จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วย ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม.โฆษกพรรคเพื่อไทย และพรเทพ วิสุทธิ์วัฒนศักดิ์ ส.ส.ประจวบคีรีขันธ์ ร่วมกันแถลงข่าวถึงความคืบหน้าในการหารือช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรชาวประมง ผ่านสมาคมชาวประมง มีสมาชิก 22 จังหวัด ที่ได้รับความเดือดร้อนจากกฎหมาย พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2558 เพื่อใช้ในการแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (ไอยูยู) โดยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมาโดยที่ไม่มีความเข้าใจปัญหาและการทำประมงอย่างแท้จริง จนสร้างผลกระทบให้กับชาวประมงทั่วประเทศมากกว่า 50,000 ครัวเรือน ชาวประมงจำนวนมากต้องหยุดเดินเรือเพราะไม่มีเงินเพียงพอที่จะปรับปรุงเรือให้เป็นไปตามมาตรฐานที่วางไว้ ชาวประมงต้องล้มหายตายจากไปจำนวนมาก ทั้งยังส่งผลให้ประเทศสูญเสียรายรายได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 200,000 ล้านบาท
จุลพันธ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาสมาคมประมงแห่งประเทศไทยได้ยื่นข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาไปยังรัฐบาลเพื่อให้แก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการทำประมง แต่ไม่ได้รับการตอบรับจากภาครัฐโดยอ้างว่า กฎหมายดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พรรคเพื่อไทยโดยนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรค ได้รับการประสานความร่วมมือกับสมาคมประมงแห่งประเทศไทยมาโดยตลอด ได้รับทราบปัญหาของชาวประมงที่ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ในช่วงตลอด 7-8 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ดังนั้นพรรคเพื่อไทยจึงได้หารือสมาคมประมงแห่งประเทศไทยในการหาทางออกร่วมกันในการช่วยเหลือช่วยเหลือชาวประมงใน 2 ขั้นตอน ได้แก่
1.แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เช่น การช่วยเหลือชาวประมงในการติดตั้งระบบสำแดงข้อมูลตัวตนอัตโนมัติ (AIS) การซื้อเรือคืนจากชาวประมง รวมทั้งขยายระยะเวลาการทำประมงมากขึ้น
2.การแก้ไขกฎหมายรวม 6 ฉบับ เป็นการยื่นเสนอแก้ไขกฎหมายต่อสภาแบบแพกเกจ เพื่อหาทางออกให้พี่น้องชาวประมงอย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่
2.1 ร่าง พ.ร.บ.การประมง ฉบับพรรคเพื่อไทย เป็นการเสนอแก้ไขกฎหมายทั้งฉบับแบบครบวงจร
2.2 การขอแก้ไข พ.ร.บ.การประมง ประกบอีก 5 ฉบับ ได้แก่
2.2.1 เสนอแก้ไข พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2558 ทั้งฉบับ
2.2.2 เสนอแก้ไข พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2558 ทั้งฉบับ โดยตัดรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ ออก
2.2.3เสนอขอแก้ไขเพิ่มเติมรายมาตราของ พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2558 รายมาตรา ส่วนฉบับที่ 4,5,6 เป็นส่วนที่เป็น พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ดึงออกมา ได้แก่
2.2.4 ปรับปรุงกระทรวง ทบวงกรม โดยเสนอให้ตั้งกรมประมงทะเล
2.2.5 เสนอให้มี พ.ร.บ.ว่าด้วยกองทุนการประมง เป็นข้อเรียกร้องของพี่น้องชาวประมง หลังจากช่วง7-8 ปี ถูกละทิ้งจากรัฐบาล
2.2.6 เสนอให้มี พ.ร.บ.สภาการประมงแห่งชาติ ซึ่งภาคการประมงเรียกร้องให้มีการตัดตั้งมาเป็นระยะเวลานาน
จุลพันธ์ กล่าวว่า ข้อเสนอ พ.ร.บ.การประมงของพรรคเพื่อไทย และการเสนอให้แก้ไข พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2558 พรรคเพื่อไทยได้นำเสนอต่อที่สภาผู้แทนราษฎรแล้ว อยู่ในระหว่างการบรรจุเข้าวาระการประชุมสภา จึงอยากถามหาความจริงใจกับรัฐบาล อยากให้รัฐบาลร่วมมือกับพรรคเพื่อไทยในการเร่งแก้ไขปัญหาให้กับชาวประมงที่เดือดร้อนเสียหายมาเป็นระยะเวลานาน เรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ หากไม่เร่งแก้ไขปัญหา จะสูญเสียเม็ดเงินหลายแสนล้านบาท
พรเทพ กล่าวว่า ชาวประมงทั้ง 22 จังหวัด เดือดร้อนมาก จนมาร้องเรียนกับพรรคเพื่อไทย ปัญหาเกิดขึ้นมาตั้งแต่ ปี 2558 จนถึงปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าและได้รับการแก้ไข ชาวประมงเสียหายหนักมาก จึงอยากถามรัฐบาลว่าในช่วงที่พลเอกประยุทธ์ลงพื้นที่ไปพบปะชาวประมง ได้รับรู้ปัญหาของชาวประมงบ้างหรือไม่ รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขปัญหา เพื่อให้ชาวประมงลืมตาอ้าปากได้อีกครั้ง อย่ามองเรื่องนี้เป็นเรื่องเล็ก แต่เป็นเรื่องความเป็นความตายของพี่น้องชาวประมง
ธีรรัตน์ ยังได้กล่าวถึงความเดือดร้องของพี่น้องประชาชนที่ไม่สามารถเข้าถึงชุดตรวจ ATK ว่า ได้รับการร้องเรียนจากผู้ปกครองและผู้อำนวยการโรงเรียนขนาดเล็กหลายพื้นที่ในต่างจังหวัด ว่าขณะนี้ประสบปัญหาขาดแคลนชุดตรวจ ATK เป็นอย่างมาก อยากให้กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกันจัดหาชุดตรวจ ATK ให้เพียงพอด้วย
นอกจากนี้ยังได้รับการร้องเรียนจากศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนในกรุงเทพมหานคร กำลังประสบปัญหาค่าอาหารกลางวันรายหัวที่ยังคงได้วันละ 20 บาท ซึ่งไม่เพียงพอทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ จากราคาต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น แต่ค่าอาหารกลางวันยังเท่าเดิม ส่งผลต่อให้คุณภาพและปริมาณอาหารลดต่ำลงไป ส่วนตัวได้นำเรื่องนี้เข้าหารือในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรแล้ว จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขเรื่องนี้ด้วย