั้งแต่เดือนสิงหาคมลดลงกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์จะดีขึ้น แต่กลับพบอัตราการเสียชีวิตสูงขึ้นในกลุ่มผู้ใหญ่ เนื่องจากไม่ทันระวัง และคิดว่าไข้เลือดออกเป็นโรคที่พบในเด็ก หรือเข้าใจว่าป่วยเป็นไข้หวัดจึงซื้อยามากินเอง พออาการรุนแรงถึงขั้นช็อคก็รักษาไม่ทัน พร้อมแนะนำว่าห้ามซื้อยามารับประทานเอง โดยเฉพาะยาแอสไพริน เอ็นเสด ไอบูโพรเฟน เป็นต้น และขอให้ประชาชนระวังอย่าให้ยุงกัด ซึ่งสิ่งสำคัญคือการกำจัดลูกน้ำยุงลาย และแหล่งเพาะพันธุ์
ปัจจุบัน มีผู้ป่วยไข้เลือดออกอยู่ที่ประมาณ 58,000 ราย คิดเป็นอัตราป่วยอยู่ที่ 8 แสนต่อประชากร ส่วนยอดเสียชีวิตพบกว่า 60 ราย ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ย โดยผู้เสียชีวิตเกินครึ่งเป็นวัยผู้ใหญ่ จากเดิมประมาณร้อยละ 90 จะเป็นในกลุ่มเด็ก ซึ่งนับเป็นลักษณะใหม่ของการระบาดของไข้เลือดออก โดยเฉพาะช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา