ไม่พบผลการค้นหา
'สมยศ' นำกลุ่ม 24มิถุนาประชาธิปไตย ยื่นหนังสือหน้ากระทรวงยุติธรรม ร้องตรวจสอบพฤติกรรมแพทย์คุกคาม 'ใบปอ-บุ้ง'

เวลา 11.00 น. ที่กระทรวงยุติธรรม บริเวณถนนแจ้งวัฒนะ กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย นำโดย สมยศ พฤกษาเกษมสุข เจษฎา ศรีปลั่ง หรือเจมส์ ชินวัตร จันทร์กระจ่าง หรือไบร์ท จัดกิจกรรมชุมนุมบริเวณด้านหน้าอาคารกระทรวงยุติธรรม เพื่อเรียกร้องให้ตรวจสอบพฤติกรรมการคุกคาม และปล่อยตัว ใบปอ และบุ้ง รวมถึงนักโทษทางการเมืองทั้งหมด และยกเลิกมาตรา 112 

สมยศ กล่าวว่า เมื่อวานนี้ (21 มิ.ย.) สุนทร วิลาวัลย์ พ่อของ กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษา หลบหนีคดีจนเกือบหมดอายุความ และตำรวจตรวจคนเข้าเมือง จ.ระยอง แถลงเองว่าได้จับกุมตัว และศาลให้ประกันตัว ไม่ต้องติดกำไล EM ไม่ต้องมีเงื่อนไขประการใดทั้งสิ้น นี่คือความแตกต่าง เลือกปฏิบัติโดยคนที่หลบหนีได้การประกันตัว 

กรณีที่สองคือ ปริญญ์ พานิชภักดิ์ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ถูกกล่าวหาคดีข่มขืน อนาจาร ซึ่งมีผู้เสียหาย 15 คน โดยอาจจะก่อเหตุอันตรายประการอื่นอีก แต่ศาลอาญากรุงเทพใต้กลับให้ประกันตัว 

สมยศ กล่าวว่า เพียงแต่เด็กทั้งสองคนนี้ (ผักบุ้ง-ใบปอ) ทำโพลสอบถามว่า ขบวนเสด็จรบกวนประชาชนหรือไม่ ซึ่งเป็นเหมือนกระจกสะท้อนปัญหานี้ให้บ้านเมืองรับทราบ กลับโดนคดี 112 ศาลไม่ให้ประกันตัว จึงอยากให้ศาลตรวจสอบมาตรฐานกระบวนการยุติธรรม และกลายเป็นวิกฤตการณ์ความยุติธรรมในขณะนี้ และทำอย่างไรถึงจะแก้ปัญหานี้ เนื่องจาก ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญที่ระบุว่า ในคดีอาญาหากคดียังไม่สิ้นสุดให้สันนิษฐานว่าไม่มีความผิด แต่กฎหมายลูก กลับเปิดโอกาสให้ศาลใช้ดุลยพินิจเป็นเครื่องมือของอำนาจรัฐคุกคาม และปราบปรามเสรีภาพของประชาชน 

เด็ก 2 คนนี้เป็นเพียงแค่คนธรรมดาไม่มีอิทธิพลที่จะเปลี่ยนแปลงรูปคดีได้ไม่ได้เผาบ้านเผาเมืองแต่กลับถูกดำเนินคดี ขณะที่คนมีอิทธิพลสามารถไปวิ่งเต้นได้รับการประกันตัว เด็กทั้งสองคนนี้เลยตัดสินใจอดอาหารตั้งแต่ 2 มิ.ย. 2565 ซึ่งนับถึงวันนี้ก็เป็นเวลากว่า 20 วันแล้ว เขาอดอาหารจนอยู่ในสภาวะวิกฤต ผักบุ้งกินอย่างอื่นไม่ได้นอกจากน้ำเปล่า ตนเกรงว่าจะนำมาซึ่งอันตรายถึงชีวิต 

สมยศ เสริมว่า จึงอยากขอให้กระทรวงยุติธรรมดำเนินการ โดยมีกองทุนยุติธรรมให้นำไปประกันตัวพูดทางการเมืองที่ยังไม่ได้รับการตัดสิน สำหรับนายแพทย์ ชาตรี จองศิริเลิศ ไม่มีการตรวจสอบที่ชัดเจน แล้วอยากให้ทางเรือนจำส่งจิตแพทย์ไปดูแพทย์คนนี้อีกทีว่ามีจรรยาบรรณเหมาะสมหรือไม่ ที่สำคัญเป็นเรือนจำหญิงแต่ทำไมยังใช้แพทย์ที่เป็นผู้ชายรักษา อีกทางแพทย์ในเรือนจำยังไม่พอ และระบบขนส่งผู้ป่วยยังไม่ทันการ 

ด้าน สหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ที่ออกมารับมอบหนังสือ กล่าวว่า ในข้อเรียกร้องนั้นเป็นประเด็นที่เราต้องดูแล ทุกอย่างเป็นไปตามมาตรฐานสากล แต่ถ้าสิ่งที่ สมยศ พูดถึง คิดว่าน่าจะเป็นประเด็นที่ต้องให้ความจริงจัง และยืนยันว่าในราชทัณฑ์ ทุกคนเป็นพลเมือง แต่ถ้าทำผิดก็ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เราพยายามเต็มที่ที่จะไม่ปล่อยละเลย จนให้มีการเสียชีวิตในเรือนจำ