ไม่พบผลการค้นหา
อัยการจังหวัดธัญบุรีสั่งฟ้องคดี 112 ‘ณัฐชนน’ สมาชิกแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ กรณีจัดพิมพ์หนังสือ ‘ปรากฏการณ์สะท้านฟ้า’ รวมคำปราศรัยราษฎร ชี้มีข้อความใส่ร้ายกษัตริย์

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า พนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรียื่นฟ้อง ณัฐชนน ไพโรจน์ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสมาชิกกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากกรณีหนังสือ “ปรากฏการณ์สะท้านฟ้า 10 สิงหา ข้อเรียกร้องว่าด้วยสถาบันกษัตริย์” หรือหนังสือ “ปกแดง” และศาลรับฟ้องไว้เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.0212/2565

หลังศาลรับฟ้อง ทนายความได้ยื่นประกันตัวและศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี โดยใช้หลักทรัพย์ประกันเป็นจำนวนเงิน 150,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ กำหนดนัดพร้อมเพื่อสอบคำให้การในวันที่ 25 ม.ค. 2565

มูลเหตุแห่งคดีสืบเนื่องจาก ก่อนการชุมนุม #19กันยาทวงอํานาจคืนราษฎร ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบจาก สภ.คลองหลวง และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ได้เดินทางไปบ้านสมาชิกกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม จากนั้นพยายามยึดหนังสือ “ปรากฏการณ์สะท้านฟ้า 10 สิงหา ข้อเรียกร้องว่าด้วยสถาบันกษัตริย์” ซึ่งเป็นหนังสือบันทึกคำปราศรัยวิจารณ์พระราชอำนาจจากเวที #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน เมื่อ 10 ส.ค. 2563 จำนวน 49,990 เล่ม ที่นักศึกษาเตรียมในงานชุมนุมดังกล่าว ด้านเจ้าหน้าที่อ้างว่า มีเนื้อหาล้มล้างการปกครอง ต้องการนำไปตรวจสอบ โดยไม่ได้แสดงหมายใดๆ ต่อมา พนักงานสอบสวน สภ.คลองหลวง ได้ออกหมายเรียกให้ณัฐชนนเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 


อัยการระบุ หนังสือ ’ปรากฏการณ์สะท้านฟ้า’ มีเนื้อหาใส่ร้าย ร.9-ร.10

ณัฐพงษ์ วายุพัฒน์ พนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรีบรรยายฟ้องโดยเกริ่นนำว่า ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวกันจะแบ่งแยกไม่ได้ และมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์รัชกาลปัจจุบันทรงเป็นประมุข ดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้

คำฟ้องบรรยายโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2563 จําเลยกับพวกอีก 1 คน ซึ่งยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ได้ร่วมกันหมิ่นประมาทหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายกษัตริย์ ด้วยการร่วมกันผลิตสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือ ชื่อ “ฟ้ามืดเมื่อมีได้ ก็ฟ้าใหม่ย่อมคงมี ปรากฏการณ์สะท้านฟ้า 10 สิงหา 10 ข้อเรียกร้องว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์” จํานวน 45,080 เล่ม 

โดยอัยการได้หยิบยกข้อความจำนวน 15 ข้อความ และข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อ ระบุว่าเข้าข่ายองค์ประกอบมาตรา 112 สำหรับตัวอย่างข้อความมี ดังนี้

“สิทธิเสรีภาพถูกทําลาย ผู้คนจํานวนมากต้องถูกจองจํา ลี้ภัย หรือไม่ก็สูญหาย ส่วนคนที่ยังอยู่ในประเทศต้องต่อสู้ด้วยข้อจํากัดเพราะคณะรัฐประหารมีตุลาการไว้รองรับอํานาจของตน” 

“อํานาจของพระมหากษัตริย์ใกล้เคียงกับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไม่ว่าจะเป็นการโอนทรัพย์สินของสถาบันไปเป็นของกษัตริย์ การแก้ไขรัฐธรรมนูญตามอําเภอใจ”

“เจตนาการพูดของผมในครั้งนี้ คือต้องการให้พระมหากษัตริย์อยู่ในที่ที่เหมาะสมและสามารถอยู่ร่วมกับประชาชนคนไทยได้และที่บอกว่าการอยู่เหนืออํานาจอธิปไตยคือการอยู่เหนืออํานาจของประชาชน โดยการที่ประชาชนไม่สามารถแตะต้องได้เพราะถ้าใครแตะต้องโดนมาตรา 112” 

“ประเด็นสําคัญที่ผมจะมาพูดในวันนี้คือ ข้อเรียกร้องระหว่างบรรทัดของพวกเรา ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข นั้นหมายถึงกษัตริย์ต้องอยู่เหนือการเมืองและอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ” 

“แต่ปัญหามันก็เกิดขึ้นเมื่อสถาบันพระมหากษัตริย์พยายามขยายพระราชอํานาจผ่านทางคณะรัฐประหารปี 2557 ที่มีผู้นําชื่อประยุทธ์ จันทร์โอชา”

“พระมหากษัตริย์ถ้ายังเป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ต้องไม่เซ็นรับรองการรัฐประหาร หากมีการรัฐประหารเกิดขึ้น สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องยืนอยู่ฝ่ายประชาธิปไตยเท่านั้น” 

“ในเหตุการณ์ของประเทศไทยนั้น ก็มีตัวอย่างกบฏยังเติร์ก ปี 2524 จะล้มยึดอํานาจรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นการก่อการยึดอํานาจที่ใช้กําลังคนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย ทหาร 40 กว่ากองพัน คือเกินครึ่งของกองทัพบุกเข้ามาในกรุงเทพฯ สามารถยึดกรุงเทพฯได้ทั้งหมด ในปกติสมัยก่อนเวลาเขายึดอํานาจกัน ยึดทําเนียบ ยึดสภา ยึดสื่อมวลชน แค่นี้ก็สามารถที่จะชนะได้แล้ว แต่ในครั้งนี้ตัวคนเซ็นหนีไปอยู่กับนายกรัฐมนตรีที่โคราชพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงไม่ยอมอยู่เซ็นรัฐประหารให้กับคณะที่เขายึดอํานาจ แต่หนีไปปกป้องอยู่กับพลเอกเปรมที่ค่ายสุรนารี นี่ขนาดว่าเขายึดได้ทั้งกรุงเทพฯ แล้ว แต่ก็ไม่สามารถที่จะชนะได้เพราะผมคนเซ็นคือหลักฐานว่าการเซ็นนั้นสําคัญไฉน”

อัยการบรรยายว่า เนื้อหาในหนังสือข้างต้นเป็นถ้อยคําที่เป็นการใส่ความต่อกษัตริย์ ทําให้ประชาชนทั่วไปที่ได้ทราบเข้าใจว่ารัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 เป็นคนไม่ดี รับรองให้มีการรัฐประหาร เพื่อทําลายระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เกี่ยวข้องและแทรกแซงการเมืองและประเด็นเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจในทางไม่ดี 

อีกทั้งยังมีเนื้อหามุ่งหมายในการเปลี่ยนแปลง ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ล้มล้างสถาบันกษัตริย์ซึ่งเป็นสถาบันหลักของประเทศ อันเป็นที่เคารพสักการะของประชาชนคนไทยมาอย่างยาวนาน ซึ่งถือเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของพระมหากษัตริย์ 

ในท้ายคำฟ้องพนักอัยการได้ขอศาลได้พิจารณาพิพากษาลงโทษจําเลยตามกฎหมาย และขอศาลได้สั่งริบหนังสือดังกล่าวจำนวน 45,080 เล่ม ทั้งยังคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย อ้างเหตุว่าคดีมีอัตราโทษสูง เกรงว่าจำเลยจะหลบหนี

หลังศาลรับฟ้อง ทนายความได้ยื่นประกันตัวและศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี โดยให้วางหลักทรัพย์ประกันเป็นจำนวนเงิน 150,000 บาท ระบุในคำสั่งว่า จำเลยไม่มีพฤติการณ์หลบหนี มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง และไม่มีพฤติการณ์ก่อคดีอีก พร้อมกันนี้ศาลได้วางเงื่อนไขในการปล่อยตัวชั่วคราวครั้งนี้ 2 ข้อ ได้แก่ 

ห้ามจำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักร 

ห้ามหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ราชินี หรือรัชทายาท 

ศาลกำหนดนัดวันสอบคำให้การในวันที่ 25 ม.ค. 2565

สำหรับหนังสือ “ปรากฏการณ์สะท้านฟ้า 10 สิงหา ข้อเรียกร้องว่าด้วยสถาบันกษัตริย์” (ปกสีแดง) เป็นหนังสือถอดเทปคำปราศรัยของแกนนำ 4 ราย ได้แก่ อานนท์ นำภา, ภาณุพงศ์ จาดนอก และปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ในการชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และคำปราศรัยของพริษฐ์ ชิวารักษ์ ในการชุมนุม #จัดม็อบไล่แม่งเลย ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขอนแก่น เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2563

อนึ่ง ณัฐชนนถูกดำเนินคดีทางการเมืองในข้อหา มาตรา 112 ใน 2 คดี ได้แก่ กรณีพิมพ์หนังสือถอดเทปคำปราศรัย “ปรากฎการณ์สะท้านฟ้า 10 สิงหา ข้อเรียกร้องว่าด้วยสถาบันกษัตริย์” และคดีปาอาหารหมาและปราศรัยในระหว่างติดตาม “นิว" สิริชัย นาถึง ซึ่งถูกจับกุมในยามวิกาลตามหมายจับคดี ม.112 ที่หน้า สภ.คลองหลวง