ไม่พบผลการค้นหา
วันที่ 22 ส.ค. นี้ นอกจาก 2 เรื่องใหญ่ที่สังคมไทยกำลังให้ความสนใจคือ การประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และการเดินทางกลับไทยของ ทักษิณ ซินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีซึ่งลี้ภัยการเมืองมากว่า 16 ปี ยังมีเรื่องราวของอีกหนึ่งตัวละครทางการเมืองที่กำลังจะเกิดขึ้นด้วย นั่นคือ คดีของสุเทพ เทือกสุบรรณ

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กำหนดนัดฟังคำพิพากษาชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำ อม.อธ.11/2565

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง สุเทพ อดีตรองนายกฯ, พล.ต.อ. ปทีป ตันประเสริฐ อดีตรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, พล.ต.ต. สัจจะ คชหิรัญ, พ.ต.ท. สุริยา แจ้งสุวรรณ์, บริษัท พีซีซี ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด และ วิศณุ วิเศษสิงห์ เป็นจำเลยที่ 1-6 กรณีร่วมฮั้วประมูลโครงการสร้างโรงพักทดแทน และโครงการก่อสร้างอาคารที่พัก (แฟลตตำรวจ)

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2565 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณาแล้วเห็นว่าจำเลยไม่มีความผิด ยกฟ้องจำเลยทั้ง 6 แต่ต่อมา ป.ป.ช. โจทก์ยื่นอุทธรณ์คดีต่อ ก่อนที่จะนัดอ่านคำพิพากษาในวันที่ 22 ส.ค. นี้

เดิมทีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก่อตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ 2540 ให้เป็นแผนกหนึ่งในศาลฎีกา มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งอื่นตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ในกรณีถูกกล่าวหาว่ามีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ ร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น รวมทั้งบุคคลอื่นที่เป็นตัวการ ผู้ใช้หรือผู้สนับสนุนในการกระทำผิดทางอาญาดังกล่าวด้วย และต่อเนื่องมาถึงรัฐธรรมนูญ 2550 โดยยังยึดหลักการตัดสินเพียงชั้นเดียวไม่มีการยื่นอุทธรณ์

แต่ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ได้มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมหลักการใหม่โดยเปิดโอกาสให้คู่ความสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาตามหลักปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และกำหนดรูปแบบการพิจารณาอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมทั้งจัดตั้งองค์คณะของศาลฎีกาเพื่อทำหน้าที่ในการพิจารณาพิพากษาอุทธรณ์แทนที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา

สำหรับคดีนี้ สุเทพ อดีตรองนายกรัฐมนตรี กับพวกรวม 6 คน ถูกกล่าวหาว่า ร่วมกันกระทำผิดต่อหน้าที่ราชการในการจัดจ้างโครงการก่อสร้างสถานีตำรวจ (โรงพัก) ทดเเทน และโครงการก่อสร้างอาคารที่พัก (แฟลต) จำนวน 396 แห่ง หรือที่รู้จักในชื่อ “คดีฮั้วประมูลก่อสร้างโรงพัก 396 แห่ง” มูลค่าความเสียหาย 5,848 ล้านบาท

ชนวนเหตุที่นำมาสู่การฟ้องคดี เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 9 มิ.ย. 2552-18 เม.ย. 2556 เมื่อครั้งที่สุเทพดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.)

โครงการก่อสร้างสถานีตำรวจทดแทน 396 แห่ง เกี่ยวข้องกับ ผบ.ตร. หลายคน โดยเริ่มต้นเสนอโครงการเพื่อขออนุมัติจากรัฐบาลตั้งแต่สมัย พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร. คนที่ 6 (2551-2552) ต่อเนื่องมาถึงยุค พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ รรท.ผบ.ตร. (2551-2552) และสานต่อยุค พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผบ.ตร. คนที่ 7 (2553-2554)

ในปี 2556 ป.ป.ช. ได้ตั้งข้อกล่าวหาและทำการไต่สวน ก่อนชี้มูลความผิดทางอาญาสุเทพกับพวกในปี 2562 จากนั้นได้สรุปสำนวนส่งให้อัยการสูงสุด (อสส.) อย่างไรก็ตาม อสส. มีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง ทาง ป.ป.ช. จึงเป็นโจทก์ยื่นฟ้องสุเทพกับพวกเอง 2 คดี คือ

  • คดีโครงการก่อสร้างโรงพักทดแทน  396 หลัง มูลค่าความเสียหาย 1,728 ล้านบาท
  • คดีโครงการก่อสร้างแฟลตตำรวจ 163 หลัง มูลค่าความเสียหาย 3,994 ล้านบาท

ต่อมาในเดือน ส.ค. 2562 ป.ป.ช. มีมติเป็นเอกฉันท์ 8 ต่อ 0 ชี้มูลความผิด สุเทพ เทือกสุบรรณ, พล.ต.อ. ปทีป ตันประเสริฐ, คณะกรรมการประกวดราคา และบริษัทเอกชน ในทั้ง 2 คดี สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

ในชั้นไต่สวนของ ป.ป.ช. ได้แยกพิจารณาโครงการก่อสร้างโรงพักทดแทน 396 แห่ง และโครงการก่อสร้างแฟลตตำรวจ 163 หลัง ออกเป็น 2 คดี เนื่องจากมีรายละเอียดและบางตัวละครแตกต่างกัน

พฤติกรรมที่ ป.ป.ช. เห็นว่าสุเทพกระทำผิดกฎหมายในทั้ง 2 คดีคือ อนุมัติให้ ตร. เปลี่ยนแปลงวิธีการจัดจ้างก่อสร้างโรงพักทดแทน 396 หลัง และแฟลต 169 หลัง จากเดิมที่แยกการเสนอราคาเป็นรายภาค จำนวนหลายสัญญา เป็นรวมการจัดจ้างที่ส่วนกลางในครั้งเดียวและสัญญาเดียว 

“โดยไม่เสนอ ครม. พิจารณาเกี่ยวกับวิธีการจัดจ้างก่อสร้างเสียก่อน โดยรู้อยู่แล้วว่าแนวทางที่อนุมัติให้เปลี่ยนแปลงดังกล่าวการก่อสร้างจะไม่แล้วเสร็จ”

ส่วน พล.ต.อ.ปทีป เป็นผู้เสนอขออนุมัติเปลี่ยนแปลงแนวทาง จากเดิมที่ให้กระจายการจัดจ้างไปตามตำรวจภูมิภาค หรือตำรวจภูธรรายจังหวัด เปลี่ยนเป็นการรวมกองโยธาธิการ สำนักงานส่งกำลังบำรุง เป็นหน่วยงานจัดจ้างก่อสร้างทุกอาคารรวมกันในครั้งเดียว ซึ่งสุเทพพิจารณาแล้วได้อนุมัติให้เปลี่ยนแปลง

ขณะที่คณะกรรมการประกวดราคามีพฤติกรรมเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัท พีซีซี ดีเวลล๊อปเมนท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด ผู้ชนะประกวดราคา

ป.ป.ช. จึงขอให้ศาลลงโทษจำเลยที่ 1 และ 2 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ลงโทษจำเลยที่ 3 และ 4 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151, 157 พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 10, 12 และลงโทษจำเลยที่ 5 และ 6 ในฐานะผู้สนับสนุนการกระทำผิด

ในชั้นต้น ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณาแล้วเห็นว่าจำเลยไม่มีความผิด ยกฟ้องจำเลยทั้ง 6 

โดยเห็นว่า แม้โครงการดังกล่าว คณะรัฐมนตรี (ครม.) ของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีมติอนุมัติหลักการ รวมถึงรับทราบรูปแบบการลงทุนภาครัฐที่กรมธนารักษ์เสนอให้เปลี่ยนแปลงสินทรัพย์เป็นทรัพย์สิน โดยมีการบประมาณผูกพันข้ามปีเป็นระยะเวลา 3 ปี ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เสนอ แต่ ครม. ไม่ได้มีมติกำหนดรูปแบบการจัดซื้อจัดจ้าง ดังนั้นเมื่อมีการเปลี่ยนรูปแบบการจัดซื้อจัดจ้าง จากการกระจายสัญญาการก่อสร้างไว้ที่ตำรวจภูธรภาค มาเป็นการรวมสัญญาไว้ที่ส่วนกลางเพียงสัญญาเดียว และมีการประมูลแบบอิเล็กทรอนิกส์ จึงสามารถดำเนินการได้ตามที่สุเทพได้อนุมัติ เพราะรูปแบบและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างเป็นอำนาจของหัวหน้าส่วนราชการที่เห็นชอบตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดซื้อจ้าง ดังนั้นการกระทำของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแล ตร. จึงไม่เป็นการกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมายอันเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ ตร. ระบบราชการ และระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดตามฟ้อง

อ่านคำพิพากษา ฉบับเต็มที่ https://www.isranews.org/article/isranews-scoop/112985-isranews-282.html

ในกรณีสืบเนืองกันยังมีการฟ้องอีกคดีหนึ่งด้วย โดยเมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2566 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง นัดฟังคำพิพากษาคดีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.ต.ท.ธีรยุทธ กิติวัฒน์ ผู้บัญชาการสำนักงานส่งกำลังบำรุง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กับพวกรวม 9 คน กรณีทุจริตโครงการก่อสร้างอาคารที่พักข้าราชการตำรวจ ด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-bidding จำนวน 163 หลัง วงเงิน 3,709,880,000 บาท ในความผิดข้อหาร่วมกันปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบมีเจตนาแสวงหาผลประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายและเอื้อประโยชน์แก่บริษัท พีซีซี ดีเวลล็อปเมนท์ แอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม (ฮั้วประมูล)

ศาลพิเคราะห์หลักฐานแล้วเห็นว่า จำเลยทั้ง 9 มีการกระทำผิดจริง มีข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1-6 เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจตำแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามประมวลกฎหมาย อาญามาตรา 151, มาตรา 157 และเป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐกระทำการใด ๆ โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม

ศาลพิพากษาจำเลยที่ 1-6 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151 และ พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 10, มาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำคุกตลอดชีวิตและปรับคนละ 390,000 บาท จำเลยที่ 7 จำคุก 5 ปี จำเลยที่ 8 จำคุก 19 ปี และจำเลยที่ 9 ปรับ 260,000 บาท

แต่จำเลยที่ 1-8 ให้การเป็นประโยชน์มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กระทงละ 1 ใน 3 คงเหลือลงโทษจำเลยที่ 1-6 จำคุกคนละ 33 ปี 4 เดือน และปรับคนละ 260,000 บาท จำเลยที่ 7 จำคุก 3 ปี 4 เดือน จำเลยที่ 8 คงจำคุก 12 ปี 8 เดือน

นอกจากนี้ ศาลยังสั่งริบทรัพย์สินจำเลยที่ 7 เป็นเงิน 60,000 บาท และริบทรัพย์สินของจำเลยที่ 8 เป็นเงิน 91,618,000 ให้ตกเป็นของแผ่นดิน โดยต้องส่งสิ่งที่ศาลสั่งริบภายใน 1 เดือนนับตั้งแต่วันที่อ่านคำพิพากษา

จำเลยทั้ง 9 ประกอบด้วย พล.ต.ท.ธีรยุทธ กิติวัฒน์, พล.ต.ต.สัจจะ คชหิรัญ, พล.ต.ต.สมาน สุดใจ, พ.ต.อ.ปัทเมฆ สุนทรานุยุตกิจ, พ.ต.อ.จิรวุฒิ จันทร์เพ็ญ, พ.ต.ต.สิทธิไพบูลย์ คำนิล, พ.ต.ท.คมกริบ นุตาลัย, ด.ต.สายัณ อบเชย และบริษัทพีซีซี ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอน สตรัคชั่น จำกัด

ทั้งนี้จำเลยทั้งหมดที่ต้องโทษจำคุก ได้ยื่นหลักทรัพย์ขอประกันตัวสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ต่อไป 

ต่อมาวันที่ 1 เม.ย. ศาลอุทธรณ์คดีทุจริตและประพฤติมิชอบ มีคำสั่งยกคำร้องขอปล่อยชั่วคราว พล.ต.ท.ธีรยุทธ กิติวัฒน์ , พล.ต.ท .ธีรยุทธ กิติวัฒน์ ,พล.ต.ต .สัจจะ คชหิรัญ,พล.ต.ต.สมาน สุดใจ ,พ ต.อ.ปัทเมฆ สุนทรานุยุตกิจ ,พ.ต.อ.จิรวุฒิ จันทร์เพ็ง,พ.ต.ต.สิทธิไพบูลย์ คำนิล จำเลยที่ 1-6 

โดยศาลอุทธรณ์พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว จำเลยที่ 1-6 ถูกฟ้องว่าร่วมกับพวกกระทำความผิดในข้อหาที่มีอัตราโทษสูงพฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรงศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 33 ปี 4 เดือน หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวมีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยที่ 1 -6 จะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 1-6 ในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง


อ้างอิง : https://www.bbc.com/thai/articles/cnd4e191d6lo

https://www.isranews.org/article/isranews-scoop/112985-isranews-282.html

https://www.thaipbs.or.th/news/content/326145

https://mgronline.com/crime/detail/9660000030440