ไม่พบผลการค้นหา
การฝึกวินัยในสถาบันทางทหารเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ แต่ถ้าเกิดการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตในระหว่างนั้น แต่ละประเทศมีวิธีจัดการที่แตกต่างกันออกไป เพราะไม่ใช่ทุกประเทศที่มองว่าการเสียชีวิตในสถาบันทางทหารเป็นเรื่องปกติที่ยอมรับได้

การเสียชีวิตของนายภคพงศ์ ตัญกาญจน์ หรือน้องเมย นักเรียนเตรียมทหารไทย ได้รับความสนใจจากสื่อต่างประเทศ เพราะทั้งบีบีซี รอยเตอร์ และเอบีซี ต่างรายงานว่าการเสียชีวิตของนายภคพงศ์ดูจะมีเงื่อนงำกว่าการเสียชีวิตตามปกติ แต่ขณะเดียวกันก็มีการระบุด้วยว่า 'การธำรงวินัย' ที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของนายภคพงศ์ เป็นสิ่งที่บุคลากรในกองทัพและกระทรวงกลาโหมของไทยมองว่าเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ยอมรับได้

เหตุการณ์แบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในไทยเพียงประเทศเดียว เพราะก่อนหน้านี้มีนักเรียนเตรียมทหารในฟิลิปปินส์เสียชีวิตระหว่างฝึกอบรมในสถาบันทางทหาร และมีความพยายามปกปิดสาเหตุการตายแก่ครอบครัว ขณะที่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมาก็มีกรณีที่ 'ซุลฟาร์ฮาน ออสมาน ซุลกานิยัน' หรือ 'ฟาร์ฮาน' นักเรียนเตรียมทหาร วัย 21 ปี ชาวมาเลเซีย เสียชีวิตระหว่างเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยการป้องกันประเทศแห่งชาติมาเลเซีย และผลสอบสวนพบว่าเขาเสียชีวิตจากอาการบาดเจ็บและแผลไฟลวกที่กินพื้นที่ร้อยละ 80 ของร่างกาย โดยเป็นฝีมือของรุ่นพี่ 12 นายที่ทำโทษฟาร์ฮานซึ่งถูกกล่าวหาว่าขโมยแลปทอป ทำให้เขาถูกซ้อมและโดนเตารีดนาบร่างกายจนอาการสาหัส และไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาล

ครอบครัวของฟาร์ฮานเรียกร้องให้มีการลงโทษรุ่นพี่ทั้ง 12 นาย แต่หลังจากที่มีการคาดโทษทางวินัยโดยกระบวนการสอบสวนของกองทัพ ทั้งหมดก็ได้รับอนุญาตให้กลับเข้าเรียนได้ตามเดิม ทำให้พ่อและแม่ของฟาร์ฮาน รวมถึงเพื่อนๆ ของเขาบางส่วน ร่วมกันจัดตั้งโครงการรณรงค์เพื่อความเป็นธรรมให้แก่ฟาร์ฮาน (Justice4Fahan) โดยเรียกร้องให้สถาบันทหารยกเลิกธรรมเนียมการซ้อมหรือลงโทษทางวินัยด้วยวิธีการรุนแรง แต่การรณรงค์ดังกล่าวทำให้มาเลเซียมีความเห็นแตกออกเป็น 2 ฝั่ง เพราะกลุ่มทหารหรือผู้สนับสนุนกองทัพมองว่าการลงโทษเพื่อฝึกวินัยคือสิ่งจำเป็นและไม่ควรยกเลิก แต่ผู้สนับสนุนครอบครัวของฟาร์ฮานแย้งว่า 'การฝึกวินัย' กับ 'การกลั่นแกล้ง' เป็นคนละเรื่องกัน

บทความชื่อว่า Military discipline and punishment ของเจอร์รี เชฟฟีลด์ ศาสตราจารย์ด้านสงครามศึกษาของมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮมในอังกฤษ ซึ่งเผยแพร่ในฐานข้อมูลชุด The War Machine ของสำนักหอสมุด British Library ระบุว่าการฝึกวินัยคือสิ่งจำเป็นสำหรับกองทัพ โดยมีการศึกษากรณีตัวอย่างในกองทัพอังกฤษและสหรัฐฯ ที่มีเอกภาพและมีความทนทานในการปฏิบัติภารกิจในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยเขาเปรียบเทียบกับกรณีที่ทหารรัสเซีย 554 นายผละทัพครั้งใหญ่ในปี ค.ศ. 1917 เป็นสิ่งที่ไม่มีกองทัพไหนอยากให้เกิดขึ้น จึงจำเป็นต้องใช้วิธีฝึกวินัย เพื่อสร้างความเป็นเอกภาพ ไม่ให้ทหารตั้งคำถาม และยอมปฏิบัติตามคำสั่งอย่างเคร่งครัด

วิธีการที่ใช้ก็คือการให้รางวัลและการลงโทษ คนที่ปฏิบัติตามคำสั่งจะได้รับรางวัล หรือบางทีก็ได้รับการคุ้มครองสิทธิทั่วไป เช่น การปันส่วนอาหารหรือยุทโธปกรณ์ แต่ถ้าใครขัดขืนหรือทำตัวต่อต้านก็จะถูกลงโทษ เพื่อให้เกิดความหลาบจำ ไม่แข็งข้อกับผู้บังคับบัญชาอีก และการลงโทษก็จะมีวิธีการต่างๆ กัน ตั้งแต่การระงับสิทธิที่เคยได้ การทำโทษทางร่างกายและกดดันทางจิตใจ ซึ่งในหลายกรณี การลงโทษถูกใช้เป็นเครื่องมือสั่งสอนไม่ให้ผู้อื่นเอาเยี่ยงอย่าง และผู้ถูกลงโทษมักเป็นทหารชั้นผู้น้อย

บทความของเชฟฟีลด์สรุปว่าการฝึกวินัยช่วยให้ทหารมีระเบียบและพร้อมทำตามคำสั่ง ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้การปฏิบัติหน้าที่ในสมรภูมิต่างๆ ลุล่วงไปได้ดีกว่ากองทัพที่ไม่มีวินัย แต่ปัจจัยที่ทำให้กองทัพมีประสิทธิภาพไม่ได้เกิดจากความมีวินัยเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงการมีผู้นำที่ดี มีความไว้วางใจและซื่อสัตย์ต่อกันด้วย

นอกจากนี้ หลังจากที่มีผู้เสียชีวิตในสถาบันทางทหารมากขึ้นในสังคมยุคใหม่ ทำให้หลายองค์กรในหลายประเทศตั้งคำถามกับการฝึกวินัยว่าควรจะมีการพิจารณาเปลี่ยนแปลงหรือปฏิรูปให้เข้ากับยุคสมัยมากกว่าเดิมหรือไม่? 

000_PAR2004042770295.jpg

กรณีของกองทัพอังกฤษ เกิดเหตุการณ์ที่นักเรียนเตรียมทหาร 4 นายเสียชีวิตปริศนาในระหว่างเข้ารับการฝึกอบรมที่ค่ายทหารดีพคัทในมณฑลเซอร์รีย์ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของอังกฤษ ระหว่างปี 1995-2002 (พ.ศ.2538-2545) โดยนักเรียนที่เสียชีวิต มีอายุระหว่าง 17 - 20 ปี ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย และทั้งหมดเสียชีวิตจากกระสุนปืน 

ผลชันสูตรศพระบุว่าเป็นการฆ่าตัวตาย แต่ครอบครัวของนักเรียนเตรียมทหารที่เสียชีวิตไม่เชื่อ จึงพยายามเรียกร้องให้กองทัพและกระทรวงกลาโหมเปิดเผยรายละเอียดการชันสูตรศพและขั้นตอนการสอบสวนซึ่งนำไปสู่ผลสรุปว่าเป็นการฆ่าตัวตาย และคดีก็ยังยืดเยื้อมาจนถึงทุกวันนี้ แต่กรณีที่เกิดขึ้นก็ทำให้รัฐบาลอังกฤษต้องสั่งทบทวนข้อปฏิบัติในการฝึกอบรมทางทหาร และมีการตั้งคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงในกรณีดีพคัท เพื่อให้เกิดความกระจ่างต่อสาธารณชน ทำให้ในระยะหลังมีจำนวนผู้เสียชีวิตในสถาบันทางทหารลดลงกว่าเดิม

ส่วนกองทัพสหรัฐฯ ก็มีการฝึกซ้อมโดยใช้กำลังรุนแรงท้าทายขีดจำกัดของร่างกาย เพราะมีแนวคิดว่าทหารต้องอดทนต่อสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมต่างๆ มากกว่าคนทั่วไป แต่ช่วงปี ค.ศ.1989-1992 มีทหารเสียชีวิตในระหว่างการฝึกซ้อมถึง 700 นาย ซึ่งมากกว่าจำนวนทหารที่เสียชีวิตในการปฏิบัติหน้าที่ ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ สั่งตรวจสอบข้อเท็จจริง เพราะสังคมและครอบครัวของทหารเหล่านี้มีคำถามว่าจำเป็นหรือไม่ ที่จะต้องฝึกหนักขนาดนั้น และประเพณีการฝึกอบรมด้วยความรุนแรงควรถูกยกเลิกหรือไม่ และถ้าไม่ยกเลิก ก็ควรจะต้องมีมาตรการหรือหลักปฎิบัติที่รัดกุมมากกว่านี้ เพื่อไม่ให้เกิดความตายโดยไม่จำเป็น

ในส่วนของประเทศไทย กรณีของนายภคพงศ์ไม่ใช่ความตายครั้งแรกที่เกิดขึ้นในสถาบันทางทหาร เพราะที่ผ่านมามีทหารเกณฑ์อย่างน้อย 8 นายเสียชีวิตในค่ายทหารหรือในระหว่างเข้ารับการฝึกอบรมทางทหารตั้งแต่ปี พ.ศ.2556 เป็นต้นมา รวมถึงกรณีล่าสุด คือ พลทหารอดิศักดิ์ น้อยพิทักษ์ เสียชีวิตกระทันหัน เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ที่ค่ายเทพสตรีศรีสุนทร จังหวัดนครศรีธรรมราช และผู้เกี่ยวข้องชี้แจงว่าเกิดจากโรคประจำตัว แต่ก็ยังมีข้อสงสัยจากสังคมว่าการฝึกซ้อมอย่างหนักทำให้นายทหารเสียชีวิตหรือเป็นเพราะการกระทำอย่างอื่นกันแน่

เรียบเรียงโดย: ตติกานต์ เดชชพงศ

อ่านเพิ่มเติม:

'เสียชีพ อย่าเสียซ่อม' วัฒนธรรมที่ทหารไทยไม่เคยคิดจะเปลี่ยน

'ประยุทธ์' เสียใจสุดซึ้ง นตท.เสียชีวิต ฝากกองทัพห้ามทำเกินเลย

ไขปม : ทหารเกณฑ์เสียชีวิตจากการทำร้ายร่างกาย เมื่อไหร่จะเป็นรายสุดท้าย?