ไม่พบผลการค้นหา
พ่อค้าแม่ค้ารายย่อยเศร้าหนัก แบกต้นทุนอ่วม ยอมขาดรายได้ตามประกาศปิดสถานที่เสี่ยงป้องกันโควิด-19 กระจาย วิงวอนขอรัฐออกมาตรการช่วยเหลือตรงจุด เทียบเงินอุดหนุน 20,000 บาท/ครัวเรือน ยุคประสบภัยน้ำท่วมปี' 54

หลังพลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2538 สั่งปิดสถานที่เสี่ยงต่างๆ ในกทม. เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 'วอยซ์ออนไลน์' ลงพื้นที่สำรวจผลกระทบที่ผู้ประกอบการรายย่อยที่ต้องแบกรับสถานการณ์นี้ รวมถึงวิธีการปรับตัวในช่วงเวลากว่า 20 วันตามประกาศ

'ณิชกานต์ รัตนรุ่งกิจ' เจ้าของร้านทำผมกล่าวว่า ตั้งแต่รู้ข่าวตนเองก็ปิดร้านในทันที ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีเงินสำรองมากนัก แต่ก็เลือกจะเอาไปซื้ออาหารแห้งมาตุนไว้ก่อน ระหว่างช่วงที่ขาดรายได้ไป ขณะที่ 'ประจวบ มาลัยทอง' เจ้าของร้านอาหารตามสั่งชี้ว่า ผลกระทบหลักเป็นในรูปยอดขายที่ตกลงอย่างมาก เนื่องจากลูกค้าไม่สามารถนั่งรับประทานอาหารที่ร้านได้ 

ขอเสียงหน่อย
  • ณิชกานต์ รัตนรุ่งกิจ เจ้าของร้านทำผม

ประจวบกล่าวว่า "ลูกค้าบางคนมาถึงพอรู้ว่ากินไม่ได้ เขาก็กลับ กลับกันหมด เราทำได้ก็แค่รอลูกค้ามาซื้อใส่กล่องอย่างเดียว" โดยเธออธิบายเพิ่มว่า เวลาลูกค้าทานอาหารที่ร้านก็มักจะสั่งอาหารเยอะกว่าเวลาสั่งกลับบ้าน 

ด้าน 'สงัด จันทร์คำ' เจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยวสะท้อนว่า ผลกระทบเมื่อลูกค้าไม่สามารถนั่งทานที่ร้านได้สร้างความเสียหายต่อร้านของเธออย่างมาก เนื่องจากก๋วยเตี๋ยวเป็นประเภทอาหารที่ต้องทานร้อนๆ และลูกค้านิยมทานที่ร้านมากกว่าซื้อกลับบ้าน เธอเสริมว่าปกติร้านจะมีรายรับประมาณ 3,000 - 4,000 บาท แต่ตั้งแต่มีการปรับใช้มาตรการนี้รายได้ของเธอเฉลี่ยอยู่ที่ราว 1,000 - 2,000 บาทเท่านั้น และไม่สามารถจ้างงานคนงานช่วยได้อีกต่อไปเพราะแบกรับต้นทุนไม่ไหว 


รู้ว่าจำเป็น แต่ก็ช่วยหน่อยได้ไหม

เสียงสะท้อนจากผู้ค้าที่ทีมข่าวไปสัมภาษณ์ล้วนตอบไปในทิศทางเดียวกันว่าเข้าใจความจำเป็นของภาครัฐในการสั่งการลงมาแบบนี้ แต่ก็อยากจะวิงวอนขอมาตรการช่วยเหลือเช่นเดียวกัน เพราะพวกตนได้รับผลกระทบมากจริงๆ 

ณิชกานต์ กล่าวว่า อย่างน้อยที่สุดถ้าได้รับการช่วยเหลือเป็นเงินยังชีพให้ได้เท่ากับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท/วัน ก็ยังดีบ้าง เพราะระหว่างที่เธอหยุดงานค่าเช่าที่ทั้งของที่ร้านเสริมสวยและที่บ้านเช่า ก็ไม่ได้ลดลงหรือหยุดลงแต่อย่างใด 

ขณะที่ 'สงัด' เปรียบเทียบว่าในช่วงน้ำท่วมปี 2554 รัฐบาลในยุคนั้นได้ให้เงินสนับสนุนครัวเรือนที่ได้รับความเสียหายหลังละ 20,000 บาท และหวังว่ารัฐบาลปัจจุบันจะเข้ามาช่วยเหลือให้เพียงพอกับความต้องการของประชาชนเช่นเดียวกัน แต่ก็ยอมรับว่าตนเองก็ไม่รู้ว่ารัฐบาลปัจจุบันจะเข้ามาช่วยพวกตนอย่างไร แต่การมีเงินเอาไว้สักก้อนในช่วงเวลาที่ตนขายของแทบจะไม่ได้แม้แต่ทุนก็เป็นเรื่องที่สำคัญ



มาตรการเยียวยาประชาชนเพียงพอ ได้ผลหรือไม่

ทั้งนี้ ฝั่งรัฐบาลเองก็เริ่มมีมาตรการเยียวยาประชาชนออกมามากขึ้น อาทิ

  • ชดเชยรายได้แก่แรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม รายละ 5,000 บาท/เดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน
  • สินเชื่อฉุกเฉินโดยไม่จำต้องมีหลักประกัน วงเงินต่อรายไม่เกิน 10,000 บาท ดอกเบี้ยคงที่ไม่เกินร้อยละ 0.10 /เดือน
  • สินเชื่อพิเศษเพิ่มเติม มีหลักประกัน วงเงิน 50,000 บาท / ราย ดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 0.35 / เดือน
  • สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับสำนักงานธนานุเคราะห์
  • มาตรการเสริมความรู้เพื่อส่งเสริมอาชีพ
  • มาตรการเลื่อนเวลาการชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
  • มาตรการเพิ่มวงเงินหักลดหย่อนค่าเบี้ยประกันสุขภาพ

ส่วนจะได้ผลมากน้อยแค่ไหน ก็ยังต้องมาประเมินอีกครั้ง

สมคิด คลัง มาตรการเยียวยา โควิด รายย่อย แรงงาน
  • สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี แถลงร่วมกับกระทรวงการคลัง เรื่องมาตรการช่วยเหลือประชาชนรายย่อยที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 เมื่อ 24 มี.ค. 2563

ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาด ประชาชนรวมถึงภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบทุกคนเข้าใจดีว่าการร่วมมือกันฝ่าวิกฤตตรงนี้ไปให้ได้เป็นเรื่องสำคัญที่สุด ที่ต้องแลกมากับการเสียสละบางสิ่งบางอย่าง

อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐบาลออกมาขอความเสียสละกับประชาชนแล้วก็จำเป็นต้องมีมาตรการเตรียมพร้อมรับมือที่มีคุณภาพ ไม่ใช่ปล่อยให้ประชาชนเสียสละไปโดยต้องแบกรับทุกอย่างไว้ฝ่ายเดียว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง