ไม่พบผลการค้นหา
เริ่มแล้ว รัฐสภาถกเข้ม ญัตติ 'ไพบูลย์' ขอให้ศาล รธน.วินิจฉัย การแก้ไข รธน. ขัดกฎหมายหรือไม่ 'เพื่อไทย' ซัด รัฐบาลพยายามขัดขวางการแก้ รธน. เพื่อประโยชน์ ตัวเอง

การประชุมร่วมรัฐสภา ในวันนี้ที่ประชุมมีวาระสำคัญ ในการพิจารณาญัตติด่วน ของ ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และ สมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา ที่ขอให้รัฐสภาพิจารณาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 ของรัฐสภา เพื่อตั้ง ส.ส.ร. ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยอ้างว่ารัฐธรรมนูญให้ดำเนินการเพียงแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราได้เท่านั้น  

ทั้งนี้ที่ประชุมได้กำหนดเวลาให้ สมาชิกได้อภิปราย เป็นเวลา 3 ชั่วโมง เริ่มต้นจากการชี้แจงญัตติโดย ไพบูลย์ นิติตะวัน ให้เหตุผลว่าการยื่นญัตติครั้งนี้ ต้องการให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปอย่างถูกต้องสมบูรณ์ที่สุด ซึ่งหลังจากที่ตนเองได้ทำหน้าที่เป็นรองประธานกรรมาธิการพิจารณาก่อนรับหลักการวาระแรก พบปัญหาข้อกฎหมายว่าตามรัฐธรรมนูญมาตรา 2560 ไม่มีมาตราใดให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ มีเพียงแค่ให้อำนาจแก้ไขเพิ่มเติมเป็นรายมาตราเท่านั้น ต่างจากรัฐธรรมนูญปี 2557 ที่กำหนดไว้ชัดเจน

ไพบูลย์
  • ไพบูลย์ นิติตะวัน

อีกทั้งประเด็นนี้ยังมีความเห็นแตกต่างกัน ทำให้เกิดความไม่ชัดเจนและอาจส่งผลต่อการลงมติให้ความเห็นชอบในวาระที่ 3 ได้ โดยเฉพาะสมาชิกวุฒิสภา ที่อาจจะไม่ให้ความเห็นชอบหากไม่มีความชัดเจนเรื่องนี้ จึงจำเป็นต้องยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ชัดเจนก่อนที่จะมีการทำประชามติ เพราะหากยื่นหลังจากทำประชามติและเกิดปัญหาขัดรัฐธรรมนูญขึ้นจริงๆจะทำให้การทำประชามติที่ต้องใช้งบประมาณ 3,000 ล้านบาทนั้นเสียเปล่า ประกอบกับ สำนักงานกฤษฎีกาเห็นว่า เรื่องนี้เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะต้องวินิจฉัย เพื่อให้ได้ข้อยุติจึงขอให้สมาชิกลงมติส่งเรื่องนี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยด่วนด้วย


ยกกรณี 'นายกฯ' กลับลำเมินแก้ รธน.

ด้านชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย อภิปราย ชี้ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางความไม่เชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะมีความจริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญจริงหรือไม่ เพราะแม้นายกรัฐมนตรีจะพูดสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่กลับเกิดเหตุการณ์ย้อนแย้งอย่างไม่คาดคิดถึง 2 ครั้งติดต่อกัน เห็นได้จากการพิจารณารับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระแรก กลับมีการเสนอญัตติขอตั้งกรรมาธิการขึ้นมาใช้เวลาตรวจสอบญัตติก่อนรับหลักการอยู่ยะยะหนึ่งมาแล้ว ทั้งที่เป็นญัตติที่เสนอจากฝ่ายรัฐบาลเอง แต่กลับมาขอตรวจสอบร่างกฎหมายกันเอง  

ชวลิต
  • ชวลิต วิชยสุทธิ์

อีกเรื่องที่ย้อนแย้งแปลกประหลาดมาก คือการที่ ส.ส. รัฐบาลลงนามเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญเอง แต่กลับมาขอให้รัฐสภาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ตนเองลงนามเสนอมาเองนั้น ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ทำให้เห็นได้ชัดว่าพฤติกรรมดังกล่าวเป็นความพยายามขัดขวางให้การแก้รัฐธรรมนูญเป็นไปด้วยความล้าช้า เพื่อประโยชน์ของตนเองหรือไม่ โดยไม่สนใจประเทศชาติและประชาชน

ส่วนที่อ้างว่ารัฐธรรมนูญให้อำนาจเพียงการแก้ไขรายมาตรานั้น ส่วนยืนยันว่าการดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภาขณะนี้ เป็นกระบวนการที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นไปตามกระบวนการใน ในมาตรา 256 ถือว่าเป็นการทำตามหน้าที่โดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้ว


โมเดลตั้ง ส.ส.ร.ชอบด้วยกฎหมาย

ด้าน ชินวรณ์ บุญยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันว่าการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้เพื่อต้องการให้การเมืองมีเสถียรภาพ และการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการได้มีศึกษาอย่างรอบด้านว่า การ ตั้ง ส.ส.ร. ขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ดำเนินการโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้ว

ชินวรณ์
  • ชินวรณ์ บุญยเกียรติ

ส่วนที่อ้างว่าศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยเรื่องนี้ไว้เป็นบรรทัดฐานเมื่อปี 2555 แล้วนั้น ยืนยันว่าพรรคประชาธิปัตย์ ได้มีการศึกษาคำวินิจฉัยแล้วพบว่าคำวินิจฉัยดังกล่าว เป็นการวินิจฉัยไปตามบริบทของรัฐธรรมนูญปี 2550 และสภาพทางการเมืองขณะนั้น มีความพยายามจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อไม่ให้เป็นไปตามครรลองในระบอบประชาธิปไตย อีกทั้งกระบวนการแก้ไขยังมิชอบเพราะมีปัญหาการเสียบบัตรแทนกัน 

ซึ่งต่างจากสถานการณ์ในขณะนี้ ที่ดำเนินการตามกระบวนการตามรัฐธรรมนูญ 2560 และการแก้ไขครั้งนี้ ดำเนินการเพียง 2 หลักการเท่านั้น ได้ แก่การแก้เงื่อนไข ที่ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้ง่ายขึ้น และหลักการที่ 2 คือการให้ มี ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ขึ้นมาร่ารัฐธรรมนูญ โดยไม่ไปแตะต้อง เนื้อหาหมวด 1 และหมวด 2  

อย่างไรก็ตามการพิจารณาในวันนี้ ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ และ สมาชิกวุฒิสภา มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันที่จะให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ขณะที่ พรรคร่วมรัฐบาล ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา เห็นด้วยกับฝ่ายค้าน ว่าไม่ควรส่งศาล ขณะที่การลงมติวันนี้จะใช้เสียงเกิน ครึ่งหนึ่งของสมาชิก คือ 369 ขึ้นไป ทำให้เป็นที่จับตาว่ามติวันนี้มีแนวโน้ม ที่คะแนนเสียง จะใกล้เคียงกันอย่างมาก


วิปรัฐบาลยันไม่มีเจตนาล้มซักฟอก

วิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า ญัตติขอมติสภาผู้แทนราษฎรขอส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าของไพบูลย์ นิติตะวัน ย้ำว่าไม่มีเจตนาที่จะล้มการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือทำให้เกิดผลกระทบอุปสรรค เพราะยังไง การอภิปรายไม่ไว้วางใจจะเริ่มในวันที่ 16-19 ก.พ.นี้ แต่ก็ยืนยันที่จะส่งญัตติให้ศาลวินิจฉัยส่วนจะทันวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในสัปดาห์นี้หรือไม่ก็ยังไม่ทราบ

วิรัช
  • วิรัช รัตนเศรษฐ

นอกจากนี้การยื่นญัตติครั้งนี้เป็นการป้องปรามญัตติของพรรคการเมืองฝ่ายค้านที่มีถ้อยคำพาดพิงถึงสถาบัน เป็นการขัดแย้ง เป็นการไม่บังควรหรือไม่ และขณะนี้ยังไม่ได้เข้าสู่การบรรจุระเบียบวาระการประชุม ยังไม่มีข้อสรุปว่าจะส่งศาลรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ 

วิรัช ยังปฏิเสธว่าไม่ใช่เล่นเกมการเมืองหวังล้มญัตติ นอกจากนี้ ยืนยันว่าหากมีการอภิปรายพูดพาดพิงถึงสถาบัน พรรคร่วมรัฐบาลจะทำหน้าที่ในการปกป้องให้ดีที่สุด ขณะเดียวกันในการอ่านญัตติก็จะอ่านข้ามบางถ้อยคำ การอภิปรายเมื่อครั้งที่ผ่านมาก็มีถ้อยคำที่รุนแรง รัฐบาลทักท้วงทางฝ่ายค้านก็อ่านข้าม หวังว่าครั้งนี้จะเป็นเช่นเดิมที่อ่านข้าม เพื่อความสงบสุขของการอภิปรายไม่ไว้วางใจ  

สำหรับข้อสังเกตว่าการยื่นตีความญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้นไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน นายวิรัช ย้ำว่าเนื่องจากการเขียนญัตติในลักษณะนี้ก็ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเช่นกัน


ฝ่ายค้านยันไม่ได้อภิปรายสถาบัน

สุทิน คลังแสง ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน เปิดเผยภายหลังประชุมกับประธานวิปรัฐบาลและประธานสภา ถึงกรณีที่ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ และ ส.ว.จะยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า มีการพาดพิงสถาบันอาจจะขัดกับกฎหมายหรือไม่ว่า เมื่อสภาบรรจุวาระการประชุมแล้วก็หมายความว่าฝ่ายกฎหมายของสภาพิจารณาแล้วว่า ไม่ขัดต่อข้อบังคับและกฎหมายอื่นๆซึ่งควรเคารพประธานสภา มองว่าผู้ที่จะยื่นให้ศาลตีความ ไม่ควรสร้างภาระให้กับสภาอีกควรยื่นศาลรัฐธรรมนูญเลย ซึ่งส่วนตัวมองว่าศาลก็อาจจะไม่รับ ยืนยันว่าฝ่ายค้านพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนที่จะยื่นจะญัตติแล้ว

สุทิน คลังแสง
  • สุทิน คลังแสง

เมื่อถามว่าประธานวิปรัฐบาลอยากให้ข้ามเนื้อหา เมื่ออ่านญัตติเกี่ยวกับสถาบันได้หรือไม่ สุทินระบุว่าคนอภิปรายคำนึงและระมัดระวังในการพูดอยู่แล้ว ซึ่งอาจจะอยู่ที่การพูดคุยกัน ยืนยันว่าเป็นการอภิปรายนายกรัฐมนตรีไม่ได้อภิปรายสถาบัน เมื่อถามว่ามองอย่างไรที่ ส.ส.พลังประชารัฐเตรียมของมติสภายื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญ สุทินกล่าวว่า หลายประเด็นรัฐบาลอาจจะตอบไม่ได้ และขณะนี้เกิดความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาลเองด้วย 

อ่านเพิ่มเติม