งานวิจัยจากประเทศจีนคาดการณ์ว่า อัตราการเกิดของประชากรจีนจะถดถอยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในปี 2030
งานวิจัยจากสถาบันสังคมศาสตร์จีน (CASS) คาดการณ์ว่า อัตราการเกิดของประชากรจีนจะพุ่งขึ้นสูงสุดที่ราว 1,440 ล้านคน ในปี 2029 จากนั้นจะชะลอตัวและเริ่มถดถอยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในปี 2030 ขณะเดียวกัน 'อัตราภาวะพึ่งพา' หรือ ประชากรที่ไม่ใช่กลุ่มแรงงาน ซึ่งก็คือเด็กและคนชรา ก็จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในอีกหลายทศวรรษข้างหน้า ส่งผลกระทบอย่างมากในด้านเศรษฐกิจและสังคม
ในช่วงกลางศตวรรษนี้ ตัวเลขชี้ว่าประชากรจีนน่าจะปรับตัวลงมาอยู่ที่ราว 1,360 ล้านคน และสูญเสียประชากรวัยแรงงานไปราว 200 ล้านคน โดยที่อาจจะปรับตัวลดลงเรื่อย ๆ จนเหลือ 1,170 ล้านคน ในปี 2065 สอดคล้องกับอัตราการเกิดในปัจจุบันที่อยู่ที่ 3.5 % แม้รัฐบาลจะยกเลิกนโยบายลูกคนเดียวแล้ว ซึ่งถือเป็นระดับที่น่าเป็นห่วง
ระหว่างปี 2010 ถึง 2015 มีประเทศในโลกถึง 83 ประเทศ หรือประมาณครึ่งหนึ่งของประชากรโลก ที่อยู่ในภาวะเจริญพันธุ์ต่ำกว่าระดับทดแทน หรือก็คือการที่ผู้หญิงคนหนึ่งตลอดวัยเจริญพันธุ์มีลูกน้อยกว่า 2 คน ซึ่งอยู่ในระดับที่ไม่เพียงพอที่จะทดแทนพ่อและแม่ รวมถึง สหรัฐฯ อังกฤษ รัสเซีย จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม และไทย ด้านองค์การสหประชาชาติ เคยประมาณการว่าในปี 2024 อินเดียจะแซงหน้าจีน และกลายเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุด โดยที่ในปี 2100 กว่า 80 % ของประชากรโลกจะอยู่ในเอเชียและแอฟริกา