ไม่พบผลการค้นหา
DSI - กรมอุทธยาน จี้กรมที่ดิน กรณีเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ไม่ถูกต้องบนเกาะหลีเป๊ะ แต่ไม่มีคำตอบ เป็นเหตุให้เอกชนเดินหน้าสร้างรีสอร์ทหรู ด้านชาวอูรักลาโว้ยโล่งใจ ศาลยกฟ้อง 15 ราย

25 มกราคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงกรณีปัญหาข้อพิพาทในที่ดินที่เกี่ยวข้องกับชุมชนชาวเล เกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล ได้สั่งการให้ดำเนินคดีกับรีสอร์ทหรู 2-3 แห่ง ที่ปลูกสร้างบนที่ดินที่อยู่ในความรับผิดชอบของอุทยานแห่งชาติตะรุเตา โดยเอกชนอ้างว่า เป็นส่วนหนึ่งของที่ดิน น.ส.3 แปลงที่ 11 แต่เมื่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และกรมอุทยานฯ ทำการตรวจสอบแล้ว พบว่าที่ดินบริเวณดังกล่าวไม่ได้อยู่ใน น.ส.3 เลขที่ 11 แต่อย่างใด

จากการรายงานของดีเอสไอ ที่ส่งให้คณะกรรมการตรวจสอบสอบข้อมูลฯ ระบุว่า การตรวจสอบที่ดินแปลงที่ 11 พบว่ามีความคลาดเคลื่อนด้านตำแหน่งและเนื้อหา ประกอบกับการตรวจสอบภาพถ่ายทางอากาศ พ.ศ. 2493  พบว่ามีการทำประโยชน์ไม่เต็มแปลงพื้นที่ บางส่วนยังมีสภาพเป็นป่าชายหาด ป่าดิบชื้นและทุ่งหญ้าธรรมชาติ ดีเอสไอจึงเสนอให้กรมที่ดินเพิกถอนตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เช่นเดียวกับกรมอุทยานฯ ก็ได้เคยส่งเรื่องให้กรมที่ดินจำหน่ายแบบการแจ้งครอบครองที่ดิน ส.ค.1 และเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดิน น.ส.3 มาแล้วหลายครั้ง แต่ปัจจุบันกรมที่ดินยังไม่ดำเนินการแต่อย่างใด

พันธ์พงศ์ คงแก้ว หัวหน้าอุทยานแห่งชาติตะรุเตา กล่าวว่า อุทยานฯ เคยดำเนินคดีกับเอกชนที่บุกรุกที่ดินอุทยานฯ ไปแล้วเมื่อ 4-5 ปีก่อน ซึ่งตอนนั้นตนยังไม่ได้ย้ายมา โดยตอนนั้นเขาได้สร้างรากฐานของรีสอร์ทแล้ว อย่างไรก็ตาม เมื่อปีที่แล้วได้มีการสร้างรีสอร์ทแห่งใหม่อีก อุทยานฯ จึงได้ดำเนินการจับกุมและดำเนินคดี โดยขณะนี้เจ้าของรีสอร์ทได้ร้องขอความคุ้มครองจากศาลปกครอง

ยาลา ใบกาเด็ม นายอำเภอเมือง จังหวัดสตูล ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ได้สั่งการให้มีการสำรวจและพิสูจน์ลำรางสาธารณะและเส้นทางดั้งเดิมของชาวเลบนเกาะหลีเป๊ะ ว่าขณะนี้ ตนได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 2 ชุด โดยชุดแรก ดูเอกสารแผนที่ต่างๆ ที่หน่วยงานอื่นถืออยู่ หากพบว่ามีการออกเอกสารสิทธิทับซ้อนกับเส้นทางหรือลำรางสาธารณะก็ต้องดำเนินการตามกฏหมาย ส่วนคณะกรรมการอีกชุดหนึ่งให้มีหน้าที่สอบสวนเชิงประชาคมกับชาวบ้านเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงว่ามีลำรางสาธารณะและทางเดินดั้งเดิมอยู่จริงหรือไม่ อย่างไร โดยสั่งการให้ทำอย่างเร็วที่สุดเพื่อรายงานไปยังคณะกรรมการสอบสวนชุดพล.ต.อ.สุรเชษฐ์

“เราต้องไปหาหลักฐานของแต่ละหน่วยงาน เพราะอำเภอไม่มีภาพถ่ายที่บอกว่ามีลำรางสาธารณะบนเกาะหลีเป๊ะ และเข้าใจว่าบางจุดที่ชาวบ้านร้องเรียน ตอนนี้กลายเป็นรีสอร์ทไปแล้ว เราจะไปยกเลิกหรือแจ้งอะไรเขาก็ไม่ได้ ทำได้คือต้องพิสูจน์โดยการย้อนไปดูแผนที่เดิม หลักๆ ก็ต้องกลับไปที่กรมที่ดิน ว่าออกเอกสารสิทธิถูกต้องหรือไม่” ยาลา กล่าว

ขณะที่ ภูวนาถ บัวเนียม ทนายความของชาวเลเกาะหลีเป๊ะ เปิดเผยว่า ในวันเดียวกันนี้ศาลแพ่งจังหวัดสตูล ได้อ่านคำพิพากษากรณีที่เอกชนฟ้องชาวเลบนเกาะหลีเป๊ะ 15 ราย เพื่อขับไล่ออกจากพื้นที่บนที่ดินแปลงที่ 11

โดยศาลระบุว่าเอกชนไม่มีสิทธิฟ้องจำเลย เพราะชาวบ้านต่างยืนยันกันว่าทุกคนอยู่มาก่อน และเมื่อมีการสืบพยาน โจทย์ไม่สามารถอธิบายให้ชัดเจนถึงที่มาของการออกเอกสารสิทธิ ซึ่งศาลมองว่าเป็นการออกทับที่ดินชาวบ้านที่อยู่มาก่อน จึงยกฟ้องทั้ง 15 ราย

ชาวเลหลีเป๊ะ

พรนิภา คันทิก ชาวเล หนึ่งในผู้ตกเป็นจำเลย กล่าวว่า ตนและชาวบ้านทั้งหมดต่างรู้สึกดีใจมากที่ศาลยกฟ้อง โดยบ้านที่ตนอาศัยอยู่เป็นบ้านเดิมที่ปู่ย่าตายายและพ่อแม่เคยอยู่ซึ่งบรรพบุรุษของตนเป็นชาวเลกลุ่มแรกที่เข้ามาอยู่บนเกาะหลีเป๊ะ พร้อมกับโต๊ะฆีรี

“เราอยู่มากันมานาน แต่จู่ๆ เมื่อปี 2564 เขามาฟ้องขับไล่ พวกเราจึงสู้คดีในศาล เพราะที่นี่เป็นที่ที่พวกเราอยู่มาก่อน เรามีทะเบียนบ้าน มีประวัติเคยเรียนหนังสือที่นี่ตั้งแต่รุ่นแม่ พวกเราชาวเลรู้สึกดีใจมาก ที่ยกฟ้อง” นางพรนิภา กล่าว

ด้าน ปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และคณะ ได้ลงพื้นที่เกาะหลีเป๊ะเพื่อตรวจสอบเรื่องร้องเรียน โดย ปรีดา กล่าวว่า ตอนที่กรมอุทยานฯ ได้ทำการสำรวจพื้นที่ตามมาตรา 64/65 ตาม พรบ.อุทยานฯ ฉบับใหม่ ชาวเลได้ร้องเรียนมายัง กสม.ว่า บาฆัด (พื้นที่ทำมาหากินตามวิถีของชาวอูรักลาโว้ย รวมทั้งเพิงพักชั่วคราว) พื้นที่จิตวิญญาณ เช่น สุสาน ไม่ได้รับการสำรวจจากอุทยานฯ ภายใน 120 วัน ดังนั้น กสม.จึงได้ลงพื้นที่มาตรวจสอบข้อเท็จจริงพร้อมทั้งเป็นตัวกลางในการประสานให้กรมอุทยานฯ ศูนย์ดำรงธรรม และชาวเล ร่วมกันสำรวจ

ปรีดากล่าวว่า เมื่อวันที่ 24 มกราคมที่ผ่านมา ตนและคณะ ได้ร่วมกันสำรวจพื้นที่บาฆัดและสุสานย่านเกาะราวี และในวันเดียวกันนี้ได้มีการสำรวจบริเวณเกาะต่างๆ พบว่ามีบาฆัดและสุสานทั้งหมด 178 จุด โดยจะนำข้อมูลทั้งหมดเสนอเป็นรายงานส่งไปยังรัฐบาล

“บนเกาะราวี เคยมีหมู่บ้านชาวเลอาศัยอยู่ มีต้นมะพร้าวใหญ่ มีแหล่งน้ำจืด แต่ชาวบ้านถูกย้ายมาอยู่เกาะหลีเป๊ะ สิ่งที่เราจะเสนอในรายงาน คือเรื่องสิทธิดั้งเดิมของชาวเลเพราะเขาเคยทำมาหากินมานาน รวมไปถึงเรื่องธุรกิจและสิทธิมนุษยชนต้องเป็นไปตามหลักกติกาสากลและรัฐธรรมนูญ คิดว่าควรทำเรื่องเขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมของชาวหลีเป๊ะ”