ผศ.ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ โพสต์เฟซบุ๊ก คณะผู้ขอเตรียมการจัดตั้งพรรคอนาคตใหม่เมื่อวันที่ 15 มี.ค. ประกอบด้วยคนหลากหลายกลุ่ม ตามความคิดเรื่องการหลอมรวมคนหลากหลายเข้ามาร่วมกันเพื่อเปลี่ยนแปลงการเมืองไทยและประเทศไทยให้ดีกว่าที่เป็นอยู่
และเมื่อก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ได้สมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว อาจได้นำเสนอนโยบายต่างๆ ได้มากขึ้น ระหว่างนี้คณะทำงานนโยบายด้านต่างๆ กำลังระดมสมอง เชิญผู้เชี่ยวชาญมาร่วมกันคิด และรับฟังความคิดเห็น ซึ่งนอกจากนโยบายเรื่องประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนแล้ว ยังให้ความสนใจนโยบายเรื่องศิลปวัฒนธรร และนโยบายความครอบคลุมทางสังคม (Social inclusion) ด้วย
จากการพูดคุยเรื่องนโยบายความครอบคลุมทางสังคม - ความเป็นธรรมทางสังคมให้คุณค่าแก่คนทุกกลุ่มในสังคม นับรวมคนกลุ่มต่างๆ ที่ถูกกีดกันจากสังคม ให้ได้เข้ามามีส่วนร่วมและมีบทบาทในสังคม คนกลุ่มนี้ต้องไม่ถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลัง แม้นโยบายเหล่านี้จะไม่ถูกนำไปพูดถึงโดยพรรคการเมืองไทยเท่าไร สาเหตุส่วนหนึ่งเพราะนโยบายไม่เย้ายวน ผู้คนให้ลงคะแนนให้เท่ากับนโยบายเศรษฐกิจกับปัญหาปากท้อง
โดยตัว ผศ.ดร.ปิยบุตร มองว่านโยบายความครอบคลุมทางสังคมเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นพันธกิจของพรรคการเมืองที่ต้องผลักดันนำเสนอ และพรรคการเมืองจะทำหน้าที่สะท้อนความคิดและความต้องการของคนทั้งหมดได้ ต้องให้ความสำคัญกับคนทุกกลุ่ม พรรคการเมืองจะเป็นพรรคการเมืองของมวลชนได้ ต้องนำเสนอประเด็นปัญหาให้ครอบคลุม
ดังนั้นการผลักดันนโยบายความครอบคลุมทางสังคม คือส่วนหนึ่งของการทำงานทางความคิด กำหนดวาระให้แก่สังคมให้ก้าวหน้า แม้นโยบายจะไม่ช่วยให้ได้คะแนนเป็นกอบเป็นกำ แต่การทำพรรคการเมืองแบบใหม่ เช่น พรรคอนาคตใหม่ ต้องไม่เป็นเพียงพรรคที่ต้องการคะแนนเสียง แต่ยังต้องเป็นพรรคที่ทำงานทางความคิดด้วย
ทั้งนี้คณะทำงานเรื่อง "นโยบายครอบคลุมทางสังคม" ได้แก่ เคท ครั้งพิบูลย์ มาเป็นหัวเรือใหญ่ นอกจากนี้ยังมี นลัทพร ไกรฤกษ์, วิภาพรรณ วงศ์สว่าง, ฑิตฐิตา ซิ้มเจริญ, ธารารัตน์ ปัญญา,กฤตนัน ดิษฐบรรจง และตัว ผศ.ดร.ปิยบุตร เอง โดยกำหนดกลุ่มบุคคลที่มักจะถูก "กีดกัน" (exclude) เพื่อที่จะสร้างนโยบายเพื่อ "นับรวม" (include) พวกเขาเข้ามา เช่น ผู้หญิง, LGBTIQ, ผู้ติดเชื้อ HIV, วัยรุ่น, ผู้ใช้ยาเสพย์ติด, คนพิการ, Sex Worker, กลุ่มชาติพันธุ์ เป็นต้น พวกเราจะเข้าหากลุ่มคนเหล่านี้ ผู้เชี่ยวชาญ องค์กรเอกชน-ประชาสังคมที่รณรงค์เรื่องเหล่านี้ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อรับฟังความรู้ ความเห็น นำมาพัฒนาเป็นนโยบายต่อไป
นโยบายครอบคลุมทางสังคม จะตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเสมอภาค การไม่เลือกปฏิบัติ การเปิดโอกาสให้เท่าเทียมกัน, การยอมรับในความแตกต่างหลากหลาย, การเสริมสร้างให้มีบทบาทในสังคม
ด้านสวนดุสิตโพล โดยมหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศ พบว่า พบว่า 72.28 เปอร์เซนต์ ประชาชนยังไม่แน่ใจว่าจะเลือกพรรคการเมืองเดิม หรือพรรคที่ตั้งขึ้นใหม่ เพราะอยากดูตัวบุคคลในพรรคก่อน อาจเป็นพรรคใหม่แต่คนเก่า และอยากดูรายละเอียด นโยบายของผู้สมัครด้วย
ขณะที่ 41.76 เปอร์เซนต์ ประชาชนให้ความสนใจผู้สมัคร ส.ส. หน้าใหม่ในการเลือกตั้งที่คาดว่าจะมีขึ้นในปีหน้า เนื่องจากมีความหลากหลาย มีผู้สมัครที่น่าสนในมากขึ้น ส่วน 40.17 เปอร์เซนต์ ประชาชน เห็นว่าผู้สมัคร ส.ส. ที่ย้ายพรรคการเมือง ถือเป็นสิทธิ์ของผู้สมัคร