เมื่อวันที่ 23 มีนาคม ซึ่งตรงกับวัน Earth Hour หรือวันปิดไฟเพื่อโลก กลุ่ม JustPow อันเป็นการร่วมกันขององค์กรที่ทำงานในด้านข้อมูล องค์ความรู้ การสื่อสารในด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ Data Hatch, Epigram, Greenpeace Thailand, JET in Thailand และ Rocket Media Lab จัดงานเสวนา “ปิด-เปิดสวิตช์ โครงสร้างค่าไฟให้แฟร์และโปร่งใส ประชาชนต้องทำอย่างไร” ที่ชั้น L หอศิลปกรุงเทพฯ (BACC) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานนิทรรศการ ‘ปิดสวิตช์อะไรให้ค่าไฟแฟร์ เปิดสาเหตุอะไรทำค่าไฟแพง’ ระหว่างวันที่ 19-24 มีนาคม
สฤณี อาชวานันทกุล หัวหน้าคณะวิจัย Fair Finance Thailand กล่าวถึงปัญหาความไม่เป็นธรรมของโครงสร้างค่าไฟว่า มี 3 ประเด็นด้วยกัน ได้แก่
ประเด็นที่ 1 การที่ไม่มีใครต้องรับผิดชอบกับการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เกินจริง ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดและส่งผลต่อค่าไฟ โดยการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าเกินจริงที่เกิดขึ้นมาตลอด 20 กว่าปี ส่วนหนึ่งมาจากการพยากรณ์ความต้องการทางเศรษฐกิจสูงเกินจริง ทำให้ในการวางแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าต่างๆ มีการลงทุนที่มากเกินจริง มากเกินจำเป็น ทั้งในส่วนของรัฐและของเอกชน ซึ่งสุดท้ายก็กลับมาเป็นค่าไฟที่ประชาชนเป็นคนที่ต้องจ่ายต้นทุนต่างๆ ที่เกิดขึ้น
“ตอนนี้ประเด็นที่น่าจับตาก็คือ แผนพลังงานชาติฉบับใหม่ ซึ่งจะเริ่มเปิดให้รับฟังความคิดเห็นวันที่ 5 เมษายน อยากเชิญชวนผู้บริโภคทุกท่านจับตาว่าเราจะไปมีส่วนร่วมอย่างไรได้บ้าง อย่าลืมว่าปีนี้เป็นปีหลังวิกฤตโควิด-19 ความแตกต่างที่ชัดมากๆ ระหว่างแผนปีนี้ที่กับแผนครั้งสุดท้ายที่เรามีก็คือ PDP 2018 ก็คือระหว่างนั้นมีวิกฤตโควิดซึ่งทำให้เศรษฐกิจไทยหดตัวอย่างรุนแรงถึง 6% แล้วแผนพลังงานชาติจะมองสถานการณ์หลังโควิด-19 อย่างไร คาดการณ์ความต้องการใช้ไฟไว้อย่างไร บนสมมติฐานหรือใช้ฐานคิดแบบไหน”
ประเด็นที่ 2 คือเรื่องของการที่เราไม่มีส่วนร่วมหรือไม่มีบทบาทในการวางแผนพลังงาน ซึ่งเชื่อมโยงกับประเด็นแรกคือนอกจากว่าเราจะหาตัวคนที่รับผิดชอบกับการพยากรณ์เกินจริงไม่ได้แล้ว เรายังไม่รู้ว่าจะเข้าไปในส่วนร่วมได้อย่างไรในการวางแผน เราจะไปบอกใครได้บ้างว่า ตัวเลขคาดการณ์มันเกินจริง
ประเด็นที่ 3 คือเราไม่ค่อยเห็นว่ามีทางเลือกอะไรบ้างในการวางแผนพลังงาน ถ้าย้อนกลับไป 30-40 ปีที่แล้วที่ทุกอย่างเป็นอุตสาหกรรมที่เพิ่งเริ่มต้น มันก็มีเหตุมีผลว่าทำไมจะต้องสร้างโรงไฟฟ้า และอาจจะต้องดึงดูดนักลงทุนให้อยากมาลงทุนจึงจะต้องทำสัญญาระยะยาว ที่เรียกว่า Take or Pay ผูกพันไปล่วงหน้า 20-30 ปี ซึ่งอาจจะจำเป็นก็ได้ในยุคนั้น อีกทั้งในตอนนั้นก็ยังไม่มีประเด็นอย่างเช่นเรื่องภาวะโลกร้อน เพราะฉะนั้นการใช้พลังงานที่เป็นพลังงานกระแสหลักหรือพลังงานฟอสซิลก็เป็นเรื่องปกติ ดังนั้นการที่เราใช้ระบบ Take or Pay ก็อาจจะดูเป็นเรื่องปกติก็ได้ แต่คำถามคือในสถานการณ์ทุกวันนี้ที่ไม่เหมือนเดิมแล้ว มันเปลี่ยนไปแล้ว จึงควรจะมีทางเลือกอื่นไหม และในความเป็นจริงถ้าเราดูประเทศต่างๆ จำนวนมากทั่วโลกเขาก็มีทางเลือกแล้วก็คำนึงถึงทางเลือกอย่างจริงจังมากกว่าเรา
“แทบทุกประเทศ ถ้าเราไปดูการจัดการพลังงานของเขาว่าให้ความสำคัญกับอะไรมากที่สุด หลายประเทศจะบอกว่าให้ความสำคัญกับเรื่องประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เพราะว่าในทางเศรษฐศาสตร์มันก็พิสูจน์กันจนไม่ต้องทำข้อมูลแล้วว่าคุ้มค่าที่สุด คือถ้าเราสามารถที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานก็เท่ากับว่าไม่ต้องสร้างโรงไฟฟ้า ไม่ต้องมีกำลังการผลิตเพิ่ม
“ที่ผ่านมาเราไม่ใช่ไม่มีแผนเหล่านี้ แต่ดูเหมือนว่าเราไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเรื่องของพลังงานหมุนเวียนเท่าที่ควร หลายคนอาจจะบอกว่าพลังงานหมุนเวียนมันไม่เสถียร โอเคมันก็อาจจะจริงก็ได้ในอดีต แต่วันนี้พอเรามองไปหลายประเทศหลายเมืองทั่วโลก ทำไมเขาทำได้แล้ว เพราะเขาใช้สิ่งที่เรียกว่า การจัดการระบบโครงข่าย การจัดการความต้องการ ระบบการกักเก็บไฟฟ้า เข้ามาประกอบกันเป็นการตอบโจทย์แล้วพยายามที่จะสร้างอนาคตใหม่ อนาคตของ Low Carbon อนาคตคนที่จะใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นหลัก”
นอกจากนี้ สฤณีกล่าวถึงบทบาทขององค์กรกำกับดูแลด้านพลังงาน อย่างคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ด้วยว่า อยากเรียกร้องให้ประชาชนจับตาให้มากขึ้น โดยชี้ว่า สังคมไทยจะคุ้นเคยกับธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงค์ชาติว่าเป็น Regulator หรือว่าองค์กรกำกับภาคการเงินและภาคธนาคาร เมื่อพูดถึงสัญญาณโทรศัพท์มือถือ ก็จะรู้จักคุ้นเคยกับ กสทช. แต่ว่าพอมาพูดถึงพลังงานเวลาเราบ่นกันเรื่องค่าไฟจะไม่ค่อยมีใครพูดถึง กกพ.เท่าไร คนก็จะไปพูดถึงรัฐบาล หรือกลุ่มทุน ทั้งที่จริงแล้วโดยกฎหมาย กกพ. คือองค์กรอิสระที่กำกับเรื่องไฟฟ้า
“เขาคือคนที่จะมาถามเราว่าค่าไฟงวดหน้าอยากจะให้เลขออกเท่าไร ถ้าดูตอนนี้มันเศร้านิดนึง เพราะว่าเวลา กกพ. มาถามเรา เขาเหมือนมีตัวเลือก 1 2 3 ให้เรา แต่ว่าตัวเลือกทั้งหมดหลักๆ คือเราจะจ่ายหนี้ กฟผ. งวดเดียวหรือจะผ่อนจ่าย ซึ่งทุกคนก็น่าจะทราบแล้วในตอนนี้ กฟผ. แบกหนี้อยู่แสนล้านบาทแล้ว ถ้าเราทุกคนยินดี เอาตังค์ไปคืน กฟผ. รวดเดียวไม่มีใครรับได้แน่นอน เพราะค่าไฟก็จะวิ่งไป 6 บาทกว่า มันก็เศร้านิดๆ ว่าเวลาเขามาถามเรามันก็จะมีตัวเลือกอยู่แค่นี้”
“ทำอย่างไรให้เขามาถามเรื่องของพลังงานที่เราอยากเห็น ทางเลือกในการจัดการพลังงาน ทำไมเขาไม่ถามเราเรื่องประสิทธิภาพในการทำงาน คือถามอะไรในเชิงที่เป็นเรื่องทางเลือก ทางออก วิธีการจัดการ แทนที่จะมุ้งเน้นเรื่องเฉพาะหน้า ว่าอยากจะผ่อนจ่ายกี่งวด ช่วงก่อนเลือกตั้ง เรามีแคมเปญชื่อว่า ‘ค่าไฟต้องแฟร์’ ก็ได้มีการทำข้อเสนอที่เป็นรูปธรรม 5 ข้อ ไปถึงทุกพรรคการเมือง หลังจากนั้นก็มีโอกาสได้ไปยื่นให้กับกระทรวงพลังงาน ปัจจุบัน 5 ข้อนั้นไปถึงไหนแล้ว ก็ต้องบอกว่ามาได้ประมาณ 0.5 ข้อ จาก 5 ข้อ คือเรื่องของราคา pool gas”
สุดท้าย สฤณีเสนอว่า อยากให้รัฐบาลประกาศว่า Net Zero ของประเทศไทยจะไม่ใช่ปี 2065 แต่จะเป็น 2050 เหมือนชาวโลก และควรจะไปลงนามใน Global Methane Pledge ซึ่งเป็นข้อตกลงระดับโลกที่จะลดการปล่อยก๊าซมีเทน
“ความแตกต่างหลักระหว่างที่เราบอกว่า Carbon Neutral กับ Net Zero ก็คือก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ ที่ไม่ใช่คาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือมีเทน ซึ่งเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมภาคพลังงานที่ได้มาจากก๊าซธรรมชาติ คือการที่เราขอต่อเวลา 15 ปีก็ดี หรือการที่เราไม่ไปลงนามใน Global Methane Pledge ก็ดี ล้วนเป็นการส่งสัญญาณที่ไม่ค่อยดีกับประชาคมโลกว่าเราไม่สนใจจะทำให้ก๊าซฟอสซิลหรือก็คือก๊าซธรรมชาติมีความรับผิดชอบมากขึ้น อยากจะให้ปรับตรงนี้ เพราะจะมีประโยชน์ในแง่ของการส่งสัญญาณที่ชัดเจนให้กับภาคเอกชนที่จะปรับตัวด้วย ต้องยอมรับว่าภาคเอกชนจะลงทุนอะไรไม่ใช่ว่าลงทุนวันนี้ พรุ่งนี้ทำได้เลย มันก็ต้องใช้เวลายาวนาน เพราะฉะนั้น ถ้าเกิดรัฐบาลยังยึกยักๆ หรือขอต่อเวลานานขนาดนี้ การที่เอกชนจะตัดสินใจลงทุนไปบางทีก็ไปว่าเขาไม่ได้ เพราะฉะนั้นมันก็ต้องกลับมาที่ตัวนโยบายที่ต้องมีความชัดเจน”
จริยา เสนพงศ์ หัวหน้างานรณรงค์เพื่อการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน Greenpeace Thailand กล่าวถึงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan: PDP) ซึ่งมีข่าวว่าจะเปิดให้มีการประชาพิจารณ์ในวันที่ 5 เม.ย. นี้ว่า น่าจะเป็นเค้กก้อนเดิมของกลุ่มทุนของอุตสาหกรรมฟอสซิล นั่นคือการใช้ไฟฟ้าของไทยก็น่าจะมาจากตัวของก๊าซเป็นหลักเหมือนเดิม
“อยากให้เป็น PDP ที่ไม่ใช่เป็น PDP ที่เป็นการแบ่งเค้ก แต่อยากให้เป็น PDP ที่เป็นขนมชั้น คืออยากให้มีความรู้สึกว่า มันคือของชั้น แผนนี้ทั้งหมดคือของเราทุกคน ความเป็นขนมชั้น มันจะทำให้รู้สึกว่าการมีส่วนร่วมคือสิ่งสำคัญ นั่นคือร่วมจากฐานการตัดสินใจร่วมกัน การที่จะทำให้คนมีความรับผิดชอบด้วย คือนอกจากมีส่วนร่วมในการวางแผนพลังงานแล้ว ตัดสินใจร่วมกันแล้ว ความรับผิดชอบหลังจากการตัดสินใจก็ต้องเกิดขึ้น ตัวของแผนพลังงานของประเทศไทยที่ผ่านมาเหมือนกันหมดในทุกรัฐบาลก็คือว่าไม่เคยมีตัวเลือกให้กับประชาชนเลย สิ่งสำคัญที่สุดก็คือว่าถ้าแผนใหม่ภายใต้รัฐบาลใหม่สิ่งที่เราอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงก็คือว่าทำอย่างไรให้แผนนี้เห็นตัวเลือกที่มากขึ้น”
แผนตัวเลือกตัวที่ 1 ถ้ายังคงเดินหน้าที่จะใช้พลังงานที่มาจากฟอสซิลมากขึ้นภายใต้เรื่องของการต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือโลกรวนที่เกิดขึ้น หน้าตามันจะเป็นอย่างไร เราทุกคนต้องรับภาระค่าไฟเท่าไร แล้วเราต้องจ่ายหนี้ค่าไฟในอนาคตในความไม่มั่นคงในเรื่องนั้นอย่างไร
แบบที่ 2 ถ้าไม่เอาแบบที่ 1 มีแบบอื่นที่จะเกิดขึ้นอีกไหม ถ้าแบบที่ 2 ใส่เรื่องของพลังงานหมุนเวียนมากไปอีกสัก 50% ได้ แล้วถ้ามันเกิดขึ้นจะเกิดเป็นอย่างไร เราทุกคนต้องเสียค่าไฟอย่างไร แล้วใครสักคนผลิตไฟฟ้าส่วนนั้นเข้าระบบมันจะถูกกระจายให้กับประชาชนมากขึ้นไหม มันก็จะเห็นการมีส่วนร่วมในเลเยอร์ที่เท่ากันมากขึ้น
สิ่งสำคัญอีกอันหนึ่งก็คือว่าในแผน PDP ของประเทศไทยที่ผ่านมา ความสำคัญของแผนระยะยาวที่วางไว้ 20 ปี ไม่ต้องไปดูเลยว่าแบบยาวแค่ไหนให้ดูแค่ 3-5 ปีแรกเท่านั้นพอ ที่ผ่านมาของรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและนายกรัฐมนตรีภายใต้การเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เราจะเห็นชัดเจนว่าแผนของ PDP ของประเทศไทย 3 ปีแรกหรือ 5 ปีแรก เอาเชื้อเพลิงฟอสซิลเข้าสู่ระบบสายส่งก่อนเป็นลำดับแรกเสมอมา 10 ปีหลังถึงจะเป็นเรื่องของพลังงานหมุนเวียน แล้วพอเปลี่ยนรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานใหม่ ภายใน 4 ปีก็จะเปลี่ยนแผน PDP อีกครั้งหนึ่ง แล้วก็สุดท้ายก็จะให้ความสำคัญกับ 3 ปีแรก 5 ปีแรกเสมอมา พลังงานหมุนเวียนไม่มีทางจะเกิดขึ้น
อีกสิ่งที่สำคัญก็คือเราอยากเห็นมิติใหม่ว่านิยามคำว่าพลังงานหมุนเวียนของรัฐบาลชุดใหม่ เขื่อนไม่ใช่พลังงานหมุนเวียน โรงไฟฟ้าขยะไม่ใช่พลังงานหมุนเวียน เพราะฉะนั้น เวลาวางสัดส่วนในเรื่องของการเกิดขึ้นของพลังงานหมุนเวียนในแผน PDP ในช่วง 3 ปีแรก 5 ปีแรก ขอให้มันเป็นพลังงานหมุนเวียนจริงๆ บอกไปเลยว่าในแผนจะมีไฟฟ้าที่มาจากหลังคาของชาวบ้านหลังคาของประชาชนภาคครัวเรือนกี่พันเมกะวัตต์เข้าก่อนในสายส่ง เช่น 3 ปี 3,000 เมกะวัตต์เข้าสายส่งโดยเอาจากภาคครัวเรือนเกิดขึ้นก่อน ซึ่งถ้าเราดูเรื่องศักยภาพเรื่องพลังงานหมุนเวียนของประเทศไทย ตามที่เราเคยศึกษา อยู่ที่มากกว่า 35,000 เมกะวัตต์ แล้วแต่รัฐกลับรับซื้อปีละ 100 เมกะวัตต์มันสวนทางกัน มันไม่สามารถที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้
ในเรื่องของพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์นั้น Greenpeace Thailand ยังเคยทำรายงานโครงการล้านหลังคา ซึ่งจริยาเล่าถึงประเด็นที่น่าสนใจในรายงานชิ้นนี้ว่า
ตัวของรายงานโครงการล้านหลังคาเป็นข้อเสนอที่วางเป้าหมายไว้ 3 ปี คือ 2564-2566 ภายใน 3 ปี เราจะมีไฟฟ้าจากโซลาร์ได้ประมาณ 3,000 เมกะวัตต์ 3,000 เมกะวัตต์ใหญ่ขนาดไหนนึกถึงกรุงเทพฯ นนทบุรี สมุทรปราการ ที่ใช้ไฟประมาณ 9,000 เมกะวัตต์ ว่า 1 ใน 3 นั้นสามารถที่จะมาจากหลังคาประชาชนได้ แต่จริงๆ แล้วศักยภาพโซลาร์ในตอนนี้มันมีมากกว่า 35,000 เมกะวัตต์ แต่มันก็ยังไม่เข้าระบบ เราเสนอให้รัฐลงทุนเปิด 1 ล้านหลังคาก่อน โดยที่ประชาชนสามารถเข้าถึงการสนับสนุนทางการเงินได้ด้วย ซึ่งตอนนี้หลายธนาคารที่ก็เปิดให้มีการกู้ในการติดโซลาร์ หรือติดโซลาร์แล้วประชาชนภาคครัวเรือนจะใช้มาตรการนี้ในการลดภาษีได้อย่างไร
อีกส่วนหนึ่งก็คือเราคิดว่ารัฐบาลสามารถที่จะคิดได้มากกว่านั้น นั่นก็คือกองทุน เป็นกองทุนพลังงานแสงอาทิตย์ที่จะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแล้วกู้ในอัตราดอกเบี้ยไม่แพงเพื่อนำมาติดโซลาร์ ซึ่งอาจจะต้องออกแบบว่าตัวกองทุนจะทำยังไงได้บ้าง อาจจะเป็นจากเดิมที่เราจะฝากเงินกันธนาคาร แต่ถ้ามีมาตรการที่จูงใจมากขึ้นก็เอาเงินนี้มาลงในกองทุนนี้ เพื่อให้กองทุนนี้ใช้ในกาสร้างการเติบโตเรื่องของโซลาร์ภาคครัวเรือน
ที่ผ่านมาก็คือความคืบหน้าของการติดตั้งโซลาร์เซลล์ของหน่วยงานภาครัฐที่เราเห็นมากที่สุด หนึ่งในนั้นคือกระทรวงสาธารณสุข เราจะเห็นแคมเปญโรงพยาบาลแสงอาทิตย์เกิดขึ้น แต่กระทรวงสาธารณสุขเองมีโรงพยาบาลขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ซึ่งโรงพยาบาลมากกว่า 8,000 แห่งทั่วประเทศยังติดไม่หมด ถ้านโยบายมันไปได้มากกว่านี้ภายใต้รัฐบาลชุดนี้เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ว่ากระทรวงสาธารณสุขเองก็สามารถที่จะลดค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลรัฐที่จ่ายค่าไฟซึ่งก็เอาเงินภาษีเรานั่นแหละไปจ่ายค่าไฟซึ่งหากติดโซลาร์เงินตรงนี้ก็จะลดลงไม่ต่ำกว่า 7,000 ล้านบาท ซึ่งความคุ้มทุนอยู่ในระยะเวลาเพียงแค่ 5 ปีหลังจากนั้น
หรือกระทรวงศึกษาธิการเองก็เช่นเดียวกัน โรงเรียนทั่วประเทศมีมากกว่า 30,000 แห่ง มีทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ โรงเรียนเองมีศักยภาพที่จะติดตั้งโซลาร์เซลล์ได้เหมือนกัน โรงเรียนใช้ไฟเฉพาะกลางวัน กลางคืนไม่ได้ใช้ เพราะฉะนั้น โรงเรียนมีความเป็นไปได้สูงที่จะสามารถลดภาระในเรื่องของค่าไฟได้ แล้วโรงเรียนเองสามารถทำรายได้ให้ตัวเองได้ด้วย เราคำนวณมาว่าโรงเรียนจะสามารถสร้างรายได้จากบนหลังคาของโรงเรียนได้อย่างน้อย 5 พันล้านบาท ตลอดอายุของโซลาร์เซล
“อีกหนึ่งการบ้านที่เราอยากฝากไว้ก็คือกระทรวงมหาดไทย ที่ยังไม่ขยับเลยตั้งแต่หาเสียงจากการเลือกตั้ง ที่พรรคภูมิใจไทยมีนโยบายเรื่องของโซลาร์เซลล์ ถ้าเราดูดีๆ อบต. อบจ. หรือแม้กระทั่งเทศบาลทั่วประเทศราว 8,000 แห่ง แทนที่จะเอาเงินของเราไปเสียให้กับค่าไฟที่เราจะต้องเสียให้กับกลุ่มทุนพลังงาน ถ้าสามารถทำได้นั่นคือการลดภาษีที่มันจะเกิดขึ้น นี่คือโจทย์ที่เพียงแค่ 3 กระทรวง ถ้าทำเต็มที่อย่างน้อยเราจะมีไฟใช้ไม่ต่ำกว่า 1 ใน 3 ของกรุงเทพฯ อยากจะให้ติดตามรัฐมนตรีทุกกระทรวง เพราะถ้านโยบายมันไปได้ 3 ปีนี้สามารถทำให้เกิดการจ้างงานงานแค่ตัวโซลาร์เซลล์อย่างเดียว มากกว่า 70,000 ตำแหน่ง นี่คือ Green Job หรือการจ้างงานสีเขียวที่เรากำลังพูดถึงการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทย”
นอกจากนี้จริยายังอยากให้ชะลอการใช้อำนาจในการเซ็นรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเขื่อนหรือโรงไฟฟ้าก๊าซที่กำลังจะขึ้นใหม่ รวมถึงอยากให้ให้ความสำคัญกับเมืองหรือจังหวัดที่สามารถที่จะเติบโตเรื่องพลังงานหมุนเวียนได้ ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพฯ ในการเป็นเมืองโซลาร์เซลล์แห่งแรกที่สามารถที่จะใช้ไฟฟ้าจากพลังงานโซลาร์ได้อย่างน้อย 800 เมกะวัตต์ โดยปัจจุบันนี้ กทม.ได้เซ็นสัญญาลงนามให้หลังคาของที่ทำการ กทม. 2 แห่งติดโซลาร์แล้ว และสำนักงานเขตของ กทม. ก็ได้ลงสัญญาในการรับซื้อ-ขายไฟฟ้าแล้ว รวมไปถึงโรงพยาบาลอย่างน้อย 8 แห่งของ กทม. ที่ลงนามเรียบร้อยแล้วเช่นกัน โดยในอนาคตจะเป็นในส่วนของศูนย์สาธารณสุขของแต่ละเขต และโรงเรียนในเขต กทม.
นอกจากนี้ยังมีจังหวัดกระบี่ ซึ่งกำลังจะเป็นจังหวัดแรกของประเทศไทยหรือในระดับเอเชียที่เป็นจังหวัดพลังงานหมุนเวียน โดยปัจจุบันนี้ระบบสายส่งหรือไฟฟ้าที่เกิดขึ้นในกระบี่มาจากพลังงานหมุนเวียน 60% ซึ่งได้าจากภาคเกษตรอย่างปาล์มและพลังงานแสงอาทิตย์ด้วย
ณัฐพงศ์ เทียนดี กรรมการผู้จัดการบริษัท SpokeDark จำกัด หนึ่งในผู้ร่วมเสวนาครั้งนี้ เล่าว่า
“ตอนที่เราทำรายการ เราคุยกับคนเรื่องพลังงานแพง ฟีดแบคที่ได้รับคือ ความโกรธแค้น เพราะต้องจ่ายเงินกับสิ่งที่เราไม่สามารถมีส่วนร่วมได้มากพอ แล้วก็เหมือนเราโดนขึงพืด เขาทำอะไรก็แล้วแต่เราก็ต้องรับไป ประกาศลดค่าไฟที่เราก็เฮทันที ประกาศขึ้นทีก็ด่า แล้วก็โกรธกันไปก็โกรธกันมา ก็วนไปอยู่อย่างนี้”
มันจะต้องมีฝั่งนึงที่ต้องไปกดดันภาครัฐว่า สิ่งที่คุณทำอยู่มันถูกต้องไหม ทั้งเรื่องสัดส่วนของการผลิตเป็นอย่างไร กฟผ. ผลิตไฟกี่เปอร์เซ็นต์ เอกชนกี่เปอร์เซ็นต์ เอกชนรายเล็กเท่าไร นำเข้าเท่าไหร่ ประชาชนเท่าไร ประชาชนจะขายไฟคืนกลับไปได้เท่าไร ประชาชนควรมีส่วนร่วมในการที่จะผลิตไฟคืนได้อย่างไร ไม่ใช่ผลิตเพื่อสร้างรายได้อย่างเดียว
แต่เราอาจจะกระตุ้นนโยบายให้กลุ่มทุนพลังงานเขาคล้อยตามกับเราได้ด้วยอย่างไร เช่น กลุ่มทุนพลังงานเขาอาจจะมีธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้อง ถ้าประชาชน 1 ครัวเรือน ใช้ไฟไป 100 หน่วยต่อเดือน แต่ถ้าเดือนหน้าลดลงเหลือ 90 เราอาจจะได้โบนัส ส่วนลดอะไรบางอย่าง แล้วนำไปซื้ออาหารในร้านสะดวกซื้อ หรือไปลดบิลค่าอินเทอร์เน็ตในค่ายมือถือที่เป็นธุรกิจที่โยงใยอยู่กับกลุ่มทุนพลังงานได้ เราอาจโน้มน้าวให้กลุ่มทุนว่าถ้าคุณร่วมในนโยบายการใช้พลังงานหมุนเวียนนี้ คุณก็จะได้บางสิ่งบางอย่างจากประชาชนกลับคืนก็ได้ มันคือการประสานประโยชน์ ไม่ใช่เอื้อกลุ่มทุนนะ เรามีภาคหนึ่งที่ต้องต่อสู้กันอย่างจริงจัง อีกภาคหนึ่งก็ต้องแยกร่างไปบอกว่าคุณจะได้อะไรบ้าง กลุ่มทุนจะได้อะไร แล้วประชาชนได้อะไร แล้วหาจุดกึ่งกลาง
“แต่ถ้าคิดว่าจะแบน แล้วจะแบนอย่างไรล่ะ กระแสไฟฟ้านี่มันเป็นเรื่องที่แปลกมากมันไม่สามารถแยกได้ว่ามาจากค่ายไหน มันไม่เหมือนอินเทอร์เน็ต มันมารวมๆ กัน มาจากไหนก็แยกไม่ออก สมมติว่าเราโกรธแล้วเราต้องแบนปลั๊กไหนในบ้าน ก็ไม่ได้ อันนี้เป็นเรื่องยาก มันต้องอารยธรรมขัดขืนอะไรบางอย่าง แต่มันต้องมีคนเริ่ม เราไม่สามารถจะประท้วงโรงไฟฟ้าแล้วดับไฟทั้งบ้าน ไม่จ่าย ไม่ได้ไง ไฟมันต้องใช้ มันเป็นเรื่องยาก เรื่องนี้ประชาชนค่อนข้างจะโกรธแค้นแล้วเขาหาทางออกไม่เจอจริงๆ นะครับ แต่ผมคิดว่ามันต้องมีภาพความสนุกอะไรบางอย่าง มีภาคประชาชนที่เขาสามารถสร้างรายได้ อย่างน้อยอาจจะยังไม่ 100% แต่วันนี้ก็เริ่มสัก 2-3% ก็ยังดี ค่อยๆ ทำ มันอาจจะมีอะไรดีขึ้นมาก็ได้”
ณัฐพงศ์ ยังยกตัวอย่างอีกว่า “หากมีหมู่บ้านตัวอย่างที่สามารถออกจากระบบไฟฟ้าของรัฐ และใช้ไฟจากตรงอย่างเดียวเป็นหลัก เพราะเอาจริงๆ ภาคประชาชนที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศนี้บางทีอาจจะไม่จำเป็นต้องใช้ไฟกระแสสลับถูกไหมครับ เพราะว่าไฟกระแสสลับบางอย่างมันเหมาะกับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้แรงศักย์สูง แต่ว่าจริงๆ แล้วความจำเป็นในชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศไทย บางอย่างเขาใช้ไฟกระแสตรงก็พอ นั่นแปลว่าเขาใช้พลังงานที่เป็นแบบประจุก็พอไม่จำเป็นต้องมีค่าพร้อมจ่ายสำหรับการสร้างไฟฟ้ากระแสสลับก็ได้
“นั่นแปลว่าถ้าเราลองทำหมู่บ้านที่เป็นโมเดลสักหมู่บ้านหนึ่งแล้วไม่พึ่งพาไฟ on grid แล้ว ฉันอยู่ได้ นี่คือระยะขัดขืนแบบหนึ่งเหมือนกันว่าเราจะไม่พึ่งพาแล้วนะ ไม่ใช้ฟอสซิลด้วย จะใช้โซลาร์เซลล์ทั้งหมู่บ้านเลย หรือแต่ละบ้านอาจจะมี inverter 1 ตัว ปรับกระแสตรงเป็นกระแสสลับแล้วใช้แค่นั้นพอ เพราะว่าต่างจังหวัดอย่าลืมนะครับเขาไม่ได้ใช้แอร์คอนดิชันเยอะเหมือนกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพราะฉะนั้นถ้าเราทำหมู่บ้านที่เป็นต้นแบบแบบนี้ได้ ภาคประชาชนก็จะแข็งแกร่ง และทำให้เห็นว่าเราก็สู้เหมือนกันนะ เพราะว่าในเมื่อเราโกรธแล้ว แล้วคุณไม่ตอบสนองความโกรธของประชาชน บางทีเราต้องใช้ทางเทคนิคแล้วก็ใช้การกระจายอำนาจสู่การเมืองท้องถิ่นเพื่อมาต่อรองเหมือนกัน”
นอกจากนี้ในฐานะคนทำสื่อ ณัฐพงศ์ ยังอยากถามหาความจริงใจในแง่ของการเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐอีกด้วยเพื่อใช้ในการสื่อสารกับภาคประชาชนไม่ว่าจะเป็นเรื่องแนวโน้มการใช้พลังงานในอนาคตเป็นอย่างไร นโยบายที่ออกมาหมายความว่าอย่างไร ค่าพร้อมจ่ายทางด้านพลังงานที่เป็นมันเหมาะสมไหม สิ่งต่างๆ เหล่านี้มีความจำเป็นที่ต้องโปร่งใสและอธิบายได้กับประชาชน
“อยากจะฝากถึงรัฐบาลว่า ท่านมีหน้าที่อำนวยความสะดวกให้เอกชนทำงานให้เกิดประโยชน์กับประชาชน เราอยากเห็นภาพที่ประชาชนสบายขึ้น ไม่ใช่การที่รัฐหลอมรวมกับเอกชนมากเกินไปจนประชาชนได้รับผลกระทบ”
และสุดท้าย ในวงเสวนาครั้งนี้ยังได้ กรรณิการ์ แพแก้ว นักสื่อสารภาคพลเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี สะท้อนเรื่องราวจากพื้นที่ว่า ขณะที่คนส่วนใหญ่อาจจะโกรธไม่พอ แต่คนในชุมชนเมื่อโกรธแล้วปรากฏว่าถูกควบคุมเยอะมาก โดยเฉพาะในกรณีของภาคใต้ ซึ่งมีประเด็นร้อนมาตั้งแต่ปี 2557 ตั้งแต่เรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ โรงไฟฟ้าเทพา โรงไฟฟ้าชีวมวล ตัวของเธอเองก็ถูกฟ้องปิดปากแต่ว่ายังไม่ได้เป็นคดี เพราะว่าเป็นข่าวใหญ่ระดับจังหวัด เนื่องจากชุมชนฯ ไปยื่นหนังสือถึงศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ
“เอกชนจะมาสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลในชุมชน แล้วมันไปอยู่ในชุมชนไง ไปอยู่ติดกับบ้านเรือนของชุมชน เขาก็มีความกังวลเพราะว่าเขาเป็นพื้นที่เกษตรต้องไปแย่งแหล่งน้ำ หรือแหล่งน้ำที่ใช้จะมีมลพิษไหม เราจะพบว่าตั้งแต่รัฐประหารยุค คสช. เนี่ยโรงไฟฟ้าชีวมวลเยอะมาก ภาคอีสานส่วนใหญ่ก็จะเป็นโรงไฟฟ้าที่มาจากอ้อย ส่วนภาคใต้โรงงานเอกชนทั้งหลายก็จะใช้วิธีการเลี่ยงว่า 9.9 เมกะวัตต์ไม่ต้องทำ EIA เพราะฉะนั้นจะตั้งตรงไหนก็ได้ คนในชุมชนก็ลุกขึ้นมาคัดค้าน”
กรรณิการ์ยังสะท้อนว่าในการทำงานในการสื่อสารข้อมูลในเรื่องนี้ก็มีความยากลำบาก เพราะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างเข้าใจยาก คนบางกลุ่มก็จะมองว่าโรงไฟฟ้าชีวมวลเป็นพลังงานหมุนเวียน หรือแม้กระทั่งการถูกกระแนะกระแหนว่าอะไรก็ไม่เอา ถ่านหินก็ไม่เอา ชีวมวลก็ไม่เอา ซึ่งนอกจากนี้่ยังมีประเด็นเรื่อง การใช้ ม. 44 ในปี 2559 ปลดล็อกผังเมืองให้โรงฟ้าขยะสามารถสร้างขึ้นที่ไหนก็ได้ ซึ่งกลายมาเป็นปัญหาจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งส่วนที่เป็นโรงฝังกลบและเตาเผาขยะก็เช่นเดียวกัน
“เอาขยะมาเป็นไฟฟ้าภาพมันสวยหรู แต่คนในชุมชนที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ที่โรงไฟฟ้าเหล่านี้จะไปสร้าง จริงๆ มันมีรายละเอียดปลีกย่อยเยอะมาก พอคนในชุมชนออกมาคัดค้านโดยเฉพาะใน 3 จังหวัดพื้นที่ภาคใต้ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ควบคุมพิเศษ ทหาร ส.อบต. มากันเพียบเลย คนที่คัดค้านกลับโดนข้อหาในเรื่องของวิพากษ์วิจารณ์รัฐ มันกลายเป็นว่าเรื่องไฟฟ้าในระดับพื้นที่คนที่ได้รับผลกระทบมันมีหลายมิติมาก ทั้งมิติของการมีสิทธิมีเสียง เรื่องของสิทธิชุมชน สิ่งแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบ เพราะจริงๆ แล้วเขาจะได้รับผลกระทบหนักมากไม่ใช่แค่จ่ายค่าไฟแพงขึ้นอย่างเดียว”
กรรณิการ์ยังแสดงความเห็นต่อกรณีการทำข่าวของสื่อมวลชนด้วยว่า อย่าทำแค่ข่าวเชิงปรากฏการณ์ นอกจากการทำข่าวเมื่อมีม็อบไปที่หน้าทำเนียบแล้ว อยากให้กลับไปดูว่าก่อนที่เขาจะมาทำเนียบเขาต่อสู้อะไรกันมาบ้าง อย่างเช่นที่ปัตตานีมีโรงไฟฟ้าที่สร้างแล้วและเกิดน้ำเสีย มลพิษ อยากให้ตามไปดู ทำเป็นเลยซีรีส์ว่า สถานการณ์ในพื้นที่ของกลุ่มคนที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องเรื่องนี้จริงๆ แล้วหนักหนาสาหัสแค่ไหน เพื่อที่จะทำให้คนในวงกว้างเข้าใจคนที่อยู่ในชุมชนที่ได้รับผลกระทบ เรื่องคุณภาพชีวิตเรื่องสิ่งแวดล้อมที่เขาจะได้รับไปเต็มๆ ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เห็นว่าทำไมเราจะต้องมาเรียกร้องให้มีค่าไฟแฟร์ คำว่าแฟร์หรือยุติธรรม ไม่ใช่แค่เรื่องราคาหรือเรื่องนโยบาย แต่เป็นเรื่องของคุณภาพชีวิตแล้วก็สิ่งแวดล้อมที่อยู่ภายใต้นโยบายพวกนั้นด้วย อยากให้ไปเจาะว่าในพื้นที่นั้นๆ เขาเจ็บ เขาเจออะไร
ในเรื่องพลังงานหมุนเวียน กรรณิการ์ยังเล่าให้เห็นถึงปัญหาในส่วนของพื้นที่ว่าเกิดการล็อกสเป็กเกิดขึ้น ทั้งในส่วนของเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าที่เปิดบริษัทรับติดตั้งโซลาร์ โดยใช้ตำแหน่งการเป็นเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าทำให้องค์กรหรือหน่วยงานรัฐต่างๆ เช่น โรงพยาบาลที่ต้องติดตั้งโซลาร์เซลล์ เลือกที่จะจ้างบริษัทนั้นด้วยตำแหน่งของการทำงานเป็นเจ้าหน้าที่การไฟฟ้า ทำให้ไม่เกิดการแข่งขัน หรือในกรณีของบ้านเรือนประชาชนที่จะติดโซลาร์เซลล์เองก็ต้องมีลายเซ็นวิศวกร แม้จะไม่ได้ติดขนาดใหญ่ และหลายคนสามารถเรียนรู้หาความรู้ เบื้องต้นจากอินเทอร์เน็ตได้เอง จนทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘แอบกริด’ คือการติดโซลาร์ที่ไม่ได้ไป on grid ร่วมกับไฟของรัฐ
การส่งเสริมเรื่องพลังงานหมุนเวียนที่เป็นธรรมจริงๆ ต้องไม่มีการกำหนดสเป็กเพื่อให้ตนเองหรือเพื่อกลุ่มทุนขนาดใหญ่ได้ประโยชน์ ทำอย่างไรให้ไฟที่เหลือใช้จากการติดโซลาร์เซลล์ส่งต่อไปให้คนข้างเคียงให้ใช้ประโยชน์ได้ ไม่ว่าจะเป็น วัด มัสยิด โรงเรียน หรือโรงพยาบาล แทนที่ไฟเหลือต้องปล่อยทิ้งเพราะรัฐไม่รับซื้อ ซึ่งกลายเป็นเรื่องผิดกฎหมาย สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ควรปลดล็อก ทำอย่างไรให้คนในทุกระดับที่สนใจเข้าถึงโซลาร์ได้ และไม่ใช่แค่เรื่องเงินทุนอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องความรู้และแบ่งปันพลังงานได้ด้วย
นอกจากนี้ในวงสนทนาครั้งนี้ ยังมีตัวแทนจากกระทรวงพลังงาน อรพินทร์ เพชรทัต ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มาร่วมรับฟังด้วย โดยอรพินทร์แสดงความเห็นว่า
“หลากหลายมิติที่สะท้อนจากภาคประชาชนในงานเสวนาครั้งนี้จะรายงานให้ท่านรัฐมนตรีได้รับทราบ แล้วหลายๆ เรื่องก็มีการดำเนินการไปแล้ว อย่างเรื่องโซลาร์เซลล์ในโรงพยาบาล จริงๆ แล้วกระทรวงสาธารณสุขทำคนเดียวไม่ได้อยู่แล้ว ต้องทำร่วมกับกระทรวงพลังงาน ตอนนี้กำลังเริ่มทำกับโรงเรียนด้วย แต่ที่มันช้าเพราะเรื่องของการจ่ายค่าบิลค่าไฟ เรื่องนี้เราผลักดันมานานมากแต่มันติดขัดเรื่องของการจ่ายบิลค่าไฟ ซึ่งมันเป็นเรื่องของกระทรวงการคลังและกรมบัญชีกลางนั่นเอง
“แต่ท่านรัฐมนตรีพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ได้ผลักดันที่จะแก้ไขในเรื่องของการแก้บิลตัวนี้ให้หน่วยงานภาครัฐได้หันมาใช้โซลาร์เซลล์แล้วก็จ่ายค่าไฟได้น้อยลงหรือไม่จ่ายเลย หรือขายออกไปในราคาที่เป็นธรรม ตอนนี้เรากำลังแก้ไขซึ่งการแก้ไขกฎหมายนั้นใช้เวลาพอสมควรแต่อย่างน้อยมันมีไปหนึ่งเรื่องแล้วล่าสุดที่ท่านเพิ่งประกาศออกมาแต่เผอิญไม่ตรงกับเรื่องค่าไฟเป็นเรื่องของค่าน้ำมัน
“อีกสิ่งหนึ่งคือเรื่องของความมั่นคง พลังงานคือความมั่นคงของประเทศพลังงาน คือความมั่นคงของชีวิตมนุษย์ทุกท่าน ท่านทราบไหมคะว่าการสำรองน้ำมันก็ดี การสำรองไฟก็ดีของประเทศไม่ได้อยู่ในมือของภาครัฐ และ ณ วันนี้ ท่านรัฐมนตรีกำลังสู้กับยักษ์อยู่ คาดว่าท่านก็คงทราบกันดี เพื่อที่จะสร้างความเป็นธรรมในด้านของพลังงานในทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องน้ำมัน ไฟฟ้า ก๊าซ เพื่อให้ประชาชนได้ใช้พลังงานทั้ง 3 ตัวนี้ได้อย่างเป็นธรรม คืนความเป็นธรรม คืนราคาที่เป็นธรรมให้กับประชาชนจริงๆ โดยไม่เกินสิ้นเดือนนี้ นี้ขอให้ทุกท่านติดตามการแถลงข่าวของท่านรัฐมนตรี ซึ่งท่านบอกว่าท่านจะมีหมัดน็อค หรืออย่างน้อยวันจันทร์นี้จะมีการพูดในสภา ซึ่งอาจจะมีการเกริ่นๆ เล็กน้อย แต่เด็ดจริงๆ คือรอท่านแถลงเร็วๆ นี้”