ปัจจุบัน หลายประเทศได้มีการสนับสนุนให้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม โดยในประเทศไทยได้มีความพยายามผลักดันเรื่องนี้เช่นกัน เพราะล่าสุด ขสมก. ได้ทดลองให้บริการรถโดยสารสาธารณะพลังงานไฟฟ้า 100 เปอร์เซ็นต์ ใน 6 เส้นทาง จนถึงมีนาคมปีหน้า
องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ นำรถโดยสารไฟฟ้าจากประเทศเกาหลีใต้จำนวน 1 คัน มาทดลองวิ่งให้บริการประชาชน โดยนำร่องในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภายใต้โครงการการพัฒนาและสนับสนุนเทคโนโลยีการผลิตและการใช้รถโดยสารไฟฟ้าในประเทศไทย
โดยจะทดลองวิ่งในเส้นทางเดินรถของ ขสมก. จำนวน 6 เส้นทาง ตั้งแต่เดือนนี้ (ส.ค. 61) ไปจนถึงถึงเดือนมีนาคม 2562 โดยเริ่มที่สาย 137 (วงกลมรามคำแหง - ถนนรัชดาภิเษก) ซึ่งจะทดลองวิ่งถึงวันที่ 6 กันยายนนี้ ก่อนจะทดลองวิ่งอีก 5 สาย ตามลำดับดังนี้
- สาย 36 (ห้วยขวาง - ท่าน้ำสี่พระยา)
- สาย 73 (ห้วยขวาง - สะพานพุทธ)
- สาย 204 (กทม.2 - ท่าน้ำราชวงศ์)
- สาย 138 (พระประแดง - หมอชิต2)
- สาย 50 (พระราม 7 - สวนลุมพินี)
สำหรับรถเมล์ไฟฟ้าคันดังกล่าวมีต้นทุนคันละ 12 ล้านบาท มีขนาด 11 เมตร 23 ที่นั่ง มีการออกแบบในลักษณะ Universal Design เพื่อรองรับการใช้บริการของคนพิการและผู้สูงอายุ มีทางลาดแบบอัตโนมัติ พร้อมที่จอดวีลแชร์ จำนวน 2 คัน ใช้พลังงานไฟฟ้าขับเคลื่อน 100 เปอร์เซ็นต์ ปราศจากการปล่อยมลพิษในอากาศ โดยการชาร์จแบตเตอรี่ 1 ครั้งใช้เวลา 30-45 นาที สามารถวิ่งได้ระยะทาง 170 กิโลเมตรโดยขณะนี้มีสถานีประจุไฟฟ้า 3 แห่ง
โดย ขสมก. จะนำผลการศึกษาครั้งนี้เป็นฐานข้อมูลประกอบการพิจารณาจัดซื้อรถเมล์ไฟฟ้าและใช้เป็นข้อมูลวางแผนเส้นทางเดินรถเมล์ไฟฟ้าในอนาคตต่อไป และหากการทดสอบประสบความสำเร็จ ในอนาคต ขสมก. จะเปลี่ยนมาใช้ระบบนี้ในการเดินรถ ซึ่งเป็นอีกทางหนึ่งที่จะลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ และช่วยลดการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ