ไม่พบผลการค้นหา
“ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน” ย้ำมติสถานะ "พล.อ.ประยุทธ์" ถูกต้องรอบคอบ วอนประชาชนอ่านคำวินิจฉัยให้ละเอียด ขอเวลารวบรวมข้อเท็จจริงกรณีเลือกตั้งโมฆะ มีมติได้ก่อน วันที่ 9 พฤษภาคมนี้

พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่า ยังไม่นำคำร้องกรณีการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 เป็นโมฆะหรือไม่เข้าสู่ที่ประชุมของผู้ตรวจการแผ่นดิน เนื่องจากยังอยู่ระหว่างการรับฟังข้อมูลและข้อเท็จจริงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยจะเร่งพิจารณาให้เสร็จสิ้นและมติก่อนวันที่ 9 พฤษภาคมนี้

โดยการพิจารณาในเรื่องนี้ต้องดูในข้อเท็จจริงว่ามีเหตุผลเพียงพอหรือไม่ ซึ่งต้องไว้วางใจ กกต.ที่ได้รับการสรรหามาทั้ง 7 คนตามรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งผ่านการตรวจสอบและกลั่นกรองคุณสมบัติมาแล้วเป็นอย่างดี ในขณะที่การเลือกตั้งครั้งนี้ 350 เขตมีหน่วยเลือกตั้งมากกว่า 90,000 หน่วย การทำงานของกรรมการประจำหน่วยกว่า 6 แสนคนอาจเกิดปัญหาและความผิดพลาดขึ้นได้ ซึ่งหากสามารถตอบข้อสงสัยและพิสูจน์ว่าการเลือกตั้งมีความสุจริต เที่ยงธรรม โปร่งใส กล้าหาญและปราศจากอคติได้ การเลือกตั้งในครั้งนี้จะไม่เข้าข่ายเป็นการเลือกตั้งที่โมฆะ

แต่หากการเลือกตั้งไม่สุจริต ไม่เที่ยงธรรม และมีอคติในการนับคะแนน เอื้อประโยชน์ต่อผู้สมัครรายหนึ่งรายใดเหมือนอย่างในอดีตที่ผ่านมา ผู้ตรวจการแผ่นดินสามารถนำไปเป็นเหตุทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะได้ อย่างไรก็ตามเชื่อว่ากลไกของกฎหมายจะเป็นทางออกให้กับทุกเรื่องได้

พล.อ.วิทวัส ขอให้ประชาชนทำใจเป็นกลาง รับฟังเหตุผลซึ่งกันและกัน อย่างกรณีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับการเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในตำแหน่งหัวหน้า คสช. ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินได้พิจารณาอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะได้นำคำวินิจฉัยที่ 5/2543 มาประกอบการตัดสินใจ และเป็นไปตามมาตรา 98(15) ซึ่งไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ

"ภายใต้สถานการณ์การเมืองปัจจุบันนี้ไม่ได้ทำให้การทำงานลำบากมากขึ้น แต่ต้องใช้ความรอบคอบในการทำงานให้มากขึ้นเท่านั้น ด้วยเหตุที่ว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 มีเรื่องใหม่ที่บัญญัติอยู่ในกฎหมาย โดยยังไม่เคยเกิดเหตุการณ์ขึ้นจริง โดยเฉพาะการจัดการเลือกตั้งแบบใหม่ ที่สังคมอยากทราบผลเลือกตั้งอย่างรวดเร็ว แต่อาจทำให้ความแม่นยำเสียหายไป ซึ่งต้องไปดูในข้อกฎหมายว่าสามารถทำสิ่งใดได้บ้าง ทำให้องค์กรอิสระต้องทำงานด้วยความรอบคอบมากขึ้น" พล.อ.วิทวัส กล่าว

ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ยังกล่าวด้วยว่า ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2560 ต่อเนื่องมาจนถึงปี 2561 และปี 2562 นี้ เป็นช่วงที่ผู้ตรวจการแผ่นดินปรับโครงสร้างให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมแบบใหม่ โดยเฉพาะการสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรอิสระด้วยกัน เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนให้มีความใกล้ชิดมากขึ้น