เฟซบุ๊กยืนยันจะไม่ทำการลบวิดีโอปลอม ที่แอบอ้างเป็นมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ซึ่งถูกเผยแพร่ไปทั่วโลกผ่านอินสตาแกรม โดยเป็นคลิปสั้น ๆ ที่ระบุถึงองค์กรลับที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของผู้นำเฟซบุ๊ก
หลังจากที่ก่อนหน้านี้เป็นเวลา 2 สัปดาห์ มีการปล่อยวิดีโอปลอมของนางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ออกมาสร้างความฮือฮาให้กับทั่วโลกเนื่องจากมีความเหมือนจริงมาก แต่ทางเฟซบุ๊กก็ยืนยันว่าจะไม่ทำการลบวิดีโอดังกล่าวออกจากแพลตฟอร์มแต่อย่างใด ส่งผลให้เฟซบุ๊กถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า ไม่ลงมือจัดการกับข้อมูลปลอม ล่าสุดมีศิลปินชาวอังกฤษ 2 คน สร้างวิดีโอปลอมของนายมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ขึ้นมาในฐานะผลงานศิลปะที่ถูกนำมาจัดแสดงโชว์ในเมืองเชฟฟิลด์ของอังกฤษ เพื่อเป็นการส่งสัญญาณความไม่พอใจไปยังบริษัทเฟซบุ๊กถึงการละเลยที่ยังไม่เร่งจัดการกับปัญหานี้ ซึ่งทางเฟซบุ๊กเองก็ออกมายืนยันอีกครั้งว่าจะไม่ลบวิดีโอนี้
วิดีโอดังกล่าวเป็นคลิป 16 วินาที ที่ถูกสร้างขึ้นมาด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ โดยมีลักษณะเป็นนายมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก CEO ของบริษัทเฟซบุ๊ก นั่งหันหน้าตรงและให้สัมภาษณ์กับกล้อง เหมือนกับการให้สัมภาษณ์แบบถ่ายทอดสดกับสำนักข่าวทั่วไป แต่เป็นการกล่าวถึงแรงจูงใจอันเลวร้ายที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของบริษัทเฟซบุ๊ก และกลยุทธ์ในการใช้ข้อมูลและความลับของผู้ใช้เฟซบุ๊กหลายพันล้านคนทั่วโลกในการสร้างเม็ดเงิน โดยเขากล่าวถึงองค์กรลับ 'สเปกเตอร์' ซึ่งเป็นคนกุมข้อมูลลับของคนทั้งโลกไว้อีกด้วย
วิดีโอดังกล่าวมีความเสมือนจริงอย่างมากจนน่าตกใจ ซึ่งเป็นอีกครั้งที่สร้างความประหลาดใจให้กับทุกคนที่มีโอกาสได้ชม โดยการสร้างวิดีโอปลอมเช่นนี้ขึ้นมาเรียกว่า Deepfake เป็นการสร้างวิดีโอเสมือนจริงโดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่มีความซับซ้อนอย่างมาก เกิดจากการเก็บรวบรวมข้อมูลรูปภาพและเสียงในอิริยาบทต่าง ๆ ของเรา ที่เคยถูกโพสต์ลงไปบนโซเชียลมีเดีย และประมวลผลออกมาเป็นวิดีโอชุดใหม่ ซึ่งอาจสร้างความปั่นป่วนและอันตรายให้กับโลกยุคดิจิทัลอย่างมาก หากไม่มีการเข้ามาควบคุม