ไม่พบผลการค้นหา
ศาลฎีกาพิพากษา 'สุเทพ' รอดคดีโรงพักร้าง 396 แห่ง เหตุไม่ชงรูปแบบรวมสัญญาจัดจ้างให้นายกฯ ทราบอีกครั้ง จึงไม่ผิดตามฟ้อง

วันที่ 20 ก.ย. 2565 เวลา 8.20 น. ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้มีการอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อม.22/2565 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ อดีตรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ต.สัจจะ คชหิรัญ พ.ต.ท.สุริยา แจ้งสุวรรณ์ บริษัท พีซีซี ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด และ วิศณุ วิเศษสิงห์ กรณีร่วมฮั้วประมูลโครงการสร้างโรงพักทดเเทนโครงการก่อสร้างอาคารที่พักทดเเทน 396 แห่งทั่วประเทศ

โดยศาลพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีความผิดตามฟ้อง เนื่องจากพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 มาตรา 4 อนุมาตรา 1 ประกอบระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 กำหนดว่า คณะรัฐมนตรีต้องให้ความเห็นชอบตามหลักการที่หน่วยงานราชการเสนอเท่านั้น เว้นแต่กำหนดไว้เป็นการเฉพาะ 

ข้อเท็จจริงปรากฏว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอให้คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบโครงการก่อสร้างสถานีตำรวจทดแทน 396 แห่ง โดยไม่ได้อนุมัติแนวทาง รูปแบบ หรือวิธีการจัดจ้าง พร้อมทั้งให้ความเห็นชอบเปลี่ยนแปลงแหล่งรายได้จากหลักทรัพย์เป็นงบประมาณรายจ่ายประจำปี 

ซึ่งจำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยไม่ได้เสนอเรื่องให้นายกรัฐมนตรีรับทราบ ถึงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบวิธีการจัดจ้างโครงการดังกล่าว จึงไม่ถือว่าเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือปฎิบัติหน้าที่ให้เสียหายต่อทางราชการตำรวจและการจัดซื้อจัดจ้าง จึงไม่มีความผิดตามฟ้อง

สำหรับ จำเลยที่ 2 พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ ศาลพิพากษาว่า เป็นการเสนอรูปแบบการจัดจ้างตามสายงาน ในฐานะรักษาการแทน ผบ.ตร. ในขณะนั้น ไม่ว่าจำเลยที่ 1 จะให้ความเห็นชอบหรือไม่ก็ตาม จึงไม่ถือการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือปฎิบัติหน้าที่ให้เสียหายต่อทางราชการตำรวจและการจัดซื้อจัดจ้าง จึงไม่มีความผิดตามฟ้อง