วันที่ 10 ธ.ค. ที่ลานประชาชน ในงานเสวนาหัวข้อ “รัฐธรรมนูญฉบับใหม่หน้าตาเป็นอย่างไร“ ชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เราตั้งเป้าไว้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรจะมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มายกร่างเพื่อให้เห็นว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน ทำเพื่อประชาชน เป็นไปเพื่อประชาชน หากเป็นเช่นนี้แล้วมี ส.ส.ร. คิดว่าเราจะประสบความสำเร็จ
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ ส.ส.ร.ว่าจะยกร่างอย่างไร แต่เชื่อว่าหากกระบวนการมี ส.ส.ร.ที่เป็นตัวแทนของประชาชนมายกร่างรัฐธรรมนูญจะเป็นประชาธิปไตยแน่นอน ขณะนี้หลายฝ่ายพยายามอยู่ หากไม่สำเร็จ ไม่สามารถร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้นั้น ตนคิดว่าจะย่ำอยู่กับที่และใช้ร่างฉบับนี้ก็จะไม่เป็นประโยชน์กับประชาชน
ชูศักดิ์ กล่าวด้วยว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องมีการยกเลิกหรือแก้ไข ม.256 ที่ปัจจุบันเราติดกับอยู่กับมาตรานี้ เพราะเวลาจะแก้ไขมาตรานี้เราติดอยู่กับเงื่อนไขที่ระบุว่า ต้องมีเสียงของ สว. สนับสนุน 1 ใน 3 ที่ผ่านมาจึงจะเห็นว่าเรายกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไปหลายประเด็น แต่ท้ายที่สุดก็ไม่เคยสำเร็จสักครั้งด้วยเหตุผลว่าเสียงของสว. ไม่ถึง 1 ใน 3
ชูศักดิ์ กล่าวว่า เราต้องสกัด ม.256 ออกไปเพื่อทำให้รัฐธรรมนูญนี้เป็นพลวัตและสามารถแก้ไขได้ตลอดเวลา และยังเชื่อว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหาเรื่องกระบวนการถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ รวมถึงการถ่วงดุลอำนาจขององค์กรอิสระ
ฉะนั้น ที่มาขององค์กรอิสระ ศาลรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านมาคือปัญหาของประเทศว่าเราไม่ได้รับความเป็นธรรม ท้ายที่สุดก็ไม่สามารถตรวจสอบองค์กรอิสระ ศาลได้ หากวินิจฉัยอะไรออกมา คนนั้น คนนี้ก็พ้นจากตำแหน่ง เพราะเราไปมอบอำนาจให้เขาจนไม่สามารถถ่วงดุลอำนาจกันได้
ชูศักดิ์ กล่าวอีกว่า การปรับองค์กรในรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดความสมดุลของอำนาจเป็นเรื่องสำคัญ ตนเห็นด้วยกับแนวคิดของนักวิชาการหลายคนว่าต่อไปนี้องค์กรอิสระควรจะมีที่มาจากรัฐสภา อย่างไรก็ตาม เรามีรัฐธรรมนูญผ่านมาหลายฉบับ แต่มีจำนวนมากที่มาจากรัฐประหาร เกิดจากการตั้งคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากรัฐประหาร กลายเป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาธิปไตยมีจำนวนน้อยกว่ารัฐธรรมนูญที่มาจากรัฐประหาร
ฉะนั้น รัฐประหารจึงเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศและเป็นอุปสรรคสำคัญของประชาธิปไตย เราต้องเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญว่าห้ามให้มีการรัฐประหาร หากใครกระทำรัฐประหารไม่มีอายุความ ไม่มีการนิรโทษกรรม สำคัญที่สุดคือต้องทำให้ศาลและกระบวนการยุติธรรมไม่สามารถยอมรับรัฐประหารได้ และเรื่องรัฐประหารต้องหมดไป
ชูศักดิ์ ยังกล่าวถึงกระบวนการการยกร่างรัฐธรรมนูญด้วยว่า ต้องมีการทำประชามติถามประชาชนก่อนว่าสมควรจะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ความเห็นของตนดั่งเดิมเห็นเหมือนกับที่นายชัยธวัช ระบุว่าตั้งมีการประชามติ 3 ครั้ง คือถามไปตอนที่ยังไม่มีร่างเข้าสู่สภาฯ แต่เมื่อประชาชนเห็นควรจึงมาแก้มาตรา 256 เพื่อให้มีส.ส.ร. จากนั้นก็ถามประชาชนอีกครั้ง แต่ขณะนี้มีความเห็นของฝ่ายหนึ่งที่ไปดูคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอย่างละเอียดแล้วพบว่าประเด็นเรื่องการทำประชามติกี่ครั้งนั้น เราไม่เคยถามศาลรัฐธรรมนูญเลย และยังเป็นเรื่องที่ยังถกเถียงกันอยู่ว่าจะทำประชามติทั้งหมดกี่ครั้ง ซึ่งหากทำประชามติ 2 ครั้งก็มีคนบอกว่าจะประหยัดเงินไป 4,000 ล้านบาท
“ยืนยันว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องมาจาก ส.ส.ร. และ ส.ส.ร. ควรจะต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน เพราะเชื่อว่ารัฐธรรมนูญที่ดีนั้น กระบวนการยกร่าง ที่มาของผู้ยกร่างจำเป็นต้องยึดโยงกับประชาชน ย้ำว่ากระบวนการ ส.ส.ร. ควรจะต้องเกิดขึ้นและควรจะเกิดขึ้นโดยเร็ว เพื่อที่จะให้กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เดินหน้านับหนึ่งได้” ชูศักดิ์ กล่าว
’ราเมศ‘ ชี้ รธน.60 ลิดรอนสิทธิ-เสรีภาพ ประชาชน
ด้าน ราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญถือเป็นเรื่องที่สำคัญ เชื่อว่าประชาชนทุกคนต้องการรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ เราจะเห็นว่าที่ไปที่มาของรัฐธรรมนูญปี 2560 มาจากกระบวนการส่งต่ออำนาจ และเนื้อหามีหลายประเด็นที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชน
สำหรับกระบวนการการร่างรัฐธรรมนูญปี 60 นั้น ราเมศ กล่าวว่า เป็นกระบวนการที่ไม่ชอบธรรม เนื้อหาไม่ชอบธรรม เมื่อนำร่างมาให้ประชาชนทำประชามติ คนที่คัดค้านก็ถูกจับ คนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญปี 60 ถูกจับไปเท่าไหร่ ดังนั้น กระบวนการการดำเนินคดีกับผู้เห็นต่าง จะให้ความชอบธรรมกับรัฐธรรมนูญปี 60 อย่างไร
ราเมศ กล่าวต่อว่า กระบวนการแก้ไขก็ยาก เพราะล็อกไว้ด้วยเสียง สว. ที่ต้องมีเสียงถึง 1 ใน 3 หรือ 84 คน จะผ่านได้อย่างไร ทางพรรคประชาธิปัตย์ จึงเสนอแนวทางแก้ไขให้ง่ายขึ้น ทั้งการแก้ไขเรื่องความเหลื่อมล้ำ การกระจายอำนาจ และกระบวนการการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ซึ่งตนเองเห็นด้วย แต่ที่ห่วงคืออยากให้ประชาชนมีส่วนร่วมทั้งหมด แต่การกำหนดกฎเกณฑ์ยกร่าง เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เนื้อหารอบคอบมากขึ้น
“เราควรมีที่มาที่ให้นิสิตนักศึกษา เข้ามามีส่วนร่วมในการร่างธรรมนูญด้วย สสร. ต้องมาจากประชาชน และผมเห็นด้วยที่ให้ สสร. มาจากการเลือกตั้งที่มาจากประชาชน” ราเมศ กล่าวทิ้งท้าย