วันที่ 23 เมษายน 2566 เวลา 10:00 น.- 11:00 น. ที่อนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม (ข้างสน.ชนะสงคราม) คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา'35 นำโดย นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติฯ แถลงข่าวเชิญชวนประชาชนและภาคส่วนต่างๆ ร่วมงาน 31 ปีพฤษภาคม' 35 ที่อนุสรณ์สถานพฤษภาคมประชาธรรมซึ่งจะมีการจัดพิธีการทางศาสนาและรำลึกวีรชนในภาคเช้าและมีการเสวนาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ในช่วงบ่าย โดยคณะกรรมการญาติ,มูลนิธิพฤษภาคมประชาธรรม นำโดย ดร. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ประธานมูลนิธิน และองค์กรภาคี
พร้อมแถลงข่าว "ข้อเสนอญาติวีรชนพฤษภา 35 ต่อพรรคการเมือง ในการหาเสียงเลือกตั้ง และการนำเสนอนโยบายเพื่อประชาชน" เป็นการแถลงการณ์หนุนการเลือกตั้งบริสุทธ์ยุติธรรม พัฒนาประชาธิปไตย ลดความขัดแย้ง สร้างความสมานฉันท์ปรองดอง เนื้อหาระบุว่า พรรคการเมืองต่างๆได้แข่งขันกันเสนอกันนโยบายเพื่อเรียกคะแนนเสียงจากประชาชนรวมถึงนโยบายประชานิยมในรูปแบบต่างๆที่ไม่ได้มุ่งแก้ไขปัญหาทางโครงสร้างเศรษฐกิจและการเมือง ขณะที่การแข่งขันทวีความรุนแรงมากขึ้น มีการทำลายป้ายหาเสียงและใส่ร้ายป้ายสีกัน บางพรรคการเมืองเสนอให้จัดการกับฝ่ายตรงข้ามและไล่ไปอยู่ประเทศอื่น ทั้งที่ควรยอมรับความเห็นที่แตกต่างและอยู่ร่วมกันได้ตามหลักสากล ดังนั้นคณะกรรมการญาติวีรชนฯ จึงเป็นห่วงสถานการณ์ว่าที่อาจจะทำให้บ้านเมืองเข้าสู่วิกฤตอีกครั้ง จึงขอวิงวอนให้ทุกฝ่ายช่วยกันหาทางออก เพื่อยับยังยั้งความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นด้วย
ส่วนการที่พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ นำเสนอนโยบายก้าวข้ามขัดแย้งพยายามเป็นโซ่ข้อกลางและพร้อมประนีประนอมเชื่อมประสานกับทุกกลุ่มทางการเมืองเพื่อรับฟังความเห็นต่าง รวมถึงคนรุ่นใหม่ ถือเป็นสัญลักษณ์สำคัญที่ทุกฝ่ายควรต่อยอดเพื่อนำไปสู่การสร้างความปรองดองอย่างแท้จริง โดยการเปิดพื้นที่พูดคุยกันระหว่างกลุ่มการเมืองต่างๆมากขึ้นเพื่อหาจุดร่วมและทางออกร่วมกันในสถานการณ์การเลือกตั้งครั้งนี้
ญาติวีรชนพฤษภา’35 ย้ำในจุดยืนเดิมที่จะสนับสนุนแนวทางการสร้างความปรองดองสมานฉันท์เพื่อยุติความรุนแรงไม่ว่าจะเกิดจากฝ่ายใด ดังที่เคยอโหสิกรรมให้ พลเอกสุจินดา คราประยูร อดีตหัวหน้า คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) หลังเหตุการณ์พฤษภา' 35 จึงขอให้ทุกพรรคการเมืองมีแนวคิดหรือนโยบายเพื่อสร้างความปรองดองสมานฉันท์อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้ประชาชนพิจารณาในการเลือกตั้ง มากกว่าการแข่งขันทางนโยบายที่ขาดความจริงใจและมุ่งเน้นคะแนนเสียงจากกระแสสังคม โดยข้อเสนอของญาติวีรชนฯ ทั้งหมดนั้น เพื่อให้การเลือกตั้งครั้งนี้มีการจัดตั้งรัฐบาลอย่างราบรื่นตามหลักประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา สามารถนำพาสังคมไทยออกจากความขัดแย้ง ความรุนแรง และรัฐประหารได้อย่างแท้จริงและยั่งยืน ร่วมกันพัฒนาประชาธิปไตยเพื่อทำให้ประเทศชาติเจริญรุ่งเรืองได้อย่างสมบูรณ์ต่อไป
อดุลย์ กล่าวทิ้งท้ายว่า "ญาติฯพยายามสร้างบรรยากาศให้ทุกฝ่ายจับมือกัน โอกาสนี้ จึงขอวิงวอนประชาขนทุกหมู่เหล่า ให้ยุติความรุนแรง ในวาระเลือกตั้ง ขอให้ทุกฝ่ายยับยั้ง อย่าทำอะไรรุนแรง ไม่ควรพังป้ายหาเสียง หรือโจมตีอีกฝ่ายด้วยความเท็จ ควรก้าวข้ามความขัดแย้ง นำสู่ความปรองดอง ยืนยันว่า บ้านเมืองแม้มีความเห็นต่างกัน แต่ไม่จำเป็นต้องมีความรุนแรง และต้องอยู่ร่วมกันได้เพื่อร่วมกันพัฒนาประเทศชาติ ถ้าความสามัคคีไม่เกิด ก็ไม่สามารถพัฒนาหรือได้ประเทศที่ทุกคนปรารถนาได้ ส่วนการเลือกตั้ง 1 สิทธิ์ 1 เสียงเท่ากัน ทุกคนสามารถเลือกตามที่ศรัทธาหรือชื่นชอบได้ โดยไม่จำเป็นต้องขัดแย้งหรือเกิดความรุนแรงขึ้นจากการเลือกตั้ง"