ไม่พบผลการค้นหา
"เมื่อเรามองดูพืชสีเขียวเล็กๆ เหล่านี้ เหมือนเราได้เห็นโลกอีกโลก หรือจักรวาลขนาดย่อมๆ" คือคำบอกเล่าของ 'นักดูมอส' รายหนึ่งที่ชื่นชอบการเข้าป่า สำรวจพืชมอสตามธรรมชาติที่มีมากกว่า 500 ชนิด

มาซามิ มิยะซากิ หญิงชาวญี่ปุ่น วัย 42 ปี เป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมการเดินป่าแถบภูเขายัตสึงะทาเกะ ซึ่งกินอาณาเขตระหว่างสองจังหวัดของญี่ปุ่น คือ จ. นางาโนะ และ จ. ยามานาชิ กับสมาคมนิยมมอสแห่งภูเขายัตสึงะทาเกะ (NYMA) เพื่อสำรวจธรรมชาติและเรียนรู้พันธุ์มอสแปลกๆ ในป่าชายเขาแห่งนี้

ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการ 'ดูมอส' คือ ฤดูฝนของญี่ปุ่น ซึ่งอยู่ระหว่างเดือน พ.ค.จนถึงกลางเดือน ก.ค. ขณะที่สมาคม NYMA ก่อตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2554 และมีสมาชิกแรกเริ่มประมาณ 40 คนที่เข้าร่วมกิจกรรมเดินป่าดูมอสด้วยกัน

จนกระทั่งปัจจุบัน มีผู้สมัครเข้าร่วมกิจกรรม 140 คนจากทั่วประเทศ

คาโอริ ชิโบะ วัย41 ปี เป็นอีกผู้หนึ่งที่เข้าร่วมกิจกรรมดูมอสในปีนี้ เปิดเผยกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า เธอรู้สึกหลงใหลในมอส เพราะว่ามันเป็นพืชที่น่ารักทั้งรูปทรงและสีสัน


"สิ่งที่ทำให้ฉันรู้สึกตื้นตันใจอีกอย่างหนึ่งคือเราสามารถพบเห็นมอสได้ทุกที่รอบๆ ตัว แต่เราไม่เคยคิดมาก่อนว่ามันมหัศจรรย์มากแค่ไหน"


แม้การจัดกิจกรรมดูมอสอย่างจริงจังจะเริ่มขึ้นในญี่ปุ่นเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่วัฒนธรรมการจัดสวนที่มีประวัติความเป็นมาอันเก่าแก่ยาวนานของญี่ปุ่นนิยมใช้มอสกันมานานแล้ว 

จิซาโอะ ชิเงะโมริ นักจัดสวนที่มีชื่อเสียงของญี่ปุ่น ระบุว่า มอสเป็นพืชคลุมดินที่นิยมใช้ในการตกแต่งสวน เพราะมีหลากหลายรูปทรงและคล้ายกับต้นสนขนาดใหญ่ ทั้งยังเหมาะสมกับสภาพอากาศของญี่ปุ่นมากที่สุด

AFP=มอส-สวนญี่ปุ่น-พืชคลุมดิน-กรีนลิฟวิ่ง-Green living-เซน-สงบ-สมาธิ-พักผ่อน


"มอสเป็นตัวแทนของความอุดมสมบูรณ์เขียวขจีของป่าเขาที่เราสามารถจำลองมาอยู่กับสวนญี่ปุ่นได้อย่างลงตัว"


ความนิยมในการใช้มอสประดับตกแต่งสวน ทำให้มอสกลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญสำหรับเกษตรกรบางรายด้วย 

โออิชิ คิโยะมุระ วัย 64 ปี ผู้ถูกตั้งฉายาว่า 'ราชาแห่งมอส' เปิดเผยว่าเขาผันตัวจากการเป็นผู้จัดการไนต์คลับทันที หลังจากมีโอกาสเดินป่ากับเพื่อนเพื่อหาเห็ดในเมืองนิกโก จ.โทชิกิ บนเกาะฮอนชูของญี่ปุ่น และได้พบกับมอสจำนวนมากมาย 


"ครั้งแรกที่ผมได้สัมผัสกับมอสโดยตรง ผมก็คิดว่าคงไม่มีใครปฏิเสธสิ่งที่สวยงามอย่างนี้ได้ ผมก็เลยเริ่มลงมือขายมอสตั้งแต่นั้น"


000_15W1KH.jpg

คิโยะมุระลาออกจากงานไนต์คลับและหาซื้อที่ดินใกล้กับป่าชายเขาเพื่อเสาะหาและเพาะพันธุ์มอสขาย

ลูกค้ารายใหญ่ของเขา ได้แก่ วัดต่างๆ ที่มีสวนญี่ปุ่น นักออกแบบตกแต่งสวน และเกษตรกรผู้ปลูกบอนไซ ตลอดจนประชาชนที่สนใจการประดับสวนขนาดเล็ก ทั้งสวนขวดและสวนถาด ทำให้เขามีรายได้ต่อปีมากกว่า 30 ล้านเยน หรือประมาณ 8.9 ล้านบาท

โครงการต่อไปนอกเหนือจากการขายมอสของคิโยะมุระ คือ การทดสอบและจำลองสภาพภูมิอากาศในระบบนิเวศแบบปิด เพื่อให้มอสชนิดต่างๆ สามารถอยู่ได้แม้จะถูกนำไปปลูกในเขตเมือง 

"ผมรักมอสยิ่งกว่ารักผู้หญิงเสียอีก" คิโยะมุระกล่าวทิ้งท้าย พร้อมย้ำว่า มอสไม่ควรถูกมองเป็นเพียงพืชคลุมดินที่พบเห็นได้ทั่วไปตามข้างทาง

เพราะสำหรับเขา มอสมีค่ากว่านั้นมาก

ที่มา: AFP

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: