ไม่พบผลการค้นหา
นายกฯ ร้องผ่านสื่อ 'นายกฯ ใจเย็นไม่ดีเหรอ' เจอผู้นำฝ่ายค้านฯ ติงบทบาท 'พระราม' แต่เมินแผลงศรในสภาฯ โยนถาม 'มิ่งขวัญ' แฉนายกฯ ทำ 'เศรษฐกิจใหม่' เปลี่ยนจุดยืน ปัดเป็นศัตรูกับใคร ด้าน ผู้นำฝ่ายค้านฯ ซัดนายกฯ แสดงบทบาทสับสน ระวังเป็นคนบ้า

เวลาประมาณ 21.25 น. วันที่ 17 ก.พ. 2565 ที่รัฐสภา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวถึงภาพรวมการอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 เป็นวันแรกว่า ภาพรวมวันนี้ไม่ได้มีความขัดแย้งอะไรกัน ต่างคนต่างชี้แจงต่างคนแสดงปัญหาและเสนอความคิด ซึ่งตนก็รับหมดและวันนี้เป็นการอภิปรายตามมาตรา 152 อะไรไม่เข้าใจก็อธิบายซึ่งกันและกัน ก็ฟังทั้งสองฝ่ายก็แล้วกันข้อมูลมีทั้งคู่ จึงไม่น่ามีปัญหาอะไร

เมื่อถามว่า ในสภายังมีการใช้ถ้อยคำไม่ค่อยสุภาพ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า"ก็ไปเตือนเขาสิ" เมื่อถามย้ำว่า วันนี้นายกฯ ตอบตรงจุดแล้วใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ก็ตอบหมดแล้ว

ส่วนกรณีที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ ระบุว่าอยากเห็นนายกฯ แผลงศรในสภา เพื่อแสดงบทพระราม พล.อ.ประยุทธ์ ย้อนถามว่า "เหรอ เหรอ นายกฯ ใจเย็นไม่ดีเหรอ"

ประยุทธ์ สภา อภิปรายทั่วไป

ส่วนกรณีที่ มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ลาออกส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเศรษฐกิจใหม่ กล่าวหาว่า นายกฯ ส่งคนไปเปลี่ยนอุดมการณ์ให้สมาชิกพรรคหันมาสนับสนุนนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ ย้อนถามว่า อะไรเปลี่ยนไป "พรรคของลุงมิ่งเหรอ ก็ไปถามลุงมิ่งเขาสิ ผมจะไปรู้ได้อย่างไร" พร้อมถามกลับว่า แล้วไปเข้าข้างใครละ 

เมื่อถามย้ำว่า ส.ส.ของพรรค มิ่งขวัญ ไปโหวตสนับสนุนนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า "เขาอาจจะเห็นนโยบายหรือสิ่งที่เราทำเป็นสิ่งที่ถูกต้องเขาก็เลยมา ก็นายกฯ ไม่มีอะไรกับใครนี่จ๊ะ ไม่ได้เป็นศัตรูกับใครเลยนะ"

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า วันนี้นายกฯ หลับฝันดีใช่หรือไม่หลังอภิปรายวันแรก นายกฯ กล่าวว่า ก็ฝันดีทุกวัน ไม่หงุดหงิดก็หลับดี และพยายามไม่ให้หงุดหงิด

อย่างไรก็ตาม ในวันเดียวกันนี้นายกฯ มีท่าทีผ่อนคลายไม่ฉุนเฉียวเหมือนครั้งอื่นๆ และได้หยุดตอบคำถามผู้สื่อข่าวหลายครั้งแต่แต่ในช่วงเช้าจนเดินทางกลับ

ชลน่าน -8C7F-A9D65CA9CE73.jpeg

'ชลน่าน' ชี้นายกฯ เข้าใจผิดบทบาทพระราม

ขณะที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า ตนเคยได้นั่งสนทนากับนายกรัฐมนตรีแบบตัวต่อตัว ในห้องรับรอง เมื่อวันที่ 3 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยนายกรัฐมนตรีบอกว่าทำไมท่าทีของตนไม่เหมือนอยู่ในห้องประชุมสภา ซึ่งตนได้ชี้แจงว่าในห้องประชุมเป็นการทำหน้าที่ แต่นอกห้องประชุมก็เป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง แล้วตนได้รับการสั่งสอนจาก อุทัย พิมพ์ใจชน อดีตประธานรัฐสภา ที่ได้ตักเตือนคนที่มาทำหน้าที่ในสภาคือการสวมหัวโขน เมื่อได้รับมอบหมายทำหน้าที่อะไรก็ต้องทำให้สมบทบาท ฝ่ายค้านเปรียบเป็นทศกัณฐ์ ก็เล่นให้สมบทบาท ฝ่ายรัฐบาลสวมบทเป็นพระรามก็เล่นให้สมบทบาท จึงเข้าใจว่านายกฯ คงฟังแล้วนำมาเปรียบเทียบ อาจจะเข้าใจผิด เพราะหากเป็นทศกัณฐ์จะออกมาร่ายรำคงไม่ใช่

สำหรับกรณีที่นายกรัฐมนตรีระบุว่าการอภิปรายครั้งนี้เกินกรอบของรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 นั้น นพ.ชลน่าน กล่าวว่า การอภิปรายรุนแรงไม่ได้หมายความว่าเกินมาตรา 152 เพราะเป็นการซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาให้กับคณะรัฐมนตรีที่อาจจะมีท่วงทำนองหรือลีลารุนแรง ซึ่งเนื้อหามาตรา 151 กับมาตรา152 แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ในมาตรา 152 เป็นการอภิปรายผลงานโดยรวมที่มีข้อเท็จจริงต้องสอบถาม ที่ประชาชนเห็นว่าเป็นปัญหาจึงสอบถาม และเสนอแนะวิธีแก้ไข แต่มาตรา 151 เป็นข้อกล่าวหาที่ทำหน้าที่ ไม่สอดคล้องเช่นกล่าวหาไร้ความสามารถ ไร้คุณธรรม ทำผิดทุจริตต่อหน้าที่ ซึ่งจะต้องนำหลักฐานมาแสดง เสมือนการฟ้องศาล จึงมีการลงมติ หรือส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการต่อ ส่วนข้อเสนอให้นายกรัฐมนตรีลาออก ถือเป็นข้อเสนอที่สามารถเสนอได้

งงบทบาท 'ประยุทธ์' เมินแผลงศรในสภาฯ เตือนระวังเป็นคนบ้า เน้นแผลงข้างนอกสภาฯ

นพ.ชลน่าน ย้ำว่า ตัวเองไม่เข้าใจเจตนารมณ์ที่บอกว่า"อย่าให้พระรามแผลงศรบ่อย" เพราะต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ของตนเอง ซึ่งการแผลงศรในสภาบทบาทของพระรามให้เล่นในสภา แต่ที่มาไม่เคยแผงศรในสภาเลย "ผมไม่เข้าใจในเจตนารมณ์ของท่าน (พล.อ.ประยุทธ์)"

ผู้นำฝ่ายค้านฯ ระบุว่า คำว่าแผลงศรบ่อยตรงนี้คืออะไร เพราะการทำหน้าที่ในสภาต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ของตัวเอง ถ้าไปแผลงศรในสภาสมบทบาทพระรามถือเป็นเรื่องดีมาก ฝ่ายค้านตั้งกระทู้ท่านก็ต้องมาตอบ การตอบกระทู้ในสภาคือการแผลงศร และเราอยากเห็นการแผลงศรในสภาของพระรามองค์นี้มาก แต่ชีวิตนี้ไม่เคยเห็น ไม่เคยมาตอบกระทู้เลย นายกไม่เคยมาตอบกระทู้เลย ค่าแผลงศรอย่างนี้ดีเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชน

"ถ้าเป็นบทพระรามเขาให้เล่นในสภา ถ้ามาเล่นข้างนอกอย่างนั้นแสดงว่าคุณแสดงบทบาทผิด ถ้าให้แผลงศรในสภาไม่แผลง มาแผลงศรข้างนอกระวังเขาจะหาว่าเป็นคนบ้านะ อันนี้อันตราย"

เมื่อถามว่าจะให้คะแนนแต่ละฝ่ายเท่าไร นพ.ชลน่านกล่าวว่า ฝ่ายค้านที่ทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ในเนื้อหาสาระ ในหน้าที่มอบหมายในเวลาที่กำหนด ส่วนของนายกรัฐมนตรีต้องให้ประชาชนตัดสิน