บทความหนึ่งที่น่าสนใจในสัปดาห์ที่ผ่านมากล่าวถึง Workplace Loneliness หรือ 'ความเหงาในที่ทำงาน' ในฐานะ 'ปรากฏการณ์' ที่สร้างผลกระทบต่อสังคมในวงกว้างขึ้นเรื่อย ๆ
เมื่อต้นปีที่ผ่านมา เทเรซา เมย์ เพิ่งตั้งตำแหน่งใหม่ 'รัฐมนตรีความเหงา' และมอบหมายให้ เทรซี เคราช์ หนึ่งในคณะรัฐมนตรีรับหน้าที่นี้ เพื่อแก้ปัญหาประชากรจำนวนมากตกอยู่ในภาวะโดดเดี่ยวและขาดการปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ หลังจากที่ผลสำรวจชี้ว่า คนในสหราชอาณาจักรอย่างน้อย 9 ล้านคน หรือราว 14 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด ประสบปัญหานี้ และผู้สูงอายุ 1 ใน 10 คน ระบุว่า พวกเขาไม่ได้ติดต่อกับใคร ทั้งเพื่อนและญาติพี่น้องมากว่า 1 เดือน ทั้งหมดนี้ประเมินเป็นมูลค่าที่นายจ้างต้องสูญเสีย จากที่ลูกจ้างตกอยู่ในภาวะโดดเดี่ยวจนไม่มีประสิทธิภาพในการทำงานมากถึง 3,500 ล้านดอลลาร์ หรือเกือบ 120,000 ล้านบาทต่อปี
ขณะที่ Marmalade Trust องค์กรการกุศลที่มุ่งเน้นแก้ปัญหาความเหงา-ความโดดเดี่ยว กำหนดให้สัปดาห์ที่ผ่านมา (18 ถึง 22 มิถุนายน) เป็นสัปดาห์การเฝ้าระวังความเหงาประจำปีนี้ จึงมีการพูดถึงปัญหาที่แรงงานยุคนี้กำลังเผชิญในวงกว้าง นั่นก็คือ Workplace Loneliness หรือ 'ความเหงาในที่ทำงาน' ซึ่งนอกเหนือจากการแข่งขันในหน้าที่การงานแล้ว เทคโนโลยีก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนทำให้ปัญหานี้หนักหนายิ่งกว่าเดิม
บทความของ The Telegraph ระบุว่า เทคโนโลยีปัจจุบัน ทั้งการส่งอีเมล ข้อความ และโปรแกรมอำนวยความสะดวกอื่น ๆ ทำให้คนเราไม่จำเป็นต้องติดต่อกันแบบซึ่งหน้า ประกอบกับเทรนด์การ 'ทำงานจากบ้าน' ที่ยิ่งเพิ่มความเป็นส่วนตัว และการทำงานแบบฟรีแลนซ์ ทำให้แรงงานสมัยใหม่ใช้ชีวิตอย่างสันโดษยิ่งขึ้น โดยเมื่อปี 2014 มีการทำผลสำรวจ พบว่า 42 เปอร์เซ็นต์ของพนักงานออฟฟิศ ยอมรับว่าไม่มีเพื่อนที่ทำงานเลยแม้แต่คนเดียว ซึ่งผิดจากวัฒนธรรมองค์กรแบบเดิม ๆ ที่เอื้อให้เกิด Work Families หรือ ครอบครัวคนทำงาน
ความเหงา นอกจากจะส่งผลต่อจิตใจแล้ว รายงานทางวิทยาศาสตร์ยังระบุว่า สภาวะโดดเดี่ยวเรื้อรังต่อเนื่องเป็นเวลานานเลวร้ายพอ ๆ กับการสูบบุหรี่ 15 มวนต่อวัน และจะกระตุ้นให้เกิดโรคอื่น ๆ ตามมา เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และโรคอ้วน ขณะที่ งานวิจัยอีกฉบับก็ชี้ว่า การมีปฏิสัมพันธ์กับคนที่ 'ไม่ได้สนิท' เช่น กับเพื่อนร่วมที่ทำงานที่ไม่คุ้นเคยนัก หรือ คนในฟิตเนส จะเหงาน้อยกว่าและมีความสุขมากกว่า กลุ่มคนที่หลีกเลี่ยงการสร้างบทสนทนาอยู่เสมอ
อีกปัจจัยหนึ่งคือ คนรุ่นใหม่ที่ทำงานอย่างสันโดษมักหลอกตัวเองว่า ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมจากการส่ง-รับอีเมลหรือข้อความ และโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ถือเป็นปฏิสัมพันธ์ที่แท้จริง และเพียงพอแล้ว แต่ในความเป็นจริง คนเรายังต้องการปฏิสัมพันธ์ซึ่งหน้า เพื่อลดภาวะการตัดขาดจากสังคม ซึ่งโซเชียลมีเดียให้ผลในทางกลับกัน คือเพิ่มความกังวลใจ และยิ่งทำให้ผู้ใช้ตัดขาดจากโลกยิ่งกว่าเดิม
บทความของ The Telegraph แนะนำว่าสิ่งที่ช่วยได้คือ การพูดถึงความรู้สึกของตัวเอง เมื่อได้พบปะกับเพื่อนสนิท ไม่พูดถึงแต่งาน ที่ทำงาน และครอบครัว การหาเวลาหยุดพักหรือฉลองโอกาสพิเศษล่วงหน้า และพยายามอย่าเป็น 'ฝ่ายรับ' ในการติดต่อใด ๆ เพียงฝ่ายเดียว และควรเริ่มติดต่อฝ่ายตรงข้ามก่อน เพื่อสร้างพฤติกรรมทางสังคมที่ดี