ทีโมเชนโกให้สัมภาษณ์ปฏิเสธว่าปูตินไม่ได้กลายเป็น “บ้า” อย่างที่หลายคนลือ แต่ “เขาลงมือทำตามตรรกะดำมืดของตัวเอง” ตลอดจน “เขาถูกขับเคลื่อนด้วยความคิดของภารกิจทางประวัติศาสตร์ และความต้องการที่จะสร้างจักรรวรดิขึ้นมา นี่คือเป้าหมายที่เหนือจริง มันมาจากความอยากใคร่และความเชื่อภายในใจ”
ทีโมเชนโกเคยเป็นอดีตแกนนำการปฏิวัติส้มเมื่อปี 2547 ก่อนขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของยูเครนสองสมัย เธอเคยมีการพบปะกับปูตินตัวต่อตัวในหลายครั้ง ทั้งการเจรจาการปิดท่อส่งก๊าซมายังยูเครนในปี 2552 กับทางปูติน ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ทั้งนี้ ทีโมเชนโกเคยลงท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดียูเครนสามรอบเมื่อปี 2553 2557 และ 2562 ด้วยการคว้าเสียงอันดับสองสองครั้ง และอันดับสามในครั้งล่าสุด
อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงของยูเครนกล่าวว่า เมื่อครั้งที่ตนเคยพบกับปูติน เขา “ระแวดระวังตัวอยู่ตลอดเวลา” และหวาดกลัวว่าตัวเองจะถูกแอบบันทึกเสียง “เขาเรียนจบมาจากโรงเรียน KGB” ทีโมเชนโกกล่าวหาว่า ก่อนการรุกรานยูเครนของรัสเซีย ปูตินเปิดเผยความเชื่อตัวเองอย่างชัดเจนว่า มัน “ไม่มีชาติที่เรียกว่ายูเครน และมันไม่มีกลุ่มชนที่เรียกว่าชาวยูเครน”
ทีโมเชนโกย้ำว่า ความทะยานอยากของปูตินพุ่งไปไกลกว่าแค่การจัดการกับรัฐบาลยูเครน ที่นิยมฝ่ายตะวันตกและองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) แต่ภาพทางภูมิรัฐศาสตร์ของปูตินคือการเข้ายึดเบลารุส จอร์เจีย และมอลโดวา เช่นเดียวกันกับการเข้าควบคุมพื้นที่ยุโรปตะวันออก รวมถึงรัฐบอลติกต่างๆ เพื่อให้รัสเซียกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งอย่างช่วงสหภาพโซเวียต
ทีโมเชนโกเปิดเผยว่า เธออยู่ในกรุงเคียฟขณะที่รัสเซียเข้ารุกรานยูเครนในวันที่ 24 ก.พ. ก่อนที่ตนจะเร่งเดินทางไปหา โวโลดีเมอร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน และยอมสละความขัดแย้งที่เคยเป็นคู่แข่งของตนเองในปี 2562 “เรากอดกันและจับมือ ทุกๆ คนตกตะลึง ตัวซีด และหวาดกลัว ไม่มีใครในบรรดาพวกเราวางแผนที่จะหนีออกนอกเคียฟ” อดีตนายกรัฐมนตรียูเครนระบุถึงวันที่เธอพบกับเซเลนสกี
“เราทุกคนรู้ว่าจะต้องยืนเด่นท้าทายจนกว่าวาระสุดท้าย เราตกลงกันว่าเราจะให้การสนับสนุนประธานาธิบดีของเรา และกองทัพของเรา และกิจการของเราเพื่อชัยชนะ” ทีโมเชนโกย้ำก่อนกล่าวว่า การตัดสินใจของเซเลนสกีในการไม่เดินทางออกนอกกรุงเคียฟ และ “การเอาชนะความกลัว” ของประธานาธิบดียูเครนคือสิ่งที่สำคัญที่สุด
ทีโมเชนโกหลบภัยอยู่ในห้องใต้ดินของสำนักงานของพรรคตนเอง ซึ่งตั้งอยู่ในเขตโปดิลของกรุงเคียฟ ซึ่งถูกขีปนาวุธของรัสเซียยิงถล่มเข้าใส่กว่าหลายครั้ง เมื่อเธอถูกถามว่าพร้อมจับอาวุธขึ้นเพื่อยิงทหารรัสเซียหรือไม่ เธอตอบกลับทันทีว่า “ได้ ฉันมีอาวุธตามกฎหมาย จากแหล่งข่าว พวกเครมลินใส่ชื่อฉันเอาไว้ในรายชื่อต้องสังหาร พวกเราเตรียมตัวไว้แล้ว”
อดีตนายกรัฐมนตรียูเครนย้ำว่า หุ้นส่วนนานาชาติของยูเครนจะต้องเข้าใจว่า โอกาสเดียวในการหยุดสงครามครั้งนี้ คือการบดขยี้กองทัพรัสเซียในสนามรบ เธอย้ำว่าไม่ควรมีใคร “เป็นพวกสมรู้ร่วมคิดกับปีศาจ” ก่อนกล่าวเสริมว่า “มันไม่มีสิ่งที่เรียกว่าข้อตกลงสันติภาพกับปูติน เพราะมันไม่ได้นำไปสู่สันติภาพ มันจะนำไปสู่สงครามใหม่ในอีกหลายปีต่อมา”
ทีโมเชนโกย้ำว่า รัฐบาลรัสเซียเอาปูนหมายหัวว่าเธอเป็นศัตรูมาโดยตลอด เนื่องจากทีโมเชนโกระบุว่าตนให้การสนับสนุนยูเครนในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกสภาพยุโรปและองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ ทั้งนี้ ในการเลือกตั้งปี 2553 เธอได้ลงท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจาก วิกตอร์ ยานูโควิช ผู้ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัสเซีย ก่อนที่เธอจะแพ้การเลือกตั้งในครั้งดังกล่าวลง
ในปีต่อมา ทีโมเชนโกถูกสั่งจำคุกโดยคำสั่งของยานูโควิช ซึ่งเรื่องดังกล่าวถูกวิจารณ์ว่าเป็นเรื่องทางเมือง “ปูตินและยานูโควิชขังดิฉัน ยานูโควิชไม่เคยเป็นผู้เล่นที่เป็นอิสระ เขาเป็นหุ่นเชิดของปูตินมาโดยตลอด” ทั้งนี้ ทีโมเชนโกถูกปล่อยตัวออกจากเรือนจำเมื่อปี 2557 ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับที่ยานูโควิชลี้ภัยการเมืองไปยังมอสโก หลังจากถูกม็อบประท้วงขับไล่กรณีทุจริตอย่างหนัก ไม่กี่สัปดาห์ต่อมา ปูตินได้ส่งกองทัพรัสเซียเข้ายึดไครเมียของยูเครน และผนวกรวมดินแดนเข้าเป็นของตนเอง
ที่มา: