วิศวกรจากเซาท์แอฟริการับรางวัลสิ่งประดิษฐ์ยอดเยี่ยมจากราชวิทยาลัยในสหราชอาณาจักร และเป็นตัวแทนของประเทศคนแรกที่ได้รับเกียรตินี้
นีโอ ฮูตีรี วิศวกรไฟฟ้าจากเซาท์แอฟริกา คว้ารางวัลเงินสด 25,000 ปอนด์ หรือราว 960,000 บาท จากสิ่งประดิษฐ์ที่เรียกว่า 'เพเลบ็อกซ์' (Pelebox) ระบบล็อกเกอร์อัจฉริยะสำหรับจ่ายยาให้กับผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรังและต้องรับยาอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดทอนเวลาในการรอคิวลง โดยเขาเป็นคนแรกจากประเทศที่ได้รับรางวัลจากราชวิทยาลัยแห่งวิศวกรรรมของสหราชอาณาจักร หรือ Royal Academy of Engineering
ฮูตีรี กล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์สถึงแรงบันดาลใจในการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์นี้ว่า ผู้ป่วยจำนวนมากต้องรอคิวรับยาโดยไม่จำเป็นเป็นเวลานานเกินไป โดยตัวเขาเองก็เคยต้องเข้ารับการรักษาวัณโรคเมื่อปี 2014 และมีประสบการณ์รอรับยาแต่ละครั้งเป็นเวลาอย่างน้อย 2 ชั่วโมง ซึ่งเมื่อเขาต้องเติมยาอยู่เป็นประจำ ทำให้กิจวัตรนี้กลายเป็นเรื่องที่น่าเบื่อหน่าย และบั่นทอนกำลังใจการใช้ชีวิตอย่างยิ่ง
ล็อกเกอร์ที่ว่านี้เต็มไปด้วยยาที่เภสัชกรจ่ายไว้ และผู้ป่วยที่ได้รับการแจ้งเตือนทางโทรศัพท์สามารถมารับได้ทันที เพียงกดรหัสคล้ายกับการใช้เครื่องเอทีเอ็ม ซึ่งตัวแทนเภสัชกรในกรุงพริทอเรีย ของเซาท์แอฟริกา กล่าวว่า นวัตกรรมนี้ช่วยอำนวยความสะดวกในการรับยาให้กับคนไข้ที่ตามปกติก็เครียดจัดอยู่แล้วได้ดีมาก ด้าน ฮูตีรี กล่าวถึงการได้รับรางวัลในครั้งนี้ว่า เป็นสิ่งที่เขาคิดไม่ถึงมาก่อน และหลังจากนี้จะใช้เงินรางวัลไปพัฒนา 'เพเลบ็อกซ์' ต่อไป