วันที่ 13 ก.ค. ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 1 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1) วาระโหวตเลือกผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี พริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นชี้แจงข้อกล่าวหาของสมาชิกรัฐสภา ว่านโยบายบางส่วนของพรรคก้าวไกล มีความมุ่งหมายจะล้มล้างการปกครอง
พริษฐ์ เล่าที่มาว่า เดิมทีมาตรา 112 ระบุโทษเกี่ยวกับการให้ร้ายพระมหากษัตริย์ เจตนาที่พรรคก้าวไกลเสนอให้แก้ไข ก็ไม่ต่างจากเจตนาของหลายท่านในรัฐสภาแห่งนี้ คือตั้งใจสานความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์และประชาชนภายใต้ยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป จึงต้องแก้ไขเพื่อรักษาสมดุลในสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน
พริษฐ์ ชี้ว่า มาตรา 112 มีปัญหาเรื่องการบังคับใช้ แต่มีหลายกรณีที่การดำเนินคดีหรือตัดสิน อาจไม่เข้าข่ายการอาฆาตมาดร้าย พรรคก้าวไกลจึงเสนอแก้ไขเพื่อเขียนขอบเขตการบังคับใช้ได้ชัดเจนขึ้น ระหว่างการแสดงออกโดยสุจริต อีกทั้งยังมีอัตราโทษที่รุนแรงไม่ได้สัดส่วนกับความผิด
รวมถึงการเปิดช่องให้ทุกคนสามารถร้องทุกข์กล่าวโทษได้นั้นเปิดโอกาสให้ใช้กฎหมายนี้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้ง ย่อมไม่เป็นผลดีต่อสถานะอันเป็นที่เคารพสักการะของพระมหากษัตริย์
"การเสนอแก้ไขมาตรา 112 พรรคก้าวไกลไม่ได้มีเจตนาจะล้มล้างการปกครอง แต่พยายามเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับหลักสากล ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"
และข้อกล่าวหาว่าพรรคก้าวไกลไม่เข้าใจระบบการปกครองแบบรัฐสภา พริษฐ์ ได้ชวนสมาชิกตั้งสติพร้อมกันว่า คำถามสำคัญในวันนี้ ไม่ใช่การแสดงความเห็น ว่ารู้สึกอย่างไรต่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี แต่คือคำถามที่ว่า รัฐสภาจะเคารพเสียงของประชาชนที่สนับสนุนและไม่สนับสนุนพรรคการเมืองใด ซึ่งผลการเลือกตั้งที่ผ่านมาก็ได้แสดงให้เห็นแล้ว
"แต่ข่าวร้ายคือประเทศเรานั้นไม่ได้อยู่ในสภาวะการเมืองที่เป็นปกติ ซึ่งมีต้นกำเนิดส่วนหนึ่งมาจากมาตรา 272 คือให้ ส.ว.มาร่วมโหวตนายกรัฐมนตรี มีส่วนในการแทรกแซงให้การจัดตั้งรัฐบาลไม่เป็นไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย เราจึงต้องคืนความปกติให้ประเทศไทยเดินไปสู่อนาคต"
พริษฐ์ เน้นย้ำว่า เคารพในความเห็นส่วนตัวของ ส.ว. แต่ต้องย้ำว่าหากมีความประสงค์จะคืนความปกติให้กับระบบการเมืองไทย ทางออกนั้นต้องมาใช้การงดออกเสียง หรือการไม่อยู่ในที่ประชุมนี้ แต่คือการให้เสียงเห็นชอบให้ พิธา