ไม่พบผลการค้นหา
ทีมทนาย 'อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์' เดินหน้าร้องศาลปกครอง ให้มีคำสั่งคุ้มครองทรัพย์สิน หลังกรมบังคับคดี 'ยึดบ้าน' จากคดีจำนำข้าว

จากกรณีกระทรวงการคลัง มีคำสั่งให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 3.5 หมื่นล้านบาท ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ กระทำการจงใจปล่อยให้เกิดความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว และกรมบังคับคดีรับผิดชอบในส่วนของการอายัดทรัพย์ โดยขณะนี้อายัดไปแล้วกว่า 30 รายการ รวมถึงบ้านพักส่วนตัวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์

ภายหลังเมื่อวันที่ 29 มกราคม ศาลปกครองได้ยกคำขอทุเลายึดทรัพย์ 3.5 หมื่นล้านบาท เป็นครั้งที่ 2 หลังศาลพิเคราะห์ว่าข้อเท็จจริงจากการชี้แจงคู่กรณีรวมถึงกรมบังคับคดีแล้วเห็นว่าผู้ฟ้องคดีอ้างเหตุของความไม่ชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งเรียกให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้เงินหลายประการ และผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 ได้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีบ้างไปแล้วก็ตาม แต่เมื่อคำสั่งนี้จะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นประเด็นในเนื้อหาของคดีที่ศาลจะต้องแสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อพิจารณาพิพากษาคดีต่อไปในชั้นนี้ ศาลจึงมีคำสั่งยกคำขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองของผู้ฟ้องคดี

ล่าสุด นายนพดล หลาวทอง ทีมทนายความนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้ความเห็นกับ 'วอยซ์ ออนไลน์' ว่า การทำหน้าที่ทีมทนายจะดำเนินการขอความยุติธรรมต่อศาลปกครองในการคุ้มครองใหม่อีกครั้ง ซึ่งเป็นช่องทางที่กฎหมายเปิดโอกาสให้รองรับ แม้ว่าที่ผ่านมายังไม่รับความยุติธรรมเพียงพอ แต่ต้องดำเนินการต่อไปเป็นระยะ 

เมื่อถามว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ติดต่อถึงกรณีดังกล่าวหรือไม่ นายนพดล กล่าวว่า ยังไม่รับการกำชับอะไรเป็นพิเศษ ส่วนการดำเนินการทางกฎหมายเป็นหน้าที่ของทีมทนายอยู่แล้ว

ขณะที่นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ชี้แจงว่ากระทรวงการคลังรับผิดชอบในส่วนของการสืบทรัพย์สินทั้งหมด เช่นบัญชีธนาคาร อสังหาริมทรัพย์ และได้ทยอยส่งรายละเอียดถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ส่วนการยึดทรัพย์เป็นหน้าที่ของกองบังคับคดี 

นอกจากนี้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ยืนยันทนายความของนางสาวยิ่งลักษณ์ สามารถรับมอบอำนาจยื่นทุเลาได้ในการยึดทรัพย์ได้ โดยไม่ต้องมาเอง ส่วนบ้านพักที่ซอยโยธินพัฒนา 3 ยังมีผู้อาศัยอยู่ กรมบังคับคดีสามารถยึดทรัพย์ได้เลยหรือไม่นั้น ต้องดูเอกสารสิทธิ์ว่าชื่อใครเป็นเจ้าของ แม้ว่าจะอ้างว่าเป็นสินสมรส ก็สามารถยึดเอาไว้ได้ส่วนหนึ่ง ตามคำสั่ง ม.44 หากยึดแล้วไปพบปัญหาใด ก็สามารถขายทอดตลาดได้เลย 

ซึ่งทางกรมบังคับคดีได้ตรวจสอบแล้วว่า ยังไม่สมควรที่จะขายทอดตลาด เพราะยังมีโอกาสที่จะยื่นทุเลาอีกได้ และต้องทำตามความเหมาะสม อีกทั้งหากขายไปแล้วคดีมีการเปลี่ยนแปลงจะเกิดปัญหาตามมาภายหลัง นอกจากนี้ปัจจุบันยังมีคนอาศัยในบ้านอยู่ด้วย ซึ่งยังอยู่ได้ แต่ต้องทำเรื่องขออนุญาต ไม่ใช่อยู่ในฐานะเจ้าของบ้าน และไม่สามารถ ตกแต่งเปลี่ยนแปลงรื้อถอนได้

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง