ไม่พบผลการค้นหา
มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย ออกแถลงการณ์ประเมินการทำงานของ กกต.กว่าครึ่งปีที่ผ่านมา ระบุ กกต. ไม่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์สรรหา ไม่อุทิศเวลาทำหน้าที่อย่างเต็มที่ ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเลือกตั้ง และไม่ใช้ทรัพย์ทางราชการอย่างประหยัดคุ้มค่า

มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (พีเน็ต) ออกแถลงการณ์วันนี้ (7 มี.ค. 2562) โดยระบุว่าเป็นการประเมินการทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในช่วง 6-7 เดือนที่ผ่านมา โดยเนื้อหาในแถลงการณ์ระบุว่า "ขอใช้ข้อกำหนดในกฎหมาย และในมาตรฐานทางจริยธรรมเพื่อเป็นเกณฑ์การประเมิน ดังนี้ 

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560 มาตรา 12 กำหนดว่าให้คณะกรรมการสรรหา กกต. ปรึกษาหารือเพื่อคัดสรรให้ได้บุคคลซึ่งมีความรับผิดชอบสูง มีความกล้าหาญในการปฏิบัติหน้าที่ มีพฤติกรรมทางจริยธรรมเป็นตัวอย่างที่ดีของสังคม และไม่มีพฤติการณ์ยอมตนอยู่ใต้อาณัติของพรรคการเมืองใดๆ ตลอดทั้งมีทัศนคติที่เหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดผลสําเร็จประกอบกับมาตรา 21ระบุว่า กรรมการต้องปฏิบัติหน้าที่เต็มเวลา และการปฏิบัติหน้าที่และการใช้อํานาจของคณะกรรมการต้องเป็นไปโดยสุจริต เที่ยงธรรม กล้าหาญ และปราศจากอคติทั้งปวงในการใช้ดุลพินิจ อีกทั้ง กกต. ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระฯ 

ข้อ 13 ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความยุติธรรม เป็นอิสระ เป็นกลาง และปราศจากอคติ โดยไม่หวั่นไหวต่ออิทธิพล กระแสสังคม หรือแรงกดดันอันมิชอบด้วยกฎหมาย 

ข้อ 21 ปฏิบัติหน้าที่ราชการอย่างเต็มกําลังความสามารถ และยึดมั่นในความถูกต้องชอบธรรม โปร่งใสและตรวจสอบได้ และปฏิบัติตามกฎหมาย

ข้อ 22 อุทิศเวลาแก่ทางราชการ 

ข้อ 24 ดูแลรักษาและใช้ทรัพย์สินของทางราชการอย่างประหยัด คุ้มค่า โดยระมัดระวังมิให้เสียหายหรือสิ้นเปลืองโดยไม่จําเป็น

มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย(พีเน็ต) มีภารกิจในการตรวจสอบการเลือกตั้งได้ติดตามการทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในช่วง 6-7 เดือนที่ผ่านมา และมีความเห็นว่า

1. กกต.ยังไม่ได้แสดงคุณสมบัติตามเกณฑ์การสรรหา กกต.ว่าเป็นผู้มีความรับผิดชอบสูงหรือได้ทำหน้าที่อย่างกล้าหาญไม่ประพฤติตนตกอยู่ใต้อาณัติของพรรคการเมืองใดๆรวมทั้งมุ่งหวังให้เกิดผลสำเร็จในการทำให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตเที่ยงธรรมโดยขอยกกรณีการร้องเรียนที่เกิดขึ้นจำนวนมากแต่มีเพียงเรื่องเดียวที่ กกต. นำสำนวนส่งต่อศาลรัฐธรรมนูญและกรณีมีเสียงเรียกร้องให้ กกต. วินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคสช.เข้าข่ายเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และมีลักษณะต้องห้ามเป็นบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่นั้น กกต.กลับเพิกเฉยในกรณีนี้

2. กกต.ไม่ได้อุทิศเวลาให้แก่การปฏิบัติหน้าที่ราชการอย่างเต็มกำลังความสามารถโดยไม่มีการจัดประชุมปรึกษาหารือกันนานร่วม 10 วันทั้งๆ ที่มีภารกิจต้องพิจารณาเรื่องร้องเรียนต่างๆ เกี่ยวกับการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งซึ่งเป็นข่าวว่ามีจำนวนนับร้อยเรื่องรวมทั้งมีภารกิจต้องพิจารณาออกระเบียบ และประกาศและตอบข้อหารือของพรรคการเมืองเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้งซึ่งต้องการความชัดเจนโดยเร็วอนึ่ง มีรายงานข่าวเกี่ยวกับพฤติกรรมการปราศรัยหาเสียงของพรรคการเมืองในหลายพื้นที่ว่ามีการขนคนและแจกเงินให้คนเข้าร่วมฟังการปราศรัยแต่ไม่ปรากฏว่ากกต. ได้ทำหน้าที่ติดตามตรวจสอบในเรื่องนี้ 

3. กกต. ยังไม่ได้ปฏิบัติตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง มาตรา 22(5) ที่กำหนดให้ออกหลักเกณฑ์และวิธีการสนับสนุนให้องค์กรเอกชนสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขรวมทั้งการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการเลือกตั้ง

4. กกต. ไม่ได้ใช้ทรัพย์สินของทางราชการอย่างประหยัดคุ้มค่าและระมัดระวังมิให้สิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็นโดยใช้งบประมาณร่วม 12 ล้านบาทในการเดินทางไปต่างประเทศเพื่อศึกษาดูงานในระยะเวลาไล่เลี่ยกันทั้ง 7 คน โดยไม่มีความจำเป็นใดๆที่ทุกคนจะต้องไปศึกษาดูงานโดยเฉพาะในช่วงที่กำลังมีการเลือกตั้งนอกเขตในวันที่ 17 มีนาคม 2562 และการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 24 มีนาคม 2562 และมีการแข่งขันอย่างเข้มข้นดังที่เป็นอยู่

มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (พีเน็ต) จึงขอประเมินว่า กกต.ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานการปฏิบัติหน้าที่ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา และขอเรียกร้องให้ กกต. ปรับปรุงการปฏิบัติงานอย่างเร่งด่วนและแถลงผลงานที่ทันกับเหตุการณ์เป็นระยะๆ เพื่อให้การบริหารจัดการการเลือกตั้งของ กกต. มีความโปร่งใสและเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ