ไม่พบผลการค้นหา
ทนายความชาวออสเตรเลียยื่นฟ้องร้องอองซาน ซูจี ในข้อหาอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ จากการที่เธอปล่อยให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวโรฮิงญาจนถึงขั้นที่สหประชาชาติเรียกว่าเป็นการ "ลบล้างเผ่าพันธุ์"

กลุ่มทนายความชาวออสเตรเลีย ยื่นฟ้องนางอองซาน ซูจี มุขมนตรีแห่งรัฐของเมียนมา ต่อศาลในเมืองเมลเบิร์น ด้วยความผิดฐานก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ จากการบังคับให้ชาวโรฮิงญากว่า 650,000 คนต้องย้ายถิ่นฐานไปยังบังกลาเทศโดยไม่เต็มใจ โดยการฟ้องร้องดังกล่าวใช้หลักการทางกฎหมายว่าด้วยการใช้ดุลอาณาของรัฐในความผิดสากล (universal jurisdiction prosecution) ซึ่งหมายความว่าหากผู้ใดกระทำความผิดอันถือเป็นการขัดหลักกฎหมายสากล เช่นอาชญากรรมสงคราม อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ประเทศใดก็สามารถนำตัวบุคคลนั้นเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและลงโทษตามกฎหมายของตนเองได้ 

หลักการนี้เคยถูกใช้มาแล้วกับนายออกุสโต ปิโนเชต์ อดีตผู้นำเผด็จการของชิลี ซึ่งถูกจับกุมที่กรุงลอนดอนของอังกฤษระหว่างไปรับการผ่าตัด โดยตำรวจอังกฤษจับเขาตามหมายแดงขององค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ หรืออินเตอร์โพล ที่รัฐบาลสเปนแจ้งไว้ในข้อหาที่ปิโนเชต์ก่ออาชญากรรมต่อชาวสเปนในชิลี การจับกุมดังกล่าวทำให้นายปิโนเชต์ถูกกักบริเวณในบ้านพัก แต่ไม่ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างสมบูรณ์เนื่องจากอังกฤษปฏิเสธที่จะส่งตัวเขากลับไปดำเนินคดีในสเปน

อย่างไรก็ตาม ในคดีของนางซูจี ทนายผู้ฟ้องร้องจำเป็นต้องได้รับการอนุมัติจากอัยการสูงสุดของออสเตรเลียก่อน จึงจะสามารถดำเนินคดีกับนางซูจีได้ ซึ่งสำนักข่าว The Guardian ของอังกฤษมองว่าเป็นไปได้ยากมากที่รัฐบาลออสเตรเลียจะฟ้องร้องนางซูจี เนื่องจากเป็นการกระทบกระเทือนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างรุนแรงโดยไม่จำเป็น โดยขณะนี้คำฟ้องดังกล่าวกำลังถูกพิจารณาดดยศาล และถุกส่งไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อรับการพิจารณาแล้ว คาดว่าจะทราบผลภายในสัปดาห์หน้า

ชุมนุมต้าน กวาดล้างโรฮิงญา พร้อมกัน 3 ประเทศ

ในคำฟ้อง กลุ่มทนายความระบุว่ามีหลักฐานมากมายที่เชื่อถือได้เกี่ยวกับการก่ออาชญากรรมอย่างเป็นระบบต่อชาวโรฮิงญาโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ว่าจะเป็นการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม การบังคับสูญหาย การกระทำทารุณกรรม ข่มขืน กักขังตามอำเภอใจ ทำลายทรัพย์สินและบ้านเรือน แต่นางซูจีในฐานะผู้นำประเทศ กลับไม่สามารถใช้อำนาจที่มีตามตำแหน่ง ยับยั้งการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐได้ เป็นผลให้ชาวโรฮิงญาหลายแสนคนต้องอพยพโยกย้ายถิ่นฐานโดยไม่เต็มใจ 

การฟ้องร้องดังกล่าวเกิดขึ้นในขณะที่นางซูจีเดินทางไปเยือนออสเตรเลีย เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลียที่นครซิดนีย์ ซึ่งภายในวันแรกของการประชุม ก็มีผู้ออกมาประท้วงนับพันคน เพื่อแสดงความไม่พอใจต่อพฤติกรรมละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้นำอาเซียนหลายคน ทั้งนางซูจี, นายโรดริโก ดูแตร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์, พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย และนายฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา