นักวิทยาภูเขาไฟออกโรงเตือนรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ให้วางแผนรับมือกับภัยภูเขาไฟระดับระดับร้ายแรง แม้จะไม่ใช่ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นบ่อย เนื่องจากปัจจุบันยังไม่เกิดการร่างแผนรับมือปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง ซึ่งอาจนำไปสู่ความสูญเสียในวงกว้าง เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นจริง
คริส นิวฮอลล์ นักวิทยาภูเขาไฟที่ทำงานวิจัยในฟิลิปปินส์ และทีมวิจัย เผยแพร่ผลการศึกษาล่าสุดที่ชี้ว่าอาจมีการปะทุของภูเขาไฟระดับร้ายแรงเกิดขึ้นในชั่วอายุของคนรุ่นนี้ หรือในอีกไม่กี่ร้อยปีหลังจากนี้ และยังไม่มีรัฐบาลประเทศไหนที่เตรียมวิธีรับมือกับภัยพิบัติจากภูเขาไฟระดับร้ายแรงไว้เลย ซึ่งอาจนำไปสู่ความเสียหายในชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนการโยกย้ายถิ่นที่อยู่ของพลเมืองโลกในระดับที่ยากต่อการควบคุม
โดยดัชนีการระเบิดของภูเขาไฟ หรือ VEI กำหนดให้การปะทุแบ่งเป็นระดับ 0 ถึงระดับ 8 ซึ่งงานวิจัยของนิวฮอลล์ระบุว่า โลกจะเผชิญกับการปะทุระดับ VEI-7 ซึ่งมักเกิดครั้งหรือ 2 ครั้ง ในช่วง 1,000 ปี แต่เมื่อเกิดแล้วจะพ่นเถ้าถ่าน ซัลเฟอร์ คาร์บอนไดออกไซด์ และแก๊สภูเขาไฟอื่น ๆ ออกมาอย่างน้อย 100 คิวบิกกิโลเมตร ทับถมพื้นผิวไว้หลายชั้น
การปะทุของภูเขาระดับ VEI-7 ครั้งล่าสุด เกิดขึ้นกับภูเขาไฟตัมโบรา บนเกาะซัมบาวา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อปี 1815 หรือ 203 ปีที่แล้ว ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายหมื่นคน และทำให้ยุโรปและอเมริกาเหนือถูกปกคลุมด้วยเถ้าถ่านจนแทบไม่มีแสงอาทิตย์ในช่วงฤดูร้อนของปีนั้น นอกจากนี้ ยังมีบันทึกว่าการระเบิดของภูเขาไฟตัมโบราครั้งนั้น มีส่วนทำให้เกิดภาวะหนาวเย็นจากการขาดแสงอาทิตย์อย่างยาวนาน ที่เรียกว่ายุคน้ำแข็งน้อย หรือ 'ลิตเติล ไอซ์ เอช' ด้วย
ขณะที่ ภูเขาไฟระเบิดระดับ VEI-5 และ VEI-6 เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 1980 และ 1991 ตามลำดับ และมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นถี่กว่า VEI-7