ซินหัวรายงานว่าแพทย์จากโรงพยาบาลปักกิ่ง ตี้ถาน (Beijing Ditan Hospital) ในเครือมหาวิทยาลัยแคพิทัล เมดิคัล (CMU) ซึ่งเป็นสถาบันที่กำหนดให้รองรับผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แถลงข่าวการรักษาผู้ติดเชื้อชายรายหนึ่งที่ถูกตรวจพบเชื้อไวรัสโควิด-19 ในน้ำหล่อสมองไขสันหลัง (cerebrospinal fluid) โดยการศึกษาก่อนหน้านี้ชี้ว่าไวรัสโควิด-19 อาจสร้างความเสียหายกับอวัยวะหลายส่วน เช่น ไต ตับ หัวใจ แต่ไม่มีการบันทึกกรณีที่พบในระบบประสาทส่วนกลาง
คณะแพทย์ ระบุว่าผู้ติดเชื้อวัย 56 ปี ได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อ เมื่อวันที่ 24 ม.ค. ณ โรงพยาบาลฯ โดยมีอาการอยู่ในขั้นรุนแรงและไม่ตอบสนองต่อการรักษาตามปกติ ขณะรักษาในแผนกผู้ป่วยหนัก (ICU) เขามีอาการที่เกี่ยวข้องกับภาวะความรู้สึกตัวลดลง (Decreased consciousness) แม้ไม่ปรากฏสัญญาณผิดปกติในผลเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ได้ทำการจัดลำดับยีนจากตัวอย่างน้ำหล่อสมองไขสันหลังและยืนยันผลว่ามีไวรัสโควิด-19 อยู่จริง พร้อมวินิจฉัยว่าผู้ป่วยมีอาการไข้สมองอักเสบ จึงดำเนินการรักษาจนอาการต่างๆ ในระบบประสาทของผู้ป่วยค่อยๆ ลดลงตามลำดับ
โดยเขาถูกย้ายจากแผนกผู้ป่วยหนักไปยังแผนกผู้ป่วยติดเชื้อเมื่อวันที่ 18 ก.พ. ก่อนได้รับการปล่อยตัวออกจากโรงพยาบาลในวันที่ 25 ก.พ. ที่ผ่านมา
หลิวจิ่งหยวน หัวหน้าแผนกผู้ป่วยหนักของโรงพยาบาลฯ และแพทย์ประจำหอผู้ป่วยที่ดูแลผู้ติดเชื้อรายนี้ ระบุว่าตามปกติเมื่อพบว่าผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มีความผิดปกติเกี่ยวกับความรู้สึกตัว เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์จะพิจารณาความเป็นไปได้ของการติดเชื้อในระบบประสาทและทำการทดสอบน้ำหล่อสมองไขสันหลังทันที เพื่อป้องกันการวินิจฉัยล่าช้าและลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยอาการรุนแรง คณะนักวิจัยเคยค้นพบก่อนหน้านี้ว่าไวรัสโคโรนาที่ก่อโรคซาร์ส (SARS) และโรคเมอร์ส (MERS) สามารถลุกลามเข้าไปในระบบประสาทของผู้ติดเชื้อได้
ขณะที่แผนการวินิจฉัยและรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ฉบับปรับปรุงล่าสุด ซึ่งคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (NHC) ของจีนเผยแพร่เมื่อวัน 3 มี.ค. ที่ผ่านมา ระบุว่าโรคติดเชื้อที่เกิดจากไวรัสชนิดนี้อาจก่อให้เกิดอาการเลือดคั่ง บวมน้ำ และภาวะเสื่อมของเซลล์ประสาทในเนื้อเยื่อสมองได้ ทั้งนี้ นับจนถึงวันที่ 4 มี.ค. โรงพยาบาลฯ ให้การรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้ว 150 ราย และพบกรณีที่มีอาการสมองอักเสบ 1 ราย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง