ไม่พบผลการค้นหา
สหรัฐฯ และพันธมิตรตะวันตกได้ประกาศการคว่ำบาตรรัสเซียโดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจและการเงินแล้ว หลังจากที่รัสเซียประกาศรับรองเอกราชให้แก่โดเนตสค์และลูฮันสค์ของยูเครน อย่างไรก็ดี สื่อของตะวันตกอย่าง PBS ของสหรัฐฯ ได้ออกมาเตือนโลกตะวันตกว่า มาตรการการคว่ำบาตรของพวกเขาต่อรัสเซียอาจไม่ช่วยแก้ไขปัญหาวิกฤตยูเครนลงได้

มาชา เกสเซน ผู้สื่อข่าวของ The New Yorker ผู้ซึ่งเขียนบทความล่าสุดเกี่ยวกับชีวิตในพรมแดนยูเครน-รัสเซีย ที่ที่สื่อท้องถิ่นเผยแพร่ข่าวโฆษณาชวนเชื่อ และใช้วาทกรรมการแบ่งแยกดินแดนโหมกระหน่ำเข้าข้างฝั่งรัสเซีย ได้ออกมาให้สัมภาษณ์และวิเคราะห์กับทาง PBS ว่า มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ กับชาติพันธมิตรต่อรัสเซียอาจไม่ได้ให้วิกฤตในครั้งนี้จบลงได้

เกสเซนระบุว่า รัสเซียเชื่อว่ากฎหมายระหว่างประเทศนั้นมีไว้เพื่อผู้อ่อนแอ ในขณะที่โลกปัจจุบันถูกแบ่งแยกออกเป็นสองขั้ว โดยในอดีต สหรัฐฯ พร้อมจะทำในสิ่งที่ตนเองเชื่อว่าถูกต้องโดยที่ไม่ได้อิงต่อกฎหมาย หลังจากที่องค์กรสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) ก่อสงครามโคโซโวในปี 2542 โดยไม่ได้ผ่านการรับรอง สิ่งที่เกิดขึ้นในยูเครน ณ ตอนนี้โดยฝีมือของรัสเซียจึงเปรียบเสมือนเป็นภาพสะท้อนสงครามในครั้งอดีต

เกสเซนกล่าวว่า รัสเซียได้กล่าวหาว่ายูเครนทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คนเชื้อสายรัสเซียในภูมิภาคดอนเนสทั้งๆ ที่ไม่มีหลักฐาน ในขณะที่รัสเซียเองได้ประกาศรับรองเอกราชกลุ่มแบ่งแยกดินแดน ไม่ต่างอะไรไปจากสหรัฐฯ กับพันธมิตรในเหตุการณ์ที่โคโซโว เกสเซนชี้ว่า รัสเซียมีเจตนาที่ชัดเจนที่จะแบ่งโลกเป็นสองขั้วเหมือนช่วงยุคสงครามเย็นอีกครั้ง

เกสเซนกล่าวถึงประเด็นการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของโลกตะวันตกต่อรัสเซียว่า การคว่ำบาตรย่อมเกิดเพื่อส่งข้อความไปยังรัสเซียว่าประชาคมโลกต่อต้านการกระทำของรัสเซียต่อยูเครน แต่การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ กับชาติตะวันตกเป็นการกระทำที่เหมือน “คนเสียสติ” ด้วยการทำอะไรซ้ำๆ เหมือนเดิมโดยหวังว่าจะเกิดผลลัพธ์ที่แตกต่าง

เกสเซนชี้ว่า การคว่ำบาตรไม่เท่ากับการป้องปราม หรือการบังคับให้รัสเซียเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตนเอง เพราะตลอดระยะเวลาการคว่ำบาตรของโลกตะวันตกต่อรัสเซียนับทศวรรษช่วยพิสูจน์ว่ามาตรการดังกล่าวไม่ได้ช่วยป้องปราบใดๆ ต่อรัสเซียได้ อย่างไรก็ดี เกสเซนชี้ว่านี่ไม่ได้หมายความว่าการคว่ำบาตรไม่ใช่เรื่องที่ควรทำ และมันเป็นเรื่องที่ถูกต้องที่จะคว่ำบาตร เพียงแต่มันจะไม่ได้ช่วยให้วิกฤตในครั้งนี้ดีขึ้น

อย่างไรก็ดี เกสเซนชี้ว่าการขู่รัสเซียว่าโลกตะวันตกจะยกระดับการคว่ำบาตรเพิ่มเติม หากรัสเซียเริ่มการกระทำใดๆ ที่เลวร้ายลงไม่ได้ช่วยป้องปรามเหตุใดๆ “ปูตินไม่ได้กลัวการคว่ำบาตรเพราะเขาไม่ได้กังวลว่าประชาชนของตนเองจะยากจนลง มันไม่ได้ส่งผลกระทบในเชิงส่วนตัวกับเขา” เกสเซนย้ำ พร้อมระบุว่า คนรอบตัวของ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียที่ได้รับผลกระทบจากการคว่ำบาตรก็จะไม่ลุกขึ้นมาต่อต้านปูตินด้วยเช่นกัน

เกสเซนระบุว่า จากประวัติศาสตรที่ผ่านมา ผู้นำเผด็จการมักได้เปรียบท่ามกลางภาวะความยากลำบาก ผู้คนจะเกิดความวิตกกังวลในการเอาชีวิตรอดของตัวเอง ประชาชนภายใต้เผด็จการจะเกิดความกลัวต่อการเปลี่ยนแปลงใดๆ พวกเขาจะไม่มีเวลาหรือพลกำลังใดๆ ที่จะนึกถึงการปกครองที่ดีของรัฐบาล พวกเขาจะกังวลเพียงแต่อาหารมื้อต่อไปเท่านั้น เกสเซนชี้ว่าเศรษฐกิจที่ย่ำแย่จะยิ่งทำให้อำนาจของระบอบเผด็จการเข้มแข็ง

เกสเซนคาดว่า ปูตินทราบดีถึงความพร้อมของกำลังตนเองว่ามีมากกว่ายูเครนอย่างถล่มทลาย แต่เกสเซนเชื่อว่าปูตินไม่เข้าใจกระแสการต่อต้านจากพลเมืองยูเครนที่มีต่อรัสเซีย โดยการที่รัสเซียเข้าไปจัดตั้งรัฐบาลหุ่นเชิดของตนเองในดินแดนยูเครนจะก่อให้เกิดการต่อต้านอย่างแน่นอน และปูตินไม่ควรประมาทประชาชนยูเครนที่พร้อมจะสละชีวิตของพวกเขาเองเพื่ออิสรภาพ และเหตุการณ์การสละชีวิตของประชาชนยูเครนเพื่อเสรีภาพของตนเองเกิดขึ้นมาแล้วอย่างน้อย 3 ครั้ง โดยเฉพาะในครั้งล่าสุดเมื่อปี 2556-2557

เกสเซนวิจารณ์ปูตินว่า ผู้นำของรัสเซียพยายามสร้างเรื่องเล่าใหม่ โดยอ้างอิงความยิ่งใหญ่ของอดีตสหภาพโซเวียตในการเข้ายึดครองพื้นที่ของยูเครน อย่างไรก็ดี เกสเซนชี้ว่าข้ออ้างว่ารัสเซียเป็นรัฐเดี่ยว และเป็นอาณาจักรที่รวมศูนย์อำนาจมาโดยตลอด ทั้งที่ๆ สหภาพโซเวียตที่ล่มลงในปี 2534 มีการรับรองรัฐอิสระต่างๆ ภายใต้สหภาพโซเวียตที่เป็น “สหภาพ” หรือการรวมตัวของรัฐต่างๆ เกสเซนระบุว่า ปูตินได้ทำให้ประวัติศาสตร์ของยุโรปตะวันออกบิดเบี้ยวไปจากความเป็นจริง

ที่มา:

https://www.youtube.com/watch?v=cxJxfSCMvnE