ไม่พบผลการค้นหา
เพราะเหตุใดการแช่งชักหักกระดูกจึงมีอยู่ทุกยุค? คอลัมน์ "ประวัติศาสตร์ปากว่าง" วันนี้ ย้อนดูบันทึกการสาปแช่งตั้งแต่รากหญ้าถึงคนชั้นสูงว่าทำไปทำไม

เคยได้ยินคำถามจากน้องที่รู้จักว่า "กลัวผีมากๆ ถ้าเราแช่งผี ผีจะกลัวเราจริงไหม?" พอถามมาแบบนี้ฉันหยุดคิดนิดนึง เพราะถ้าเอาตามคำผู้หลักผู้ใหญ่ที่เคยเล่าให้ฟัง ก็เห็นว่าผีน่าจะกลัวคนแช่งจริง เช่น แช่งให้ไม่ได้ผุดได้เกิด ที่กลัวก็เพราะต้องเวียนว่ายไม่รู้จบ ไม่สามารถบรรลุความปราถนาสูงสุดในอุดมคติแบบพุทธ คือ "การหลุดพ้น" ได้ แต่ถ้าเป็นสมัยนี้คนเราแทบไม่กลัวบาปกลัวกรรมกันแล้ว ตายไปก็คงไม่อีนังขังขอบกับนรกสวรรค์ จะแช่งให้เวียนว่ายจนวันสิ้นโลกก็คงไม่สนใจ

คำว่า "สาปแช่ง" ราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายไว้ว่า "กล่าวมุ่งร้ายให้ผู้อื่นเป็นอันตรายอย่างร้ายแรง"

ถ้าลองพิจารณาให้ดี การสาปแช่งอยู่คู่กับสังคมไทยมานาน ไม่ได้มีแค่การ "เผาพริกเผาเกลือ" ที่รู้จักกันในระดับรากหญ้าเท่านั้น เพราะแม้แต่ในระดับราชสำนัก ก็มี "การตัดไม้ข่มนาม" หรือการหาไม้ที่มีชื่อเหมือนหรือสำเนียงคล้ายชื่อข้าศึกมาตัดให้ขาดเพื่อเอาชัย เรียกได้ว่าเป็นการสร้างความอัปมงคลให้ผู้อื่น เพื่อสร้างกำลังใจให้แก่กองทัพฝ่ายตนเอง

นอกจากนี้ ยังมีจารึกสาปแช่ง เป็นหลักฐานทางโบราณคดีที่พบมากมายในประเทศไทย ที่น่าสนใจ เช่น จารึกคำสาปแช่ง บนหินทรายขัดสีดำ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 21-22 เก็บรักษาที่วัดศรีอุโมงคำ จังหวัดพะเยา มีเนื้อหาสาปสรรว่า

"...อย่าให้มันเป็นเจ้าขุนสักเทื่อ มันตายจากเมิงคนให้ตกหม้ออเพจี แสนปีอย่าให้พบ..."

แปลได้ประมาณว่า ถ้าตายจากเมืองมนุษย์เมื่อไหร่ ก็ขอให้ตกนรกอย่าได้ผุดได้เกิด (คำว่า "หม้ออเพจี" หมายถึง นรกสำหรับสัตว์ที่มีบาปหนาที่สุด ภาษาทางภาคเหนือเรียกขุมนี้ว่า "หม้อนรก") 

จารึกนี้ชำรุดไม่สมบูรณ์ แต่เข้าใจว่าเป็นการสาปแช่งผู้กระทำผิด อาจคล้ายกับจารึกที่พบในแหล่งอื่น ที่มักสาปแช่งคนลักขโมยของวัด หรือละเมิดธรณีสงฆ์ อารมณ์ประมาณว่าแม้ตัวไม่อยู่แล้ว แต่ความห่วงกังวลยังมี กลัวใครจะมาหยิบลักยักยอก เลยต้องฝากฝังคำสาปแช่งไว้

ขณะที่ปลายสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีเรื่องเล่าว่า ขณะประชวรหนักเจียนสิ้น ก็ถูกพระเพทราชา และหลวงสรศักดิ์ แสดงตนชิงราชสมบัติ ในสภาพที่สิ้นหวังสมเด็จพระนารายณ์ฯ เลยออกปากสาปแช่งสองพ่อลูก ก่อนจะสวรรคตในเวลาต่อมา

จากตัวอย่างสองเรื่องนี้ แสดงให้เห็นว่า การสาปแช่งมีนัยของการระบายความอัดอั้น ต่อสิ่งที่ไม่อาจลงทัณฑ์ลงโทษได้ในชีวิตจริง ซึ่งไม่น่าแปลกใจนัก เพราะแม้ถึงยุคปัจจุบัน ก็ยังมีหลายคนเลือกวิธีการนี้เป็นสัญลักษณ์ระบายความรู้สึกคับแค้น ข้องใจ หรือไม่อาจลงทัณฑ์คนชั่วนอกเขตจินตนาการได้ เช่น กลุ่มเอ็นจีโอและชาวเผ่ามอแกน ทำพิธีเผาพริกเผาเกลือแช่งร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน เมื่อปี 2558

หรือเมื่อปีที่แล้ว ที่ชาวบ้าน อ.สังขะ จ.สุรินทร์ ทำพิธีเผาพริกเกลือแช่งคนร้ายลักลอบตัดไม้พะยูงที่หลบหนีลอยนวล ไม่นับรวมคุณชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ ที่เคยทำพิธีแช่งนักการเมืองโกงๆ ที่หน้ารัฐสภา

ยิ่งตอนนี้ ประเทศเรามีแต่ข่าวคราวยืมนาฬิกาเพื่อน ตำรวจไซด์ไลน์ และพกปืนไปศึกษาป่าล่าเสือดำ แถมเจ้าของเรื่องเน่าๆ ก็ดูใหญ่โตเกินกว่าประชาชนจะเชื่อความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย ฉันจึงไม่แปลกใจนักที่ตอนนี้เดินไปทางไหน ก็ได้ยินแต่คำสาปแช่ง 

"กูขอให้มึง.....ฯลฯ"

แต่ก็นั่นแหละ ที่เรา "สาปแช่งกัน" จริงๆ เราไม่ได้ชอบ "สาปแช่ง" นัก แต่เป็นเพราะเราทำอะไรไม่ได้นอกจาก "สาปแช่ง" นั่นเอง

ก็ได้แต่หวังว่า สักวันความยุติธรรมจะยังมี อย่าให้ประชาชนต้องทนทำได้แต่แค่สาปแช่งลมๆ แล้งๆ ไปวันๆ

วิฬาร์ ลิขิต
เสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์ตามแต่ปากอยากจะแกว่ง เรื่องที่คนทั่วไปสนใจ หรือใครไม่สนใจแต่ฉันสนใจฉันก็จะเขียน การตีความที่เกิดขึ้นไม่ใช่ที่สุด ถ้าจุดประเด็นให้ถกเถียงได้ก็โอเค แต่ถึงจุดไม่ติดก็ไม่ซี เพราะคิดว่าสิ่งที่ค้นๆ มาเสนอ น่าจะเป็นประโยชน์กับใครบ้างไม่มากก็น้อยในวาระต่างๆ จะพยายามไม่ออกชื่อด่าใครตรงๆ เพราะยังต้องผ่อนคอนโด แต่จะพยายามเสนอ Hint พร้อมไปกับสาระประวัติศาสตร์ที่คิดว่าน่าสนใจและเทียบเคียงกันได้
2Article
0Video
66Blog