ไม่พบผลการค้นหา
ญี่ปุ่นเตรียมรื้อฟื้นกองทัพอากาศนำเรือบรรทุกเครื่องบินเข้าประจำการในน่านน้ำเป็นครั้งแรกหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เดินหน้าสั่งซื้อเครื่องบินรบอีก 42 ลำ ประจำการตามแผนป้องกันประเทศของทางรัฐบาล

รัฐบาลญี่ปุ่นอนุมัติการสั่งซื้อเรือบรรทุกเครื่องบิน 2 ลำ ได้แก่ JS Izumo และ JS Kaga ซึ่งจะมีความยาว 800 ฟุต และมีแรงขับเคลื่อนกว่า 27,000 ตัน ซึ่งนับเป็นเรือลำใหญ่ที่สุดของกองทัพญี่ปุ่นในปัจจุบันแบะเครื่องบินรบ รุ่น F - 35A และ F - 35B จากสหรัฐฯจำนวน 42 ลำ ซึ่งแผนการดังกล่าวเป็นไปตามแนวทางนโยบายการป้องกันประเทศ 10 ปีของญี่ปุ่น

ทั้งนี้ทางรัฐบาลญี่ปุ่นยังได้ตั้งงบประมาณการจัดซื้อเครื่องบินรบและเรือบรรทุกเครื่องบินครั้งนี้สูงถึง 282,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยรัฐบาลญี่ปุ่นกล่าวว่า งบประมาณดังกล่าวจะรวมถึงการป้องกันทางไซเบอร์และการขนส่งทางทะเลซึ่งจะครอบคลุมทั้งกองทัพบก กองทัพอากาศและกองทัพเรือของญี่ปุ่นด้วย

นาย โยชิฮิเดะ สุกะ หัวหน้าเลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น กล่าวว่า "ภายใต้สถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นรอบๆประเทศญี่ปุ่นนี้ ทำให้ญี่ปุ่นต้องทบทวนมาตรการการป้องกันตนเองใหม่เพื่อแสดงให้ประชาชนชาวญี่ปุ่นและชาวโลกเห็นว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน"

อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์หลายคนระบุว่า การที่ญี่ปุ่นรื้อฟื้นกองทัพเรือและกองทัพอากาศในครั้งนี้เป็นเพราะความกังวลในสถานการณ์ในทะเลจีนใต้ โดยเฉพาะประสิทธิภาพของกองทัพจีนที่พัฒนาแสนยานุภาพและดำเนินกิจกรรมทางทหารต่อเนื่องในน่านน้ำทางตะวันเฉียงใต้ของญี่ปุ่นบริเวณเกาะริวกิว

ขณะเดียวกันบทความชิ้นหนึ่งในหนังสือพิมพ์ Global Times ของจีนระบุว่า การสั่งซื้อเครื่องบินรบและการนำเรือบรรทุกเครื่องบินกลับเข้ามาประจำการในน่านน้ำนั้น ญี่ปุ่นจะต้องไม่ลืมประวัติศาสตร์ที่เคยกระทำในการคุกคามประเทศต่างๆและในภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิกในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งกองทัพญี่ปุ่นถือได้ว่ามีเรือบรรทุกอากาศยานที่ใหญ่ที่สุดในโลกและเรือลำดังกล่าวได้ถูกใช้ในการโจมตีสหรัฐฯที่อ่าวเพิร์ลฮาร์เบอร์ ซึ่งต่อมาคือชนวนที่ทำให้สหรัฐฯเข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 2

ทั้งนี้ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง กองทัพเรือและกองทัพอากาศของญี่ปุ่นถูกปลดอาวุธโดยสหรัฐฯ รวมไปถึงรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นได้จำกัดอำนาจในการจัดตั้งกองทัพดังกล่าวไว้เช่นกัน

ที่มา CNN / Japantoday